ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู
จำนวนผู้อ่าน : 569 คน
การพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายการบูรณาการดำเนินงานระหว่างคณะกรรมการบริหารระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิระดับอำเภอ (CUP Board) และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ต่อการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อในพื้นที่ถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)
นักวิจัย :
ไพโรจน์ พรหมพันใจ , ทิพยรัตน์ สิงห์ทอง , ธีระวุธ ธรรมกุล , อารยา ประเสริฐชัย , อนัญญา ประดิษฐปรีชา , มยุรินทร์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ ,
ปีพิมพ์ :
2567
สนับสนุนโดย :
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
วันที่เผยแพร่ :
6 พฤศจิกายน 2567

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการบูรณาการดำเนินงานระหว่างคณะกรรมการบริหารระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิระดับอำเภอ (CUP Board) และคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ต่อการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในพื้นที่ถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เพื่อศึกษาสถานการณ์และสังเคราะห์สภาพปัญหาของการดำเนินงานด้านการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในพื้นที่ระดับอำเภอของ CUP Board และ พชอ. และระยะที่ 2 เพื่อพัฒนาและประเมินประสิทธิผลของรูปแบบบูรณาการการดำเนินงานระหว่าง CUP Board และ พชอ. ต่อการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในพื้นที่ถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยัง อบจ. ผลการศึกษา ดังนี้ 1. สถานการณ์และสังเคราะห์สภาพปัญหาของการดำเนินงานด้านการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในพื้นที่ระดับอำเภอของ CUP Board และ พชอ. พบว่า ภายหลังการถ่ายโอนฯ กลไกการดำเนินงานระหว่าง พชอ. กับ CUP Board ไม่ได้มีความแตกต่างจากเดิม เนื่องจากเป็นการดำเนินงานระดับนโยบาย มีกรอบหรือแนวทางการปฏิบัติอย่างกว้าง นอกจากนี้การขับเคลื่อนงานต่าง ๆ และงบประมาณจะอยู่ในระดับตำบลทุกแห่ง ไม่ได้เกิดการบูรณาการงบประมาณระดับอำเภอแต่อย่างใด สำหรับกลไกการติดตามและประเมินผลจะเริ่มขึ้นจากระดับตำบล โดยมีการติดตามพื้นที่ระดับตำบลด้วยกลไกของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบล (พชต.) ร่วมกับ CUP Board หรือ คณะกรรมการ NCD Board แล้วรายงานผลไปยัง พชอ. เพื่อทราบผลผลิต ผลลัพธ์ และปัญหาอุปสรรคต่อไป 2. การสร้างและพัฒนารูปแบบ ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) การวางแผน 2) การปฏิบัติการ 3) การสังเกตการณ์ และ 4) การสะท้อนผลลัพธ์ มาใช้ในการพัฒนารูปแบบฯ ประกอบด้วย 5 กิจกรรม ดังนี้ 1) การจัดทำข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ : เป็นการเลือกตัวแปรขั้นต่ำในการวิเคราะห์ปัญหา 2) Identification of problem : การระบุปัญหาและการร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาการบูรณาการดำเนินงานฯ 3) Outcome setting : การกำหนดระดับผลลัพธ์เพื่อแก้ไขปัญหาการบูรณาการฯ 4) วิเคราะห์กิจกรรมการดำเนินการและความเชื่อมโยง ผลลัพธ์ : เป็นการกำหนดกิจกรรม ภาคีเครือข่าย และทรัพยากรในการดำเนินงาน และ 5) บันไดผลลัพธ์และติดตามผล: การติดตามประเมินผลอย่างเป็นลำดับและการมีส่วนร่วมของประชาชน 3. รูปแบบการบูรณาการดำเนินงานระหว่าง CUP Board พชอ. และ อบจ. ประกอบด้วย ระดับนโยบายของอำเภอและระดับการปฏิบัติในชุมชน ดังนี้ 1) การบูรณาการระดับนโยบาย จะประกอบด้วยองค์กรหลัก ๆ คือ อบจ. พชอ. และ CUP Board ซึ่งมีการร่วมกันบริหารและผลักดันกลไกต่าง ๆ ของอำเภอไปยังประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการลดความซับซ้อนของการดำเนินงาน นอกจากนี้ยังร่วมกันสื่อสารถ่ายทอดนโยบาย กำหนดแบบแผนการบูรณาการงบประมาณ การสร้างตัวชี้วัดระดับอำเภอและกำกับติดตามประเมินผล การเตรียมทรัพยากรต่าง ๆ ภายในพื้นที่อย่างเพียงพอ และเพื่อให้การดำเนินการเชิงนโยบายมีความคล่องตัวในระดับนโยบายจึงต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการ หรือ คณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ ที่ได้รับบทบาทหน้าที่เชื่อมโยงและขับเคลื่อนงานระหว่างอำเภอไปยังตำบล และ 2) การบูรณาการระดับการปฏิบัติในชุมชน เป็นระดับที่รับนโยบายภาพกว้างขับเคลื่อนลงสู่ระดับประชาชน ผ่านแผนการดำเนินงานและตัวชี้วัดของอำเภอ และในระดับนี้จะมีแผนบูรณาการพัฒนาระบบบริหารจัดการฯ ระดับตำบล ซึ่งเป็นการออกแบบการทำงานของพื้นที่ตำบลโดยให้ประชาชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หน่วยงานระดับตำบล อบต./เทศบาลตำบล และ พชต. ร่วมกันหารือ พิจารณาปัญหาของตำบล ข้อดีข้อเสีย และข้อจำกัดทรัพยากรต่าง ๆ อย่างรอบด้านร่วมกัน เกิดกิจกรรมและการบูรณาทรัพยากรต่าง ๆ ในแนวราบเพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ซึ่งแกนหลักในการดำเนินงานระดับนี้คือ คณะกรรมการ พชต. อบต./เทศบาลตำบล และบุคลากรจาก รพ.สต. นอกจากนี้ ในประเด็นของโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงนั้น CUP Board ของโรงพยาบาลจะร่วมผลักดันและขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับระดับตำบลอย่างต่อเนื่อง การสนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการให้บริการด้านสุขภาพต่าง ๆ รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพบุคลากรของ รพ.สต. อย่างต่อเนื่อง 4. ข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะ รูปแบบการบูรณาการดำเนินงานฯ นี้ มีเป้าหมายสำคัญเพื่อพัฒนาการเชื่อมประสานระหว่างองค์กรต่าง ๆ ภายในอำเภอที่แตกต่าง ให้เกิดประสิทธิภาพการปฏิบัติงานและประชาชนกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มป่วย ทุกกลุ่มวัยเข้าถึงบริการป้องกันควบคุมโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงในมิติต่าง ๆ อย่างเหมาะสม เกิดความปลอดภัย และความพึงพอใจต่อการรับบริการ ซึ่งจะส่งผลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนภายในอำเภอ ดังนั้น ในเชิงนโยบายควรเน้นการบูรณาการระดับต้นทางคือ ผู้บริหารควรมีทัศนคติ วิสัยทัศน์ต่อการกำหนดนโยบายร่วมกัน มองผลลัพธ์ในภาพรวมของพื้นที่ร่วมกัน การตกลงด้านตัวชี้วัดที่เน้นเรื่องคุณภาพของการปฏิบัติงานระดับต้นทางเพื่อให้ปลายทางใช้เป็นหลักการทำงานร่วมกันอย่างไม่ขัดแย้ง การปรับปรุงระเบียบและแนวทางการทำงานกำกับ ติดตามผลลัพธ์ร่วมกัน การบูรณาการทรัพยากรโดยเฉพาะงบประมาณเชิงนโยบาย เน้นกลไกความสัมพันธ์ที่ดีทั้งแนวระนาบและแนวดิ่ง ในส่วนกลไกระดับตำบลที่จะเน้นกลไกการประสานงานระดับแนวราบ การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรต่าง ๆ รวมทั้งการให้ความสำคัญของผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในระดับประชาชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของการปฏิบัติงานทุก ๆ มิติ


ลิงก์ต้นฉบับ : https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/6191

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้