ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู
จำนวนผู้อ่าน : 575 คน
การพัฒนาสิทธิประโยชน์ในการจัดบริการครอบฟันโลหะไร้สนิมในฟันน้ำนม ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นักวิจัย :
วรางคณา จิรรัตนโสภา , วรมน อัครสุต , วรุต ชลิทธิกุล , นพวรรณ โพชนุกูล , มนทรัตม์ ถาวรเจริญทรัพย์ ,
ปีพิมพ์ :
2567
สนับสนุนโดย :
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
วันที่เผยแพร่ :
15 ตุลาคม 2567

ปัจจุบันการรักษาฟันผุในฟันน้ำนมด้วยการบูรณะฟันด้วยวัสดุอุด การรักษารากฟัน และการถอนฟันอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่การบูรณะด้วยครอบฟันโลหะไร้สนิมไม่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ครอบฟันโลหะฯ เป็นครอบฟันสำเร็จรูปที่ใช้ในการบูรณะฟันน้ำนมที่ผุกว้าง มีโครงสร้างฟันเหลือน้อย หรือฟันที่รักษารากฟัน ซึ่งเป็นการรักษาที่ปฏิบัติกันมาก่อนมีพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปัจจุบันเด็กที่มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการได้รับการสนับสนุนครอบฟันโลหะฯ แสดงถึงความแตกต่างระหว่างสิทธิการรักษา การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการจัดบริการครอบฟันโลหะฯ ในฟันน้ำนมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยทำการประเมินแบบเร่ง ประกอบด้วยการทบทวนวรรณกรรมถึงแนวทางปฏิบัติ ประสิทธิผล ความล้มเหลว ความคุ้มค่า และวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถามและฐานข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติในปัจจัยด้านผู้มารับบริการ และผู้ให้บริการ รวมถึงวิเคราะห์ผลกระทบงบประมาณในการจัดบริการครอบฟันโลหะฯ ในชุดสิทธิประโยชน์การบูรณะฟันน้ำนมด้วยครอบฟันโลหะฯ อยู่ในแนวปฏิบัติขององค์กรวิชาชีพในระดับนานาชาติและอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ในประเทศต่างๆ เช่น มาเลเซีย นิวซีแลนด์ และอเมริกา เป็นต้น ซึ่งแต่ละประเทศมีเงื่อนไขแตกต่างกัน สำหรับประเทศไทยการบูรณะด้วยครอบฟันโลหะฯ อยู่ในหลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต ทันตแพทยสภากำหนดให้ผู้ขอขึ้นทะเบียนมีประสบการณ์การบูรณะอย่างน้อย 1 ซี่ จากการทบทวนวรรณกรรมพบว่า การบูรณะฟันที่มีโครงสร้างฟันเหลือน้อยด้วยครอบฟันโลหะฯ มีอัตราความสำเร็จสูงกว่าการบูรณะด้วยการอุดฟัน โดยความล้มเหลวที่เกิดจากการบูรณะด้วยครอบฟันโลหะฯ พบ 0-8% ส่วนบูรณะด้วยการอุดฟันมีโอกาสล้มเหลว 32 – 59% นอกจากนี้การบูรณะด้วยครอบฟันโลหะฯ มีความคุ้มค่ามากกว่าการบูรณะด้วยการวัสดุอุดทั้งในมุมมองทางสังคมและมุมมองของภาครัฐผู้จ่าย จากการวิเคราะห์ข้อมูลในประเทศไทยพบว่าเด็กไทยทุกช่วงอายุมีฟันผุที่ควรบูรณะด้วยครอบฟันโลหะฯ โดยเด็กอายุ 3 ปี ร้อยละ 12 และเด็กอายุ 5 ปี ร้อยละ 22 เฉลี่ยคนละ 2 ซี่ โดยช่วงอายุ 5-7 ปี เป็นกลุ่มที่มีการเข้ารับบริการครอบฟันโลหะฯ มากที่สุด ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยอมรับการรักษาด้วยครอบฟันโลหะฯ แต่กังวลในด้านค่าใช้จ่าย ความเจ็บปวดจากการรักษา ความร่วมมือของเด็ก และผลกระทบต่อฟันแท้ เป็นต้น สำหรับด้านการบริการครอบฟันโลหะฯ ของสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขพบว่าทุกเขตมีการให้บริการครอบฟันโลหะฯ โดยให้บริการรวมเขต 1-12 เฉลี่ยปีละ 31,885 ซี่ จากการสอบถามความคิดเห็นของสถานพยาบาล 376 แห่ง ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการให้ครอบฟันโลหะฯ อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ สำหรับผลกระทบด้านงบประมาณ การจัดบริการครอบฟันโลหะฯ ส่งผลให้รัฐมีต้นทุนเพิ่มขึ้น 92 บาท เมื่อเทียบกับการบูรณะด้วยวัสดุอุด และในแต่ละปีมีเด็กที่มีฟันผุต้องทำครอบฟันโลหะฯ 830,000 ราย หรือ 2 ล้านซี่ ซึ่งการทำครอบฟันโลหะฯ ใช้เวลา 30-60 นาที ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของเด็กและความชำนาญของทันตแพทย์ และจำนวนสถานพยาบาลที่มีการจัดบริการครอบฟันโลหะฯ ที่มีอยู่ และศักยภาพสูงสุดที่สามารถรองรับได้ หากวางแผนให้สถานพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุขให้การบริการเพิ่มขึ้นจนครบทุกสถานพยาบาลในเวลา 5 ปี และพัฒนาศักยภาพของสถานพยาบาลให้สามารถให้การบริการครอบฟันโลหะฯ เพิ่มมากขึ้น จะสามารถเพิ่มการบริการได้ถึง 440,559 ซี่ หรือครอบคลุมการรักษาในฟันกรามประมาณ 35% ในปีที่ 5 โดยงบประมาณส่วนเพิ่มในปีแรก 12.6 ล้านบาท และในปีที่ 5 ประมาณ 40.5 ล้านบาท รวม 5 ปี สามารถให้การบริการได้ 1,441,961 ซี่ โดยงบประมาณส่วนเพิ่มรวม 5 ปี ประมาณ 132.7 ล้านบาท โดยสรุปการจัดให้การบริการครอบฟันโลหะฯ อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์นั้นมีความเป็นไปได้สูง ทั้งในแง่ของการยอมรับ ความต้องการ และการนำไปปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม จำนวนเด็กและซี่ฟันที่ต้องได้รับการรักษาด้วยครอบฟันโลหะฯ นั้นมีจำนวนมาก การบริการครอบฟันโลหะฯ ที่มีอยู่ในปัจจุบันควรจะปรับเปลี่ยน บูรณาการ และขยายผล ให้เด็กไทยได้รับการรักษามากขึ้น ซึ่งทางทีมผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนี้ 1. ควรให้การบริการครอบฟันโลหะฯ ในฟันน้ำนมอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2. เพื่อให้การบริการครอบฟันโลหะฯ ในฟันน้ำนมครอบคลุมเด็กที่มีความต้องการการรักษาในทุกพื้นที่ ควรขยายการบริการครอบฟันโลหะฯ เพิ่มขึ้นให้ครอบคลุมทุกสถานพยาบาล 3. จัดลำดับความสำคัญของการบริการ เน้นการบริการฟันกรามมากกว่าฟันหน้า เนื่องจากอยู่ในช่องปากนานกว่า ต้องใช้ในการบดเคี้ยวอาหาร รักษาพื้นที่และเป็นแนวให้ฟันแท้ขึ้น 4. กระทรวงสาธารณสุขควรส่งเสริมให้มีทันตแพทย์เฉพาะทางทันตกรรมเด็กเพิ่มมากขึ้นในแต่ละเขตสุขภาพ เพื่อให้บริการเด็กที่ไม่ร่วมมือ ซึ่งทันตแพทย์โดยทั่วไปไม่สามารถจัดการพฤติกรรมได้ 5. ปรับระบบการจัดการของสถานพยาบาล ให้ทันตแพทย์เฉพาะทางเด็กทำงานบริการด้านทันตกรรมเด็กมากกว่าการบริการทันตกรรมทั่วไป 6. เพิ่มศักยภาพของผู้ที่จะจบมาเป็นทันตแพทย์ โดยทันตแพทยสภาควรเพิ่มเกณฑ์ขั้นต่ำในประสบการณ์การทำครอบฟันโลหะฯ มากกว่า 1 ซี่ 7. เพิ่มค่าตอบแทนให้แก่สถานพยาบาลที่ให้การบริการครอบฟันโลหะฯ ในลักษณะจ่ายตามรายการ 8. สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคเอกชน และคลินิกทันตกรรมภาครัฐให้บริการนอกเวลาราชการ 9. เน้นงานส่งเสริมป้องกันโรคมากขึ้น ความชุกของฟันผุในเด็กไทยนั้นสูงมาก แม้เพิ่มศักยภาพของสถานพยาบาลและขยายการบริการไปยังภาคเอกชน ก็ยังไม่สามารถครอบคลุมการรักษาได้ทั้งหมด 10. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) และกระทรวงสาธารณสุข ควรร่วมกันติดตามประเมินผล ปัญหา อุปสรรค ผลกระทบเชิงบวก และเชิงลบในการให้บริการครอบฟันโลหะไร้สนิมในชุดสิทธิประโยชน์


ลิงก์ต้นฉบับ : https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/6170

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้