งานวิจัยมาใหม่แนะนำ
การนำพืชกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ในปี พ.ศ. 2565 โดยมีการอนุญาตให้ปลูก จำหน่าย และทำให้เกิดการใช้กัญชาได้ในประเทศไทยนอกหนือจากการใช้ทางการแพทย์ จำเป็นต้องมีการประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องถึงจำนวนผู้ใช้และผลกระทบทางสุขภาพโดยเฉพาะต้นทุนทางสุขภาพที่เกิดการเจ็บป่วยจากการใช้กัญชาในประชากรไทย รวมไปถึงการสำรวจร้านค้าที่ดำเนินกิจการขายกัญชา และตัวผลิตภัณฑ์กัญชาที่วางจำหน่ายเพื่อบริโภคตามร้านค้าทั่วประเทศ การดำเนินการศึกษาครั้งนี้ทำในรูปแบบชุดโครงการ โดยส่วนหนึ่งใช้ข้อมูลจากศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ที่จัดให้มีการสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมการใช้สารเสพติดของประชากรไทยอายุ 18-65 ปี ในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ พบว่า ความชุกของผู้ที่ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการใน 12 เดือน ที่ผ่านมามีแนวโน้มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2565 มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 24.9 โดยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 487 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่สัดส่วนของผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์ แม้ว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีสัดส่วนเพียงแค่ร้อยละ 2.59 ในปี พ.ศ. 2566 โดยมีสัดส่วนการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 109 และร้อยละ 122 ในปี พ.ศ. 2565 และ พ.ศ. 2566 ตามลำดับ ทั้งนี้ การวิเคราะห์ค่าประมาณต้นทุนรวมจากการเจ็บป่วยทั้งประเภทผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน รวมทั้งต้นทุนทางอ้อมจากค่าเสียโอกาสในการทำงานของผู้ป่วยด้วยโรคจิตเวชจากการใช้กัญชา (F12) โดยใช้ข้อสมมติให้สัดส่วนของผู้ป่วยด้วยโรคทางจิตเวชจากการใช้กัญชาอยู่ที่ร้อยละ 8 พบว่าต้นทุนทั้งหมดมีจำนวนไม่เกิน 2,000 ล้านบาทต่อปี ในปี พ.ศ. 2562-2564 แต่กลับเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปี พ.ศ. 2565 และมีมูลค่าสูงถึง 10,222 ล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งเป็นต้นทุนการรักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยใน ต้นทุนการรักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยนอก และต้นทุนทางอ้อม 6,736 ล้านบาท 749 ล้านบาท และ 2,736 ล้านบาท ตามลำดับ นอกจากนี้ ผลการสำรวจด้านอุปทานโดยสำรวจเครื่องดื่มกัญชาซึ่งเป็นสินค้าที่เข้าถึงได้ง่าย โดยทำการตรวจสอบระดับสาร เดลต้า-9-เตตร้าไฮโดรแคนนาบินอล (delta-9-tetrahydrocannabinol) หรือ ∆9-THC พบว่า จากเครื่องดื่มทั้งหมด 207 ตัวอย่าง จากทั่วประเทศตรวจพบว่ามี ∆9-THC ถึงร้อยละ 42.51 และ 6 ตัวอย่าง มี ∆9-THC เกิน 1.6 มิลลิกรัมต่อแก้ว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค และจากผลการศึกษาร้านค้าย่านถนนสีลม และถนนข้าวสาร พบว่าร้านค้าปลีกกัญชาตั้งอยู่ในพื้นที่การค้า ติดหรือใกล้ถนน มองเห็นได้ง่าย และใกล้กับสถานบันเทิง ร้านค้าแบ่งได้เป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ ร้านขนาดใหญ่ ร้านขนาดกลาง ร้านที่ตั้งแยกตัวออกมา และร้านแบบแผงลอย ซึ่งขนาดของร้านจะส่งผลต่อแนวปฏิบัติในการจำหน่ายกัญชา ราคา และคุณภาพของกัญชา โดยแนวปฏิบัติในการจำหน่ายกัญชาตามที่กฎหมายกำหนดในแต่ละร้านนั้นมีการดำเนินการเพียงบางส่วนเท่านั้น เช่น ข้อกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัย การป้องกันผู้เยาว์มิให้เข้าถึงกัญชา ประเภทผลิตภัณฑ์กัญชาที่จัดจำหน่าย ประเภทของกิจกรรมส่งเสริมประชาสัมพันธ์ สภาพร้านและที่ตั้ง สำหรับการประเมินผลกระทบด้านความเป็นธรรมทางสุขภาพต่อกลุ่มเปราะบางพบว่าได้รับผลกระทบเชิงลบมากกว่าเชิงบวก กล่าวโดยสรุป การเปลี่ยนแปลงนโยบายในการทำให้เกิดการเข้าถึงการใช้กัญชาได้ง่ายของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2565 ส่งผลให้ทั้งจำนวนผู้ใช้กัญชา จำนวนผู้ป่วย และต้นทุนของการเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวชเนื่องจากการใช้กัญชาเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด แม้การศึกษาครั้งนี้จะไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนจากการเจ็บป่วยจากการติดกัญชาที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตในระยะยาว ซึ่งหากมีการเก็บข้อมูลแบบติดตามผู้ป่วยในระยะหนึ่ง ก็จะสามารถนำไปสู่การคำนวณต้นทุนการเจ็บป่วยที่มากขึ้นตรงกับความเป็นจริง นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์กัญชาที่ทำเพื่อการบริโภคส่วนหนึ่งมีค่าสารออกฤทธิ์ที่เกินกว่าที่ควร และร้านค้ามีการปฏิบัติตามแนวทางทางกฎหมายเพียงบางส่วนเท่านั้น จึงมีข้อเสนอให้ออกกฎกระทรวงในการนำพืชกัญชาเข้าอยู่ในการควบคุมตามกฎหมายยาเสพติด สอดคล้องกับผลจากการสำรวจทัศนคติของประชากรไทยพบว่าส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวคิดการ “นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด” โดยให้ใช้กัญชาได้เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น เพื่อลดผลกระทบและต้นทุนทางสุขภาพที่เกิดจากการใช้กัญชา โดยสามารถพัฒนามาตรการแนวทางจำกัดให้ใช้เฉพาะทางการแพทย์ได้ต่อไปโดยการทำโซนนิ่ง การจำกัดใบอนุญาต และมาตรการกำกับดูแลร้านจำหน่ายและมาตรการลงโทษตามกฎหมายต่อไป
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้