ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู
จำนวนผู้อ่าน : 1150 คน
การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนภายหลังการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ระยะที่ 2 การประเมินสัญญาณเตือนของผลกระทบต่อสถานะสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการศึกษาข้อมูลย้อนหลังและการจัดทำกรณีศึกษา
นักวิจัย :
จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ , นภชา สิงห์วีรธรรม , มโน มณีฉาย , ดาวรุ่ง คำวงศ์ , จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์ , พัลลภ เซียวชัยสกุล , นิตย์ธิดา ภัทรธีรกุล , สุพัสตรา เสนสาย , ทักษิณา วัชรีบูรพ์ ,
ปีพิมพ์ :
2567
สนับสนุนโดย :
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
วันที่เผยแพร่ :
18 ตุลาคม 2567

โครงการประเมินผลฯ ระยะที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประเมินผลกระทบทางสุขภาพที่มีต่อประชาชน อันอาจเป็นผลเชื่อมโยงมาจากการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในปีงบประมาณ 2566 ทั้งในส่วนของผลกระทบจากการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิและผลกระทบจากการดำเนินงานสาธารณสุข ติดตามและทบทวนความสามารถในการคาดการณ์ของสัญญาณเตือนการเปลี่ยนแปลงเบื้องต้น หรือปัจจัยเสี่ยงของการเกิดผลกระทบทางสุขภาพอันเป็นผลเชื่อมโยงมาจากการถ่ายโอน รพ.สต. ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของการจัดการทรัพยากร การจัดบริการสุขภาพและการดำเนินงานด้านสาธารณสุขของรพ.สต. ที่ได้รับการถ่ายโอนไปองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดขึ้น และวิเคราะห์ สังเคราะห์แนวทางในการบริหารจัดการเชิงระบบที่จำเป็น รวมถึงเสนอแนวทางการใช้เครื่องมือทางการเงินการคลัง สารสนเทศและกฎหมายเพื่อจัดระบบนิเวศน์ทางสาธารณสุขที่แวดล้อม รพ.สต. ให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ของผลกระทบทางสุขภาพ การดำเนินการใช้รูปแบบการวิจัยแบบผสมผสาน (mixed methods) ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 เป็นการจัดทำกรณีศึกษาใน 10 จังหวัด รวม 12 พื้นที่ ครอบคลุมพื้นที่ที่มีการถ่ายโอน รพ.สต. ทั้งหมด พื้นที่ที่มีการถ่ายโอน รพ.สต. บางส่วน และพื้นที่ที่ไม่มีการถ่ายโอน รพ.สต. เลย เพื่อเป็นพื้นที่ควบคุม รวมถึงการจัดทำกรณีศึกษาเฉพาะด้าน 5 เรื่อง ได้แก่ ยา พยาบาล หน่วยบริการปฐมภูมิ การควบคุมโรคไข้เลือดออก และบทบาทสาธารณสุขอำเภอ โดยมีประเด็นศึกษาที่ครอบคลุมข้อมูลการประชุมสนทนากลุ่ม สัมภาษณ์ผู้รับผิดชอบ และการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้องที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) อบจ. โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) และ รพ.สต. ส่วนที่ 2 เป็นการศึกษาแบบกลุ่มย้อนหลัง (retrospective cohort study) โดยใช้ข้อมูลทุติยภูมิจากฐานข้อมูลสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข (ฐานข้อมูล 52 แฟ้ม) ด้วยความร่วมมือจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ประมวลผลข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 ถึง 2565 เป็นข้อมูลพื้นฐาน และข้อมูลปีงบประมาณ 2566 และ 2567 (หากมีความพร้อม) เป็นผลการดำเนินการภายหลังการถ่ายโอน ครอบคลุมตัวชี้วัดในการเข้าถึงบริการ ประสิทธิผลของกระบวนการ และผลลัพธ์ทางสุขภาพสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพปฐมภูมิและการควบคุมโรคติดต่อ โดยมีระยะเวลาดำเนินการโครงการระยะที่ 2 ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 ถึงกันยายน พ.ศ. 2567 ผลการศึกษาจากกรณีศึกษาพบว่าประเด็นที่เป็นสัญญาณเตือนผลกระทบทางสุขภาพที่สำคัญ ได้แก่ (1) ลักษณะทั่วไปของ รพ.สต. เช่น ขนาดของ รพ.สต. เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรในเขตรับผิดชอบและความสัมพันธ์ระหว่าง รพ.สต. กับ รพ.แม่ข่ายของเครือข่ายการดูแลสุขภาพปฐมภูมิ (CUP), (2) ลักษณะของการถ่ายโอนของ รพ.สต. เช่น การมีสัดส่วน รพ.สต. ที่ถ่ายโอนในพื้นที่น้อย เปรียบเทียบกับพื้นที่ที่ไม่ถ่ายโอน/ถ่ายโอนไปทั้งหมด, (3) การจัดสรรเงินค่าบริการสาธารณสุขและเงินเพื่อใช้ในการบริการสาธารณสุข เช่น รูปแบบการบริหารจัดการเงินเหมาจ่ายผู้ป่วยนอก OP และส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค PP ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสถานะการเงินเครือข่าย, นโยบาย 30 บาท รักษาได้ทุกที่ /คลินิกนวัตกรรมบริการ (สปสช.), (4) ลักษณะบุคลากรและการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ เช่น การหมุนเวียนและแพทย์ที่มาสนับสนุนการทำงาน, จำนวนพยาบาลและเจ้าหน้าที่รพ.สต. รวมถึงศักยภาพทางวิชาการ, ระบบบริหารงานบุคคลของ อบจ., (5) การสนับสนุนยา/เวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา และทรัพยากรทางด้านสุขภาพ เช่น ยา (จัดซื้อ/บัญชียา), เครื่องมือ/อุปกรณ์ และการจัดการด้านการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ (Infection control), (6) รูปแบบการจัดบริการปฐมภูมิ เช่น บริการสุขภาพทั่วไป, การส่งเสริมสุขภาพ/ป้องกันโรค, คลินิกโรคเรื้อรัง, บริการทันตกรรม, บริการที่บ้านและในชุมชน, การส่งต่อผู้ป่วย ตลอดจนระบบเวชระเบียน/สารสนเทศ, (7) รูปแบบการจัดการงานด้านสาธารณสุข เช่น การควบคุมโรคติดต่อ และบทบาทหน้าที่ สสอ., (8) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เช่น การประสานการทำงาน ดูแลและพัฒนาการปฏิบัติงาน, (9) การควบคุมกำกับติดตามงานตามตัวชี้วัด และวางแผนสุขภาพระดับพื้นที่, การรายงาน/ส่งข้อมูล, การสนับสนุนทางวิชาการ และการวางแผนสุขภาพระดับพื้นที่ รวมถึงการเตรียมพร้อมรับภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพ ผลการศึกษาฐานข้อมูลที่ได้รับจาก สปสช. พบว่า มีข้อมูลที่ครบถ้วนถึงปีงบประมาณ 2566 ซึ่งสามารถนำมาประมวลผลตามที่กำหนดไว้ได้เพียงบางส่วน เช่น ข้อมูลการคัดกรองโรคเบาหวาน (DM) และความดันโลหิตสูง (HT), ข้อมูลการคัดกรองผู้สูงอายุ, ข้อมูลการให้การบริการ OPD ในโรคเรื้อรัง, การคัดกรองพัฒนาการเด็ก, ข้อมูลประสิทธิผลของการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (QCB ของ 4 กลุ่มโรค ได้แก่ DM, HT, COPD,CKD), ข้อมูลการคัดกรอง ตรวจยืนยัน และรักษามะเร็งปากมดลูก, ข้อมูลด้านทันตกรรม, ข้อมูลการควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเป้าหมาย (DM) และสถิติผู้ป่วยนอก-ใน ในงานสาธารณสุข (ไข้เลือดออก) ทั้งนี้ข้อมูลที่พร้อมใช้ในฐานข้อมูลมีการส่งข้อมูลไม่ครบทุกหน่วยบริการ แปรผันไปตามช่วงเวลาของปี และมีแนวโน้มการส่งข้อมูลลดลงในปี 2567 เมื่อเปรียบเทียบกับ 2566 รวมถึงปีก่อนหน้า ทั้งส่วนของ รพ.สต.ที่ถ่ายโอน และไม่ถ่ายโอน ส่วนหนึ่งอาจขึ้นกับการเป็นหรือไม่เป็นผลงานเพื่อเบิกจ่ายค่าบริการฯ (ตัวชี้วัดที่ได้เงิน-ไม่ได้เงิน) และความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่และระดับประเทศ ผลการศึกษาเฉพาะตัวชี้วัดที่มีข้อมูลครบปี พ.ศ. 2561-2566 แสดงสถิติพื้นฐานและการเปลี่ยนแปลง ส่วนใหญ่บ่งชี้ว่าประชากรในพื้นที่ที่มีการถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อบจ. มีความเสี่ยงทางสุขภาพมากกว่าพื้นที่ที่ไม่ได้มีการถ่ายโอน โดยเฉพาะตัวชี้วัดพื้นฐานที่สำคัญ เช่น การคัดกรองพัฒนาการเด็ก การคัดกรองกลุ่มเสี่ยง (DM/HT) การคัดกรองผู้สูงอายุ คุณภาพของการดูแลในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และพบว่าประชากรในเขตความรับผิดชอบของ รพ.สต. ที่มีการถ่ายโอน มีโรคประจำตัวเป็นโรคเรื้อรัง ที่ประเมินโดย Charlson Comorbidity Index สูงกว่าในพื้นที่ที่ รพ.สต. ไม่ได้ถ่ายโอน นอกจากนี้การนำร่องการประมวลผลสัญญาณเตือนผลด้านสุขภาพเพื่อการจัดการระดับจังหวัด และการกำกับดูแลระบบสุขภาพระดับประเทศ Health Performance Warning Index for Provincial management and National Health Systems Oversight (HPW-PN) เป็นรายตัวชี้วัด พบว่าสามารถดำเนินการได้ผ่านหลักเกณฑ์ 2 กลุ่ม 5 เรื่อง ประกอบด้วย (1) ผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดช่วงก่อนการถ่ายโอน ได้แก่ ระดับพื้นฐาน การเปลี่ยนแปลงหรือแนวโน้ม และ (2) ผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดในปีแรกของการถ่ายโอน ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงหรือผลต่างของผลงานกับปีงบประมาณ 2565 อัตราการเปลี่ยนแปลง และระดับของผลงานที่ดำเนินการได้ในปีงบประมาณ 2566 สรุปผลการศึกษาโดยรวมพบว่า ปัจจัยด้านการถ่ายโอนของ รพ.สต. การจัดการทรัพยากร การจัดบริการปฐมภูมิ และตัวชี้วัดหลายตัวเกี่ยวกับการเข้าถึงบริการ ประสิทธิผลของกระบวนการ และผลลัพธ์ด้านการควบคุมโรค แสดงสัญญาณเตือนที่บ่งชี้ความเสี่ยงของการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. มีต่อผลกระทบทางสุขภาพกับประชาชนอย่างน้อยในระยะเปลี่ยนผ่าน


ลิงก์ต้นฉบับ : https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/6175

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้