งานวิจัยมาใหม่แนะนำ
ในประเทศไทย มีรายงานการศึกษาความชุกของกลุ่มผู้ป่วยโรคจิตที่มีอาการดื่มน้ำมากผิดปกติจากสถาบันหรือโรงพยาบาลด้านจิตเวชหลายแห่งพบความชุกร้อยละ 6–17 ของผู้ป่วยโรคจิตเรื้อรัง และประมาณ 1 ใน 4 ถึงครึ่งหนึ่งจะมีอาการของภาวะน้ำเป็นพิษ โดยอาการดื่มน้ำมากผิดปกติ (polydipsia) ในผู้ป่วยโรคจิตเรื้อรังมักถูกละเลยไม่ได้สังเกต และถูกเข้าใจว่าการดื่มน้ำเป็นเรื่องปกติ โดยผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมแสวงหาน้ำและอาการดื่มน้ำมากผิดปกติ (water seeking behavior and polydipsia) ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะน้ำเป็นพิษ เป็นเหตุให้มีการแยกห้องผู้ป่วย และเนื่องจากในห้องแยกไม่มีสุขาให้ผู้ป่วยได้ใช้ในการปัสสาวะ โดยทั่วไปสถานพยาบาลได้ดำเนินการจัดเตรียมภาชนะชั่วคราวโดยการใช้ถังสำหรับให้ผู้ป่วยได้ถ่ายปัสสาวะภายในห้องแยก แต่ยังคงพบปัญหาด้านสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของผู้ป่วย เช่น ห้องมีกลิ่นปัสสาวะ ฝาผนังและพื้นมีสภาพสกปรก อันเป็นสาเหตุของการแพร่กระจายเชื้อโรค ซึ่งปัญหาที่กล่าวมานี้ได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเวชชายในห้องแยก อีกทั้ง พบอุบัติการณ์ความเสี่ยงขึ้น เช่น ผู้ป่วยเดินเตะถังปัสสาวะล้มในเวลากลางคืนเป็นผลให้สภาพของพื้นลื่นและผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุหกล้ม และในผู้ป่วยบางรายที่อาการทางจิตยังไม่สงบมีการยกถังปัสสาวะขึ้นมาราดตนเอง การวิจัยครั้งนี้จึงดำเนินการเพื่อพัฒนาโถปัสสาวะชายเคลื่อนที่จำกัดการใช้น้ำที่มีระบบการดับกลิ่น เพื่อลดปัญหาดังกล่าวและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น วัตถุประสงค์ เพื่อทดสอบประสิทธิผลของการใช้นวัตกรรมโถปัสสาวะชายเคลื่อนที่แบบจำกัดกลิ่นและพัฒนาและปรับปรุงนวัตกรรมโถปัสสาวะชายเคลื่อนที่แบบจำกัดกลิ่น ให้เหมาะสำหรับการใช้งานในห้องแยกสำหรับผู้ป่วยจิตเวชชาย วิธีดำเนินการวิจัย การศึกษาเป็นการวิจัยและพัฒนา (Research & Development: R&D) ในรูปแบบของการสร้างนวัตกรรม และนำนวัตกรรมโถปัสสาวะฯ ทดสอบประสิทธิภาพ ระยะที่ 1 ทดสอบต้นแบบในกลุ่มผู้ใช้งานขนาดเล็ก และครั้งนี้เป็นระยะที่ 2 นำต้นแบบที่ได้รับการปรับปรุงไปใช้ในห้องแยกผู้ป่วยจิตเวช ในโรงพยาบาลที่มีหอผู้ป่วยจิตเวช ห้องแยกจำกัดพฤติกรรมของผู้ป่วยจิตเวชชาย เป็นระยะเวลาการใช้งาน 3 เดือน โดยมีเครื่องมือสำหรับเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ ประกอบด้วย และเครื่องมือสำหรับเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยสถิติบรรยาย และสถิติทดสอบ independent t-test; Independent-Samples Mann-Whitney U Test เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ใช้โถแบบเดิมกับกลุ่มที่ใช้นวัตกรรม และ one group t-test เปรียบเทียบความพึงพอใจในการใช้งานนวัตกรรมกับเกณฑ์ที่กำหนด และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหาสรุปประเด็นสำคัญที่ได้ เพื่อนำไปพัฒนาและปรับปรุงนวัตกรรมโถปัสสาวะชายเคลื่อนที่แบบจำกัดกลิ่นสำหรับนำไปใช้ส่งเสริมสุขอนามัยของห้องแยกสำหรับผู้ป่วยจิตเวชชายที่ถูกจำกัดพฤติกรรม ผลการวิจัยพบว่า ประสิทธิผลของการใช้นวัตกรรมโถปัสสาวะชายเคลื่อนที่แบบจำกัดกลิ่น ในห้องแยกสำหรับผู้ป่วยจิตเวชชาย เวอร์ชันผลิตภัณฑ์ต้นแบบ และการเปรียบเทียบสุขอนามัยของห้องแยกสำหรับผู้ป่วยจิตเวชชายที่ถูกจำกัดพฤติกรรมระหว่างกลุ่มควบคุมที่ใช้โถรูปแบบเดิมกับกลุ่มทดลองที่ใช้นวัตกรรมโถปัสสาวะชายเคลื่อนที่แบบจำกัดกลิ่น ด้วยการทดสอบ t-test independent พบว่า ระดับค่า ammonia ที่สูงสุดในแต่ละวันก่อนนำโถปัสสาวะไปทำความสะอาดของกลุ่มควบคุมสูงกว่ากลุ่มทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยค่า t (df) = 21.75 (76.45); p <.001 สอดคล้องกับระยะเวลาในการทำความสะอาดที่กลุ่มควบคุมใช้มากกว่ากว่ากลุ่มทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยค่า t (df) = 3.32 (113.95); p = .001 และเมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างคะแนนรวมตามการประเมินของผู้เชี่ยวชาญโดย Independent-Samples Mann-Whitney U Test พบว่า ค่ามีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีค่า Mann-Whitney U (SE) = 81.00 (10.468); p < .001 โดยการประเมินความเสี่ยงจากการใช้โถปัสสาวะชายแบบเคลื่อนที่ จากการสังเกตพฤติกรรมการใช้นวัตกรรมโถปัสสาวะฯ ของผู้ป่วยจิตเวชชาย และอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการใช้นวัตกรรม เป็นระยะเวลาห้องละ 3 เดือน พบว่า กลุ่มควบคุม มีประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) ผู้ป่วยมีพฤติกรรมการปัสสาวะที่ไม่ถูกสุขอนามัย 2) มีกลิ่นและคราบสกปรกในพื้นที่โดยรอบ กลุ่มทดลอง มีประเด็นสำคัญได้แก่ 1) ปัญหาจากความไม่พร้อมของอุปกรณ์โถปัสสาวะ 2) การใช้โถปัสสาวะผิดวัตถุประสงค์ สรุปผลการวิจัย ผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าโถปัสสาวะชายเคลื่อนที่แบบจำกัดกลิ่น สามารถลดภาระงานของการดูแลผู้ป่วยจิตเวชในห้องแยก ทั้งระยะเวลาในการทำความสะอาดและอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งส่งเสริมสุขอนามัยภายในห้องแยกของผู้ป่วยได้
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้