งานวิจัยมาใหม่แนะนำ
บทนำ ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กในกลุ่มเด็กปฐมวัยเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ยังคงพบในประเทศไทย อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนมาตรการการเสริมธาตุเหล็กในเด็กทารกจากการเสริมแบบสัปดาห์ละครั้งที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นการเสริมวันละครั้งตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลกควรมีการศึกษาในเด็กไทย เพื่อให้ได้ผลงานวิจัยสำหรับประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายของมาตรการเสริมธาตุเหล็กในทารกต่อไป วัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของการเสริมธาตุเหล็กทุกวันกับการเสริมธาตุเหล็กสัปดาห์ละครั้ง ในทารกอายุ 6-12 เดือนต่อความชุกภาวะโลหิตจาง ระดับฮีโมโกลบิน และระดับซีรั่มเฟอร์ริติน วิธีวิจัย ดำเนินการศึกษาทดลองแบบสุ่มชนิดมีกลุ่มควบคุมและปกปิด 2 ทาง (Double-blinded randomized controlled trial) ในเด็กทารกสุขภาพดีอายุ 6-12 เดือน จำนวน 287 คน เพื่อเปรียบเทียบการเสริมธาตุเหล็ก 2 รูปแบบ โดยกลุ่มที่ 1 (กลุ่มทุกวัน) ได้รับยาน้ำเสริมธาตุเหล็กในปริมาณ 12.5 มิลลิกรัม วันละครั้งทุกวันเป็นเวลา 3 เดือน (อายุ 6 – 9 เดือน) หลังจากนั้นเสริมธาตุเหล็กในปริมาณ 12.5 มิลลิกรัม สัปดาห์ละครั้งไปจนถึง 12 เดือน และกลุ่มที่ 2 (กลุ่มทุกสัปดาห์) ได้รับยาน้ำเสริมธาตุเหล็กในปริมาณ 12.5 มิลลิกรัม สัปดาห์ละครั้ง ตั้งแต่อายุ 6 – 12 เดือน มีการตรวจระดับค่าฮีโมโกลบิน ฮีมาโตคริตซี ซีรั่มเฟอร์ริติน และซีรั่มทรานสเฟอร์รินรีเซปเตอร์ เมื่อเริ่มการศึกษา (ทารกอายุ 6 เดือน) และติดตามหลังการศึกษาเมื่อทารกอายุ 9 เดือนและอายุ 12 เดือน ผลการศึกษา เมื่อเริ่มการศึกษากลุ่มทารกที่ได้รับการเสริมธาตุเหล็กทุกวันและทุกสัปดาห์ไม่มีความแตกต่างกันในค่าฮีโมโกลบิน ฮีมาโตคริต และซีรั่มเฟอร์ริติน ยกเว้นระดับซีรั่มทรานสเฟอร์รินรีเซปเตอร์ ทั้งนี้เมื่อติดตามที่อายุ 9 เดือน พบว่าระดับซีรั่มเฟอร์ริตินในกลุ่มทารกที่ได้รับการเสริมธาตุเหล็กทุกวันมีค่าสูงกว่ากลุ่มทารกที่ได้รับการเสริมธาตุเหล็กทุกสัปดาห์ ในขณะที่ไม่พบความแตกต่างระหว่าง 2 กลุ่มในส่วนของค่าฮีโมโกลบิน ฮีมาโตคริต และซีรั่มทรานสเฟอร์รินรีเซปเตอร์ ซึ่งแสดงให้เห็นแนวโน้มว่าการเสริมธาตุเหล็กทุกวันเริ่มตั้งแต่อายุ 6 เดือน และให้เป็นเวลา 3 เดือน ช่วยให้ภาวะธาตุเหล็กของทารกดีขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อทารกทุกคนกลับไปได้รับการเสริมธาตุเหล็กแบบสัปดาห์ละครั้งในช่วงอายุ 9 เดือนถึง 12 เดือน ก็ไม่พบความแตกต่างระหว่าง 2 กลุ่มอีกต่อไป นอกจากนี้ไม่พบความแตกต่างระหว่าง 2 กลุ่มในสัดส่วนของภาวะโลหิตจางและภาวะขาดธาตุเหล็กทั้งในช่วงอายุ 6 เดือน 9 เดือน และ 12 เดือน การที่เห็นแนวโน้มว่าระดับธาตุเหล็กของกลุ่มที่ได้รับวันละครั้งดีกว่ากลุ่มสัปดาห์ละครั้งที่อายุ 9 เดือน แต่ไม่พบความแตกต่างที่อายุ 12 เดือน อาจเนื่องมาจากการให้ธาตุเหล็กสัปดาห์ละครั้งใช้เวลานานกว่าในการเห็นผลเมื่อเทียบกับการให้ทุกวัน ซึ่งอาจทำให้ประสิทธิภาพของการให้ธาตุเหล็กสัปดาห์ละครั้งต่ำกว่าในช่วงระยะแรก ดังนั้นเมื่อพิจารณาในด้านงบประมาณที่อาจเพิ่มขึ้น การปรับเปลี่ยนนโยบายมาให้ธาตุเหล็กวันละครั้งอาจยังไม่จำเป็นสำหรับประเทศไทย
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้