ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู
จำนวนผู้อ่าน : 29 คน
การประเมินประสิทธิผลของโครงการป้องกันและลดความเสี่ยงจมน้ำในเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี
นักวิจัย :
วศิน เลาหวินิจ , วรางคณา จิรรัตนโสภา ,
ปีพิมพ์ :
2567
สนับสนุนโดย :
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
วันที่เผยแพร่ :
20 มิถุนายน 2567

ที่มาและความสำคัญ : การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่เป็นปัญหาสำคัญระดับโลกโดยมีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำสูงถึง 372,000 คนต่อปี นอกจากนี้ ข้อมูลของประเทศไทย พบว่า เด็กอายุน้อยกว่า 15 ปีมีสัดส่วนการเสียชีวิตจากการจมน้ำสูงถึง 30.2% ของเหตุการณ์ทั้งหมด จากสถานการณ์ดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2549 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกนโยบายแก้ไขปัญหาการจมน้ำ เช่น การสอนว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดในเด็ก การให้ความรู้ประชาชนและเด็ก รวมทั้งการสร้างป้ายเตือนและติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการจมน้ำในแหล่งน้ำเสี่ยง ส่งผลให้อุบัติการณ์การเสียชีวิตจากการจมน้ำลดลงอย่างเห็นได้ชัดจาก 11.5 เป็น 6.8 การเสียชีวิตต่อประชากรแสนคน ระหว่างปี พ.ศ. 2548 ถึง พ.ศ. 2557 ตามลำดับ ถึงแม้ว่าผลการดำเนินการการป้องกันการจมน้ำจะมีทิศทางที่ดีขึ้น มาตรการการป้องกันและลดความเสี่ยงของการจมน้ำในเด็กที่ทางกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรคได้เสนอ มีการดำเนินการค่อนข้างจำกัดและแนวทางในการดำเนินงานของแต่ละพื้นที่ยังไม่มีความชัดเจน กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค จึงได้จัดทำโครงการป้องกันและลดความเสี่ยงจมน้ำในเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี ในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ให้หน่วยงานในพื้นที่สมัครใจเข้าร่วม มีชุดกิจกรรมป้องกันและลดความเสี่ยงการจมน้ำ รวมทั้งสิ้นจำนวน 10 รายการ และสามารถแบ่งระดับพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการออกเป็น 3 ระดับจากน้อยไปมาก คือ ทองแดง เงินและทอง ตามความครอบคลุมของชุดกิจกรรมที่หน่วยงานในพื้นที่ได้ดำเนินการหลังจากที่มีการดำเนินโครงการป้องกันและลดความเสี่ยงการจมน้ำในเด็ก อัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำในเด็กลดลงจาก 6.8 เป็น 6.1 การเสียชีวิตต่อประชากรแสนรายระหว่างปี พ.ศ. 2557 ถึง พ.ศ. 2560 และมีการดำเนินโครงการครอบคลุมในทุกจังหวัด อย่างไรก็ตาม ยังไม่เคยมีการประเมินประสิทธิผลของโครงการอย่างเป็นรูปธรรม การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุจมน้ำและการเสียชีวิตจากการจมน้ำที่ลดได้อันเนื่องมาจากผลของโครงการป้องกันและลดความเสี่ยงจมน้ำในเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี ระเบียบวิธีวิจัย : การศึกษานี้ ใช้ข้อมูล 3 แหล่งในการวิเคราะห์ ประกอบด้วย 1. ข้อมูลโครงการป้องกันและลดความเสี่ยงจมน้ำในเด็กระหว่างปี พ.ศ.2558 ถึง พ.ศ. 2562 จากกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค 2. ข้อมูลการเสียชีวิตจากการจมน้ำจากฐานข้อมูลมรณบัตร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระหว่างปี พ.ศ.2552 ถึง พ.ศ. 2562 และ 3. ข้อมูลการใช้บริการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุจมน้ำจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระหว่างปี พ.ศ.2559 ถึง พ.ศ. 2562 โดยข้อมูลทั้งหมดถูกนำมาจัดเรียงเป็นข้อมูล Time Series Analysis ระดับอำเภอรายปี สำหรับการวิเคราะห์ประสิทธิผลของโครงการ การศึกษานี้ได้แบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น 2 ช่วงเวลา คือ 1. การเปรียบเทียบความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุจมน้ำและการเสียชีวิตจากการจมน้ำระหว่างอำเภอที่มีและไม่มีโครงการในช่วงปี พ.ศ. 2558 ถึง พ.ศ. 2562 (ปีที่มีการดำเนินโครงการ) ด้วยวิธี Multilevel mixed-effect negative binomial regression และ 2. การเปรียบเทียบประสิทธิผลในการลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำของโครงการ โดยใช้ข้อมูลระหว่างปี พ.ศ. 2552 ถึง พ.ศ. 2562 ด้วยวิธี Difference-in-differences นอกจากนี้ การศึกษาได้กำหนดตัวแปรต้นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการออกเป็น 3 รูปแบบการวิเคราะห์หลัก คือ 1. แบ่งอำเภอออกเป็น 2 กลุ่มระหว่างอำเภอที่มีและไม่มีการดำเนินโครงการ 2. แบ่งตามระดับโครงการสูงสุดของอำเภอออกเป็น 4 กลุ่ม คือ อำเภอที่ไม่มีโครงการ อำเภอที่มีโครงการสูงสุดเป็นระดับทองแดง เงินและทอง ตามลำดับ และ 3. แบ่งตามจำนวนโครงการในแต่ละอำเภอออกเป็น 4 กลุ่ม คือ อำเภอที่ไม่มีโครงการ อำเภอที่มี 1 โครงการ 2-3 โครงการ และ 4 โครงการขึ้นไป ตามลำดับ นอกเหนือจากการแบ่งรูปแบบการวิเคราะห์แล้ว ผู้วิจัยได้วิเคราะห์ประสิทธิผลของโครงการเพิ่มเติมแยกตามเพศและช่วงอายุ (น้อยกว่า 2 ปี, 2 ถึง 5 ปี, และ 6 ถึง 14 ปี) เนื่องจากปัจจัยดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุจมน้ำและอาจส่งผลให้ประสิทธิผลของโครงการในแต่ละกลุ่มย่อยแตกต่างกัน รวมทั้งมีการวิเคราะห์ความไวใน 3 หัวข้อหลัก ประกอบด้วย 1. ระยะเวลาที่โครงการได้รับการรับรอง 2. การรวมอุบัติเหตุการขนส่งทางน้ำเข้าไปในการวิเคราะห์ และ 3. การจัดระดับความเสี่ยงการจมน้ำของพื้นที่ ผลการศึกษา : การวิเคราะห์ประสิทธิผลของโครงการโดยใช้ข้อมูลเฉพาะช่วงที่มีการดำเนินโครงการ (พ.ศ. 2558 ถึง พ.ศ. 2562) ด้วยวิธี Multilevel mixed-effect negative binomial regression ซึ่งจัดลำดับชั้นของกลุ่มตัวอย่างตามระดับจังหวัดและอำเภอและควบคุมปัจจัยเรื่องความเสี่ยงของพื้นที่ได้ผลลัพธ์ที่สำคัญดังนี้ 1. อำเภอที่มีโครงการมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจมน้ำ (IRR: 1.01, p=0.73) และการเสียชีวิตจากการจมน้ำ (IRR: 1.07, p=0.11) ในเด็กไม่แตกต่างกับอำเภอที่ไม่มีโครงการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 2. การวิเคราะห์ประสิทธิผลแบ่งตามระดับโครงการสูงสุดของอำเภอและจำนวนโครงการในแต่ละอำเภอให้ผลเป็นไปในทิศทางเดียวกับการวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างอำเภอที่มีและไม่มีโครงการ 3. การวิเคราะห์ประสิทธิผลของโครงการสำหรับการป้องกันอุบัติเหตุจมน้ำแยกตามเพศและช่วงอายุ พบว่า อำเภอที่มีโครงการมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุจมน้ำในเด็กชาย (IRR: 0.99, p=0.76) เด็กหญิง (IRR: 1.10, p=0.06) เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี (IRR: 0.97, p=0.71) เด็กอายุ 2 ถึง 5 ปี (IRR: 1.07, p=0.20) และ เด็กอายุ 6 ถึง 14 ปี (IRR: 1.02, p=0.68) ไม่แตกต่างกับอำเภอที่ไม่มีโครงการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 4. การวิเคราะห์ประสิทธิผลของโครงการสำหรับการป้องกันการเสียชีวิตจากการจมน้ำแยกตามเพศและช่วงอายุ พบว่า อำเภอที่มีโครงการมีโอกาสเกิดการเสียชีวิตจากการจมน้ำในเด็กชาย (IRR: 1.04, p=0.42) เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี (IRR: 0.96, p=0.71) เด็กอายุ 2 ถึง 5 ปี (IRR: 1.12, p=0.10) และเด็กอายุ 6 ถึง 14 ปี (IRR: 1.09, p=0.16) ไม่แตกต่างกับอำเภอที่ไม่มีโครงการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่พบว่า อำเภอที่มีโครงการมีโอกาสเกิดการเสียชีวิตจากการจมน้ำในเด็กหญิงสูงกว่าอำเภอที่ไม่มีโครงการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (IRR: 1.19, p=0.03) 5. สำหรับการวิเคราะห์ความไว พบว่า เมื่อขยายระยะเวลาที่โครงการได้รับการรับรองจาก 1 เป็น 2 ปี รวมเหตุการณ์ของอุบัติเหตุการขนส่งทางน้ำเข้าไปในการวิเคราะห์ หรือ เปลี่ยนวิธีการสร้างตัวแปรระดับความเสี่ยงการจมน้ำของอำเภอจากเดิมที่ใช้ข้อมูลการเสียชีวิตจากการจมน้ำในเด็กในช่วงก่อนปีที่ดำเนินโครงการ (พ.ศ.2552 ถึง พ.ศ. 2557) เป็นข้อมูลการเสียชีวิตจากการจมน้ำในเด็กและผู้ใหญ่ พบว่า ผลการวิเคราะห์ความไวไม่ได้แตกต่างกับการวิเคราะห์หลักสำหรับการวิเคราะห์ประสิทธิผลในการป้องกันการเสียชีวิตจากการจมน้ำโดยใช้ข้อมูลระหว่างปี พ.ศ.2552 ถึง พ.ศ. 2562 ด้วยวิธี Difference-in-differences ให้ผลไปในทิศทางเดียวกับการวิเคราะห์ก่อนหน้า โดยพบว่า อำเภอที่มีโครงการมีจำนวนเด็กที่เสียชีวิตจากการจมน้ำไม่แตกต่างกับอำเภอที่ไม่มีโครงการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (difference = -0.09, p=0.25) หรือกล่าวได้ว่าโครงการสามารถลดจำนวนเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำได้ 84 (-55 ถึง 213) คนต่อปีทั่วประเทศและการวิเคราะห์กลุ่มย่อยแยกตามเพศและช่วงอายุให้ผลการศึกษาไปในทิศทางเดียวกับการวิเคราะห์หลัก สรุปผลการศึกษา : การศึกษานี้ ไม่พบหลักฐานสนับสนุนที่แสดงให้เห็นว่า โครงการป้องกันและลดความเสี่ยงการจมน้ำในเด็กมีประสิทธิผลในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจมน้ำและการเสียชีวิตจากการจมน้ำในเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี


ลิงก์ต้นฉบับ : https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/6092

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้