งานวิจัยมาใหม่แนะนำ
การถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มีความเป็นพลวัตและมีผู้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน ซึ่งข้อมูลวิชาการจะมีความสำคัญในการสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย โครงการนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนากลไกการทำงานของหน่วยประมวลสถานการณ์ระบบสุขภาพ (Health System Intelligent Unit, HSIU) ในการสนับสนุนข้อมูลวิชาการด้านระบบสุขภาพเพื่อการตัดสินใจเชิงนโยบาย 2) ติดตามสถานการณ์การถ่ายโอนภารกิจฯ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์และจัดทำเป็นข้อมูลวิชาการ 3) สื่อสารข้อมูลวิชาการ ให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและสนับสนุนการดำเนินการอย่างมีส่วนร่วม 4) พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายโดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์กลไกการทำงานของ HSIU ประกอบไปด้วย 2 ส่วน คือ 1) การประชุมทีมมดงาน ซึ่งเป็นคณะทำงานขนาดเล็ก เพื่อติดตามสถานการณ์การถ่ายโอนภารกิจฯ ทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนที่การวิจัย (Research Mapping) โดยใช้กรอบแนวคิด 6 เสาหลักของระบบสุขภาพ (6 Building Blocks of Health System) วิเคราะห์ และจัดทำเป็นข้อมูลวิชาการ และ 2) การประชุมคณะทำงาน HSIU เพื่อสื่อสารข้อมูลวิชาการกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง สถานการณ์การถ่ายโอนภารกิจฯ ในปีงบประมาณ 2566 มีการถ่ายโอน สอน. และ รพ.สต. ให้แก่ อบจ. จำนวน 3,263 แห่ง (ร้อยละ 33.0) จากทั้งหมดจำนวน 9,878 แห่ง และมีการถ่ายโอนต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2567 อีกจำนวน 933 แห่ง (ร้อยละ 9.5) รวมมี สอน. และ รพ.สต. 4,196 แห่ง ที่ถ่ายโอนให้แก่ อบจ. (ร้อยละ 42.5) คงเหลือ สอน. และ รพ.สต. ที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 5,598 แห่ง (ร้อยละ 56.7) ผลจากการติดตามสถานการณ์และการทบทวนโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายโอนภารกิจฯ จำนวน 17 โครงการ ได้ถูกรวบรวม วิเคราะห์และนำเสนอใน 7 ประเด็น ได้แก่ 1) สถานการณ์ด้านกำลังคน กรณีบุคลากรที่ถ่ายโอนไม่เพียงพอกับภาระงาน 2) สถานการณ์ด้านการเงินการคลังสุขภาพ เกิดรูปแบบที่หลากหลายในการจัดสรรงบประมาณสำหรับบริการสุขภาพจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 3) สถานการณ์ด้านการบริการสุขภาพปฐมภูมิ หลังการถ่ายโอนมีทั้งที่ รพ.สต. ถ่ายโอนให้บริการได้เช่นเดียวกับก่อนการถ่ายโอน และบาง รพ.สต. ให้บริการได้ลดลง 4) สถานการณ์ด้านการบริหารจัดการระบบยา และเวชภัณฑ์ ในหลายจังหวัดมีการทำข้อตกลงให้โรงพยาบาลชุมชนบริหารจัดการระบบยาและเวชภัณฑ์ให้แก่ รพ.สต. ถ่ายโอนเช่นเดิมและมีบางจังหวัดที่ อบจ. ดำเนินการจัดซื้อและบริหารจัดการเอง 5) สถานการณ์ด้านระบบข้อมูล พบการส่งข้อมูลตัวชี้วัดด้านสุขภาพที่ลดลง 6) สถานการณ์ด้านการอภิบาลระบบ วิธีการดำเนินงานต้องเปลี่ยนจากการสั่งการเป็นทำงานอย่างมีส่วนร่วมกัน และ 7) มุมมองและความคาดหวังของประชาชน เช่น การได้รับบริการที่ดี มีคุณภาพ สะดวก และมีเจ้าหน้าที่เพียงพอ เป็นต้น ข้อมูลแต่ละประเด็นนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อให้ระบบสุขภาพปฐมภูมิสามารถดำเนินการต่อไปหรือพัฒนาให้ดีขึ้นหลังการถ่ายโอนภารกิจฯ สำหรับการพัฒนาการทำงานของ HSIU มีข้อเสนอแนะใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1) การใช้รูปแบบการศึกษาเชิงปฏิบัติการที่สร้างข้อมูลเชิงประจักษ์และแก้ไขปัญหาในระบบสุขภาพไปพร้อมกัน 2) สร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในกระบวนการการติดตามสถานการณ์ และ 3) สื่อสารข้อมูลวิชาการแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและเพิ่มการใช้ช่องทางสาธารณะ
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้