ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู
จำนวนผู้อ่าน : 80 คน
การศึกษาความเป็นไปได้ในการเพิ่มชุดสิทธิประโยชน์ด้านจิตเวชในประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวและบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิในประเทศไทย
นักวิจัย :
ศรวณีย์ อวนศรี , นิจนันท์ ปาณะพงศ์ , ศุภณัฐ โชติชวาลรัตนกุล , ระพีพงศ์ สุพรรณไชยมาตย์ , วาทินี คุณเผือก , ปวันรัตน์ มิ่งเมือง , ชญาน์นันท์ ครุตศุทธิพิพัฒนน์ , กานติมา วิชชุวรนันท์ , พิกุลแก้ว ศรีนาม , สตพร จุลชู ,
ปีพิมพ์ :
2566
สนับสนุนโดย :
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
วันที่เผยแพร่ :
21 พฤษภาคม 2567

การศึกษานี้จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการเพิ่มชุดสิทธิประโยชน์ด้านจิตเวชในประกันสุขภาพ สำหรับคนต่างด้าวและบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายในการนำบริการจิตเวชสู่ชุดสิทธิประโยชน์ภายใต้กองทุนประกันสุขภาพคนต่างด้าว และกองทุนประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ โดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ (1) การทบทวนสิทธิประโยชน์ของการให้บริการจิตเวชในคนต่างด้าว บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิหรือไร้รัฐในต่างประเทศ (2) การศึกษาเชิงปริมาณ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นการศึกษาการเข้าถึงของผู้ป่วยจิตเวชต่างด้าวและบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิที่เข้ารับบริการในประเทศไทย ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลจากฐานข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ (Health Data Center, HDC) ของกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงระยะเวลาระหว่างปี พ.ศ. 2561–2565 (ระยะเวลา 5 ปี) โดยเน้นศึกษาเฉพาะในกลุ่มสัญชาติกัมพูชา พม่า เวียดนามและลาว และสิทธิการรักษาที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข หรือบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ (ท.99) หรือผู้ที่ชำระเงินเองที่ใช้บริการในสถานพยาบาลของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ส่วนที่ 2 เป็นการศึกษาความชุกของผู้ป่วยจิตเวช การใช้บริการด้านสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตของคนต่างด้าวและบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิในชุมชน งานวิจัยนี้ทำการสำรวจในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ สมุทรสาคร ระนอง ตากและเชียงราย ด้วยการใช้แบบสอบถามประกอบการสัมภาษณ์ที่แปลออกเป็น 4 ภาษาตามกลุ่มประชากรและใช้ล่ามในการเก็บข้อมูลแบบตัวต่อตัว ส่วนที่ 3 คือ การวิเคราะห์ผลกระทบงบประมาณของการให้บริการจิตเวชในคนต่างด้าวและบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ และ (3) การศึกษาเชิงคุณภาพ ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกและการอภิปรายกลุ่ม ประกอบด้วย 4 กลุ่ม คือ ผู้กำหนดนโยบาย ผู้ให้บริการ นักวิชาการและผู้รับบริการ เพื่อสอบถามความพร้อมของโรงพยาบาลที่ให้บริการผู้ป่วยจิตเวชต่างด้าวและบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ (ด้านบุคลากร เครื่องมือและยาสำหรับการให้บริการ) ปัญหาอุปสรรคที่พบและความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติของการร่างข้อเสนอชุดสิทธิประโยชน์รวมถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ผลการศึกษา พบว่า 1) สิทธิประโยชน์ของการดูแลผู้ป่วยจิตเวชต่างด้าว บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิหรือบุคคลไร้รัฐในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ยังไม่ครอบคลุมบริการโรคจิตเวชทั้งหมดและต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการเข้ารับบริการ แต่มีความพยายามให้การช่วยเหลือสนับสนุน สร้างความตระหนักรู้และให้คำปรึกษาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตประชากรต่างด้าว จากหลายหน่วยงานทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคมและองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในประเทศนั้นๆ ดังเช่น ในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ออสเตรเลีย ที่ครอบคลุมการให้คำปรึกษาทางด้านจิตเวชทั้งที่คลินิกหรือการรักษาทางไกลหรือโทรเวช (Telemedicine) แต่ยังคงมีการเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าใช้บริการ ในขณะที่ประเทศที่มีรายได้สูงอย่างประเทศการ์ต้าจะครอบคลุมการให้บริการด้านสุขภาพและการแพทย์ฟรีเฉพาะคนต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศเป็นระยะเวลานานและที่มีใบอนุญาตให้พักอาศัยในประเทศรวมถึงแรงงานทักษะต่ำที่มี Human Health Card 2) ผลจากการทบทวนงานวิจัยและฐานข้อมูลด้านการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยจิตเวชต่างด้าวและบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ในช่วงปี พ.ศ. 2561–2565 พบว่า มีผู้ป่วยจิตเวชต่างด้าวและบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิมาใช้บริการที่โรงพยาบาล ทั้งสิ้น จำนวน 4,929 ราย เมื่อพิจารณาแยกจำนวนการใช้บริการของผู้ป่วยเป็นรายครั้ง พบว่า มีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชต่างด้าวและบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิมาใช้บริการ ทั้งหมด จำนวน 13,159 ครั้ง แบ่งเป็นผู้ป่วยใน (In-Patient Department, IPD) จำนวน 207 ครั้ง ผู้ป่วยนอก (Out-Patient Department, OPD) จำนวน 12,952 ครั้ง พบว่า การใช้บริการมากที่สุดในกลุ่มโรคที่วินิจฉัยด้วยรหัสโรค F1 (ความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมที่เกิดจากการใช้สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท) จำนวน 4,928 ครั้ง (ร้อยละ 37.45) เมื่อพิจารณาแยกตามสิทธิการรักษาในการเข้ารับบริการ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชำระเงินเอง จำนวน 10,236 ครั้ง (ร้อยละ 77.79) กลุ่มที่มีบัตรประกันสุขภาพคนต่างด้าวของกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 1,924 ครั้ง (ร้อยละ 14.62) และใช้สิทธิตามโครงการคืนสิทธิของกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 999 ครั้ง (ร้อยละ 7.59) ส่วนการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายในการให้บริการ ในช่วง 5 ปี พบว่า มีค่าบริการ (ต้นทุนในการให้บริการ) รวมทุกสิทธิการรักษา จำนวนทั้งหมด 10,572,891.5 บาท และมีจำนวนที่เรียกเก็บกับผู้ป่วยเพิ่มเติมหลังหักค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 5,313,141.1 บาท แต่จำนวนที่เก็บได้จริงจากผู้ป่วยมีเพียง 4,094,682.0 บาท 3) การสำรวจความชุกของโรคจิตเวชและคุณภาพชีวิตของคนต่างด้าวและบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิในพื้นที่ 4 จังหวัด จำนวน 480 คน พบว่า มีความชุกของโรค ร้อยละ 24.2 และมีความชุกของภาวะวิตกกังวล ร้อยละ 11.2 ส่วนการใช้บริการสุขภาพจิต พบว่า มีเพียง จำนวน 19 คน (ร้อยละ 4) ที่เคยไปใช้บริการที่สถานพยาบาลและภายหลังจากการเข้ารับการรักษามีเพียง จำนวน 4 คน (ร้อยละ 21) ที่หายจากการเป็นโรคจิตเวช ในขณะที่คุณภาพชีวิตในแต่ละด้าน เช่น ด้านสุขภาพกาย ด้านจิตใจ ด้านสัมพันธ์ภาพทางสังคมและด้านสิ่งแวดล้อมของคนต่างด้าวและผู้ที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ พบว่า มีค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพชีวิตระดับปานกลาง (คะแนนเฉลี่ย 82.26+13.60 SD) 4) การคาดการณ์งบประมาณ พบว่า งบประมาณที่พึงกันไว้สำหรับชดเชยให้กับสถานพยาบาลของกองทุนประกันสุขภาพคนต่างด้าวที่ขายบัตรประกันสุขภาพคนต่างด้าว ในช่วงเวลา 5 ปี เป็นเงิน 1,822,059.90 บาท (เฉพาะสัญชาติกัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม) และกองทุนบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิที่พึงกันไว้สำหรับชดเชยให้กับสถานพยาบาลในช่วงเวลา 5 ปี เป็นเงิน 12,493,137.11 บาท 5) มุมมองของผู้ให้บริการมองว่ามีความเป็นไปได้ในการเพิ่มชุดสิทธิประโยชน์ด้านจิตเวชในประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวและบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิในประเทศไทย เนื่องจาก ทุกโรงพยาบาลมีการให้บริการคนต่างด้าวและบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิที่เน้นความเท่าเทียมกันในทุกสิทธิการรักษาเทียบเท่ากับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่แล้ว สรุปผลจากการศึกษาในครั้งนี้ พบว่า มีความเป็นไปได้ในการเพิ่มชุดสิทธิประโยชน์ด้านจิตเวชในประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวและบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิในประเทศไทย เนื่องจาก 1) ด้านการให้บริการในทางปฏิบัติโรงพยาบาลส่วนใหญ่มีการให้บริการจิตเวชกับผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มอยู่แล้ว (แม้ไม่อยู่ในสิทธิประโยชน์) 2) ข้อมูลต้นทุนการให้บริการ ฯ ในช่วงปี พ.ศ. 2561-2565 มีจำนวนทั้งหมด 15,042,083.7 บาท และมีจำนวนที่เรียกเก็บกับผู้ป่วยเพิ่มเติมหลังหลักค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 5,387,310.97 บาท แสดงให้เห็นว่ามีค่าใช้จ่ายบางรายการที่โรงพยาบาลสามารถเบิกได้แม้บริการดังกล่าวไม่ได้อยู่ในสิทธิประโยชน์ 3) ด้านภาระงบประมาณในการให้บริการในช่วงเวลา 5 ปี มีเพียง 1,822,059.90 บาท สำหรับกองทุนประกันสุขภาพคนต่างด้าวที่ขายบัตรประกันสุขภาพคนต่างด้าว และ 12,493,137.11 บาท สำหรับกองทุนบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ และ 4) การเพิ่มสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตและจิตเวช ทั้งยังเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยโรคจิตเวชในประเทศไทย ซึ่งการมีสุขภาพจิตที่ดีนอกจากจะช่วยลดความรุนแรงต่อคนรอบข้างผู้ป่วยและคนไทยแล้ว ยังจะนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ยั่งยืน ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals; SDG) เพื่อเป็นการให้ความคุ้มครองด้านสุขภาพและประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยอย่างแท้จริงและไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง


ลิงก์ต้นฉบับ : https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/6064

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้