ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู
จำนวนผู้อ่าน : 102 คน
การพัฒนาต้นแบบโปรแกรมการส่งเสริมพัฒนาการเด็กกลุ่มบกพร่องทางสติปัญญาและพัฒนาการวัยแรกเกิดถึง 5 ปี ในรูปแบบบริการออนไลน์ กรณีศึกษาสถาบันราชานุกูลในช่วงการระบาดไวรัส COVID-19
นักวิจัย :
นิรมัย คุ้มรักษา , จันทนี มุ่งเขตกลาง , รัชดาวรรณ์ แดงสุข ,
ปีพิมพ์ :
2566
สนับสนุนโดย :
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
วันที่เผยแพร่ :
24 เมษายน 2567

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาต้นแบบโปรแกรมการส่งเสริมพัฒนาการเด็กกลุ่มบกพร่องทางสติปัญญาและพัฒนาการวัยแรกเกิดถึง 5 ปี ในรูปแบบบริการออนไลน์ และเพื่อศึกษาประสิทธิผลการใช้โปรแกรมการส่งเสริมพัฒนาการเด็กกลุ่มบกพร่องทางสติปัญญาและพัฒนาการวัยแรกเกิดถึง 5 ปี ในรูปแบบบริการออนไลน์ กรณีศึกษาสถาบันราชานุกูลในช่วงการระบาดไวรัส COVID – 19 มีขั้นตอนการดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การวิเคราะห์สถานการณ์/ความต้องการและความจำเป็นในการพัฒนา ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงบรรยายหรือเชิงพรรณนา กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล ทีมสหวิชาชีพ พยาบาลวิชาชีพ และผู้ปกครองเด็กกลุ่มบกพร่องทางสติปัญญาและพัฒนาการวัยแรกเกิดถึง 5 ปี จำนวน 16 คน กำหนดและเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์เชิงลึก และแบบบันทึกการสนทนากลุ่มที่มีค่าความตรงเชิงเนื้อหาระหว่าง 0.67-1 อยู่ในระดับใช้ได้ วิเคราะห์ข้อมูล โดยวิเคราะห์เนื้อหาและการสังเคราะห์เชิงระบบ ระยะที่ 2 พัฒนาต้นแบบโปรแกรมการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก กลุ่มบกพร่องทางสติปัญญาและพัฒนาการวัยแรกเกิด ถึง 5 ปี ในรูปแบบบริการออนไลน์ (โปรแกรม TEDA4I Online) และรูปแบบบริการปกติ (โปรแกรม TEDA4I Onsite) ใช้รูปแบบการวิจัยแบบมีส่วนร่วม กลุ่มตัวอย่าง คือ ทีมสหวิชาชีพ พยาบาลวิชาชีพ และผู้ปกครองเด็กกลุ่มบกพร่องทางสติปัญญาและพัฒนาการวัยแรกเกิดถึง 5 ปี จำนวน 12 คน กำหนดและเลือกแบบเฉพาะเจาะจง เพื่อพัฒนาโปรแกรมการส่งเสริมพัฒนาการเด็กกลุ่มบกพร่องทางสติปัญญาและพัฒนาการวัยแรกเกิดถึง 5 ปี ในรูปแบบบริการออนไลน์ (โปรแกรม TEDA4I Online) และรูปแบบบริการปกติ (โปรแกรม TEDA4I Onsite) แบบประเมินทักษะการประเมินพัฒนาการและแบบประเมินทักษะการส่งเสริมพัฒนาการเด็กกลุ่มบกพร่องทางสติปัญญาและพัฒนาการของผู้ปกครอง หาคุณภาพด้วยการหาค่าความตรงเชิงเนื้อหา ค่าความเชื่อมั่น และนำไปทดลองใช้กับกลุ่มที่คล้ายคลึงกับกลุ่มตัวอย่าง และระยะที่ 3 ประเมินผลและเปรียบเทียบการบริการรูปแบบบริการปกติกับรูปแบบบริการออนไลน์ ใช้รูปแบบการวิจัยกึ่งทดลองแบบสองกลุ่มวัดก่อนและหลัง กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ปกครองและเด็กกลุ่มบกพร่องทางสติปัญญาและพัฒนาการ ที่มารับบริการในสถาบันราชานุกูลที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นผู้บกพร่องทางสติปัญญาและพัฒนาการหรือกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม คำนวณหาขนาดตัวอย่างโดยใช้สูตรเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย 2 กลุ่ม ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวนทั้งสิ้น 41 คน โดยมีเด็กที่เป็นคู่แฝด 1 คู่ ซึ่งผู้ปกครองของเด็กทั้ง 41 คน มีความคล้ายคลึงกันในด้านการศึกษาและเศรษฐานะของครอบครัว แล้วสุ่มอย่างง่ายเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยกลุ่มทดลองรับบริการผ่านระบบออนไลน์ ณ ที่พักอาศัยของตน จำนวน 20 คน ได้แก่ ช่วงอายุแรกเกิดถึง 2 ปี จำนวน 5 คน อายุ 2 ถึง 3 ปี จำนวน 5 คน อายุ 3 ถึง 4 ปี จำนวน 5 คน และอายุ 4 ถึง 5 ปี จำนวน 5 คน และกลุ่มควบคุม รับบริการตามปกติ ณ สถาบันราชานุกูล จำนวน 21 คน ได้แก่ ช่วงอายุแรกเกิดถึง 2 ปี จำนวน 5 คน อายุ 2 ถึง 3 ปี จำนวน 5 คน อายุ 3 ถึง 4 ปี จำนวน 5 คน และอายุ 4 ถึง 5 ปี จำนวน 6 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้ 1) โปรแกรม TEDA4I Online 2) โปรแกรม TEDA4I Onsite ที่มีค่าความตรงเชิงเนื้อหาระหว่าง 0.8-1 อยู่ในระดับใช้ได้ 3) แบบประเมินทักษะการประเมินพัฒนาการเด็กกลุ่มบกพร่องทางสติปัญญาและพัฒนาการของผู้ปกครอง 4) แบบประเมินทักษะการส่งเสริมพัฒนาการเด็กกลุ่มบกพร่องทางสติปัญญาและพัฒนาการของผู้ปกครอง ที่มีค่าความตรงเชิงเนื้อหาเท่ากับ 1 อยู่ในระดับใช้ได้ และมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.94 เท่ากันอยู่ในระดับดีมากทั้ง 2 แบบ 5) แบบประเมินพัฒนาการเด็ก ได้แก่ คู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (Developmental Surveillance and Promotion Manual, DSPM) งานวิจัยครั้งนี้ใช้ผู้เก็บข้อมูล จำนวน 6 คน โดยมีค่าความเที่ยงระหว่างผู้เก็บข้อมูล ดังนี้ 1) การประเมินพัฒนาการเด็กด้วยคู่มือ DSPM เท่ากับ 0.84 2) การประเมินทักษะการประเมินพัฒนาการของผู้ปกครองด้วยแบบประเมินทักษะการประเมินพัฒนาการเด็กกลุ่มบกพร่องทางสติปัญญาและพัฒนาการของผู้ปกครองเท่ากับ 0.79 3) การประเมินทักษะการส่งเสริมพัฒนาการของผู้ปกครองด้วยแบบประเมินทักษะการส่งเสริมพัฒนาการเด็กกลุ่มบกพร่องทางสติปัญญาและพัฒนาการของผู้ปกครอง เท่ากับ 0.84 และ 4) การส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้วยโปรแกรม TEDA4I Online และ โปรแกรม TEDA4I Onsite เท่ากับ 0.83 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ จำนวน ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทดสอบค่าคะแนนเฉลี่ยของประชากร 2 กลุ่มที่ไม่เป็นอิสระต่อกัน ด้วย Pair t-test สถิติทดสอบค่าคะแนนเฉลี่ยของประชากร 2 กลุ่มที่เป็นอิสระต่อกันด้วย t-test และสถิติทดสอบ Chi-square ผลการวิจัย ระยะที่ 1 สถานการณ์/ความต้องการและความจำเป็นในการพัฒนา พบว่า ผู้รับบริการมีความต้องการได้รับบริการต่อเนื่อง ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม และสามารถเลือกวันเวลานัดหมายที่สอดคล้องกับตารางอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน ความถี่เดือนละอย่างน้อย 1 ครั้ง ให้บริการทั้งในและนอกเวลาราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยผู้รับบริการต้องการรับบริการในรูปแบบออนไลน์ที่มีคุณภาพไม่แตกต่างจากรูปแบบปกติ อีกทั้งสถานบริการมีความเป็นไปได้หากจะจัดบริการในรูปแบบออนไลน์ที่มีคุณภาพไม่แตกต่างจากรูปแบบปกติ โดยต้องมีการสนับสนุนอุปกรณ์ส่งเสริมพัฒนาการ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้โปรแกรมออนไลน์ ระยะที่ 2 ได้ต้นแบบโปรแกรมการส่งเสริมพัฒนาการเด็กกลุ่มบกพร่องทางสติปัญญาและพัฒนาการวัยแรกเกิดถึง 5 ปี ในรูปแบบบริการออนไลน์ (โปรแกรม TEDA4I Online) และรูปแบบบริการปกติ (โปรแกรม TEDA4I Onsite) ที่ใช้ระยะเวลา 14 สัปดาห์ และมีจำนวน 15 ครั้งเท่ากัน โดยทั้ง 2 โปรแกรมมีการสอนประเมินพัฒนาการและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก จำนวน 1 ครั้ง การฝึกส่งเสริมพัฒนาการที่มีผู้สอนแนะ (Coach) จำนวน 3 ครั้ง และผู้ปกครองต้องส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้วยตนเองโดยอัดคลิปวีดีโอส่งให้พยาบาลผู้สอนแนะเพื่อให้ข้อมูลย้อนกลับพร้อมคำแนะนำหรือข้อเสนอแนะ จำนวน 9 ครั้ง ส่วนครั้งแรกและครั้งสุดท้ายของโปรแกรมเป็นการเตรียมความพร้อม และการประเมินพัฒนาการของเด็กด้วยคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (DSPM) รวมทั้งทักษะของผู้ปกครองก่อนและหลังเข้าโปรแกรม ทั้ง 2 โปรแกรมเป็นรูปแบบการฝึกที่เน้นให้ผู้ปกครองเป็นคนประเมินพัฒนาการและส่งเสริมพัฒนาการบุตรหลานด้วยตัวเอง โดยมีคู่มือของแต่ละโปรแกรมให้แก่ผู้ให้บริการ เพื่อบอกกระบวนการ บทพูด อุปกรณ์ และบทบาทของผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้ปกครองและผู้สอนแนะ มีค่าความตรงเชิงเนื้อหาระหว่าง 0.8-1 อยู่ในระดับใช้ได้ และแบบประเมินทักษะการประเมินพัฒนาการและแบบประเมินทักษะการส่งเสริมพัฒนาการเด็กบกพร่องทางสติปัญญาและพัฒนาการของผู้ปกครอง มีค่าความตรงเชิงเนื้อหาเท่ากับ 1 อยู่ในระดับใช้ได้ และค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.94 อยู่ในระดับดีมากเท่ากันทั้ง 2 แบบ ระยะที่ 3 พบว่า 1. ค่าคะแนนเฉลี่ยทักษะการประเมินพัฒนาการและทักษะการส่งเสริมพัฒนาการเด็กกลุ่มบกพร่องทางสติปัญญาและพัฒนาการของผู้ปกครองทั้งกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมหลังการเข้าร่วมโปรแกรมดีขึ้นกว่าก่อนการเข้าร่วมโปรแกรม มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ทั้งในภาพรวม และทุกช่วงอายุ แต่ระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุมไม่แตกต่างกันทั้งในภาพรวม และทุกช่วงอายุ 2. ค่าคะแนนเฉลี่ยพัฒนาการของเด็กกลุ่มบกพร่องทางสติปัญญาและพัฒนาการทั้งกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมหลังการเข้าร่วมโปรแกรมดีขึ้นกว่าก่อนการเข้าร่วมโปรแกรมมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยหลังการเข้าร่วมโปรแกรมมากกว่ากลุ่มควบคุม และพัฒนาการของกลุ่มทดลองในช่วงอายุ 2-3 ปี และ 4-5 ปี หลังการเข้าร่วมโปรแกรมดีขึ้นกว่าก่อนการเข้าร่วมโปรแกรมมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 รวมทั้งพัฒนาการของกลุ่มควบคุมในช่วงอายุ 0-2 ปี 2-3 ปี และ 4-5 ปี หลังการเข้าร่วมโปรแกรมดีขึ้นกว่าก่อนการเข้าร่วมโปรแกรมมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แต่ระดับพัฒนาการของเด็กกลุ่มทดลองหลังการเข้าร่วมโปรแกรมไม่แตกต่างกันในทุกช่วงอายุโดยมีพัฒนาการดีขึ้น ร้อยละ 60.00 ดีขึ้นจนสมวัย ร้อยละ 20.00 และไม่ดีขึ้น ร้อยละ 20.00 รวมทั้งระดับพัฒนาการของเด็กกลุ่มควบคุมหลังการเข้าร่วมโปรแกรมก็ไม่แตกต่างกันในทุกช่วงอายุโดยมีพัฒนาการดีขึ้น ร้อยละ 57.10 พัฒนาการไม่ดีขึ้น ร้อยละ 28.60 และดีขึ้นจนสมวัย ร้อยละ 14.30 และระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุมไม่แตกต่างกันในทุกช่วงอายุ โดยมีพัฒนาการดีขึ้นร้อยละ 58.50 พัฒนาการไม่ดีขึ้นร้อยละ 24.40 และดีขึ้นจนสมวัย ร้อยละ 17.10 3. ค่าคะแนนเฉลี่ยพัฒนาการของเด็กกลุ่มทดลองกับเด็กกลุ่มควบคุมหลังการเข้าร่วมโปรแกรมในภาพรวม ทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ 1) พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว (Gross motor, GM) 2) พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา (Fine Motor, FM) 3) พัฒนาการด้านการเข้าใจภาษา (Receptive Language, RL) 4) พัฒนาการด้านการใช้ภาษา (Expressive Language, EL) และ 5) พัฒนาการด้านการช่วยเหลือตนเองและสังคม (Personal and Social, PS) ดีขึ้นกว่าก่อนการเข้าร่วมโปรแกรมไม่แตกต่างกันในเกือบทุกด้าน ยกเว้น พัฒนาการด้านการใช้ภาษามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยเด็กกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยของคะแนนพัฒนาการมากกว่าเด็กกลุ่มควบคุม เมื่อพิจารณาแต่ละช่วงอายุ พบว่า พัฒนาการของเด็กช่วงอายุ 0-2 ปี กลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุมหลังการเข้าร่วมโปรแกรมมีพัฒนาการด้านการเข้าใจภาษามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยเด็กกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยของคะแนนพัฒนาการมากกว่าเด็กกลุ่มควบคุม ส่วนพัฒนาการของเด็กช่วงอายุ 4-5 ปี กลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุมหลังการเข้าร่วมโปรแกรมมีพัฒนาการด้านการช่วยเหลือตนเองและสังคมมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยเด็กกลุ่มควบคุมมีค่าเฉลี่ยของคะแนนพัฒนาการมากกว่าเด็กกลุ่มทดลอง นอกจากนั้นยังพบว่า เด็กช่วงอายุ 2-3 ปี และ 3-4 ปี มีพัฒนาการดีขึ้นกว่าก่อนการเข้าร่วมโปรแกรมไม่แตกต่างกัน สรุป โปรแกรมการส่งเสริมพัฒนาการเด็กกลุ่มบกพร่องทางสติปัญญาและพัฒนาการวัยแรกเกิดถึง 5 ปี ทั้งในรูปแบบบริการออนไลน์ (โปรแกรม TEDA4I Online) และรูปแบบบริการปกติ (โปรแกรม TEDA4I Onsite) ที่พัฒนาขึ้นมีคุณภาพ สามารถทำให้ผู้ปกครองมีทักษะการประเมินพัฒนาการและส่งเสริมพัฒนาการให้ดีขึ้นและช่วยให้เด็กกลุ่มบกพร่องทางสติปัญญาและพัฒนาการวัยแรกเกิดถึง 5 ปีมีพัฒนาการดีขึ้น


ลิงก์ต้นฉบับ : https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/6052

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้