งานวิจัยมาใหม่แนะนำ
จากที่คณะวิจัยได้มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเต็นท์ความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วยติดเชื้อ (Patient Isolation Chamber for Home & Community Isolation) หรือ “ไฮพีท HI PETE” ขึ้นมาในช่วงสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นนวัตกรรมห้องแยกผู้ป่วยที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อให้ตอบโจทย์สถานการณ์โรคติดเชื้ออุบัติซ้ำอุบัติใหม่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อทางเดินหายใจ อาทิ โควิด-19 ไข้หวัดใหญ่ วัณโรค ด้วยเป้าหมายหลักคือการแยกผู้ป่วย (Isolation) เพื่อการรักษาพยาบาลหรือกักตัวประเมินความเสี่ยง ในโครงการนี้คณะวิจัยได้ต่อยอดและขยายผลการใช้งานเต็นท์ความดันลบสำหรับแยกผู้ป่วยไปในสถานพยาบาลและพื้นที่ต่างๆ ที่มีการจัดการดูแลผู้ป่วยแบบ Home Isolation รวมไปถึงการรักษาฉุกเฉินที่จำเป็นต้องมีห้องแยกผู้ป่วยในขั้นตอนการเฝ้าดูอาการหรือการรักษา แต่ไม่มีห้องแยกและบำบัดอากาศที่ติดเชื้อ ซึ่งคณะวิจัยได้มีการออกแบบและพัฒนาเต็นท์ความดันลบให้เหมาะกับบริบทการใช้งานของบุคลากรทางการแพทย์ มีน้ำหนักเบา ติดตั้งง่าย เคลื่อนย้ายง่าย สามารถย้ายไปติดตั้งเป็นห้องรักษาพยาบาลที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อเป็นการชั่วคราวได้ สามารถปรับเลือกรูปแบบและขนาดเต็นท์ได้เหมาะสมตามขนาดพื้นที่ มีช่องหน้าต่างสำหรับสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ ช่วยลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อระหว่างผู้ป่วยกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงาน ลดระยะเวลา ลดภาระงาน ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของบุคลากรตลอดจนทำความสะอาดได้ง่าย รวมทั้งได้มีการนำเข้าสู่กระบวนการทดสอบทั้งด้านประสิทธิภาพการกรองเชื้อ และความปลอดภัยทางไฟฟ้าให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ในขอบเขตของโครงการนี้ คณะวิจัยได้ดำเนินการทดสอบต้นแบบทั้งในด้านประสิทธิภาพระบบระบายอากาศ ระบบกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (High efficiency air filtration) ตามมาตรฐาน ISO 14644 ด้านความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าเครื่องมือแพทย์ IEC 60601-1 และ IEC 60601-1-2 และทดสอบด้านการใช้งานในสถานการณ์จริงที่สถานพยาบาล 3 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ กรุงเทพฯ โรงพยาบาลเซนต์เมรี่ จังหวัดนครราชสีมา และโรงพยาบาลไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร โดยใช้งานเต็นท์ความดันลบในพื้นที่ต่างๆ ตามภารกิจ ได้แก่ จุดคัดกรอง (พ่นยา ดูดเสมหะผู้ป่วย) ห้องฉุกเฉิน (Emergency Room, ER) (ทำหัตถการผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ สายน้ำเกลือ) และห้องทำคลอดทารก (ทำหัตถการผู้ป่วยด้วยเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ทำคลอด) เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสหรือโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วยที่เข้ามารักษาพยาบาล โดยจากผลการทดสอบการใช้งาน พบว่า เต็นท์ความดันลบที่พัฒนาสามารถนำไปใช้ในภารกิจต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้รับการยอมรับจากผู้ใช้ โดยมีการใช้งานต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ คณะวิจัยได้จัดแนวทางการพัฒนาต่อยอดสำหรับการผลิตเชิงพาณิชย์ (Commercial-scale prototype) ประกอบด้วยแบบเชิงวิศวกรรม (Engineering drawings) รายการวัสดุสำหรับการผลิต (Bills of Materials) โครงสร้างต้นทุนสำหรับการผลิต (Cost structure) พร้อมทั้งคู่มือสำหรับการผลิต เพื่อเป็นข้อมูลตั้งต้นให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศที่เข้ามารับถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการช่วยลดความเสี่ยงให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศไทยและลดระยะเวลาในการขยายตลาดในประเทศให้มีการใช้งานในวงกว้างยิ่งขึ้นต่อไป
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้