งานวิจัยมาใหม่แนะนำ
โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อค้นหาสัญญาณเตือนการเปลี่ยนแปลงเบื้องต้น (early warning sign) หรือปัจจัยเสี่ยงของการเกิดผลกระทบทางสุขภาพที่เชื่อมโยงจากการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.), (2) เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของการจัดการทรัพยากร การจัดบริการสุขภาพและการดำเนินงานด้านสาธารณสุขของ รพ.สต. ที่ได้รับการถ่ายโอนไปองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รวมถึงแนวทางในการบริหารจัดการเชิงระบบที่จำเป็น และ (3) เพื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์แนวทางการใช้เครื่องมือทางการเงินการคลัง สารสนเทศและกฎหมายเพื่อจัดระบบนิเวศน์ทางสาธารณสุขที่แวดล้อม รพ.สต. ให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ของผลกระทบทางสุขภาพ โดยมีรูปแบบการศึกษาเป็นการศึกษาแบบผสมผสาน (Mixed methods) ประกอบด้วยส่วนที่ 1 การศึกษาเชิงคุณภาพ จัดทำเป็นกรณีศึกษา 12 พื้นที่ ใน 6 จังหวัด และส่วนที่ 2 การศึกษาเชิงวิเคราะห์ retrospective cohort study มีขอบเขตของการศึกษาในการประเมินผลรอบปีแรกของการถ่ายโอน รพ.สต. (ปีงบประมาณ 2566) มุ่งเน้นการประมวลผลข้อมูล Baseline ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2561-2565 เพื่อระบุความเสี่ยงและสังเคราะห์ชุดตัววัดและสารสนเทศสำหรับการติดตามผลกระทบในระยะต่อไป มีระยะเวลาของโครงการ 1 กันยายน พ.ศ. 2565 – 31 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ผลการศึกษาที่สำคัญพบว่า กรอบแนวคิดของการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนภายหลังการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. มีองค์ประกอบสำคัญประกอบด้วย (1) ผลลัพธ์ทางสุขภาพ, (2) ต้นทุนของการดูแล, (3) ผลลัพธ์งานสาธารณสุข, (4) การเข้าถึงบริการสุขภาพปฐมภูมิ, (5) การได้รับการดูแลรักษาตามแนวทางเวชปฏิบัติ และการได้รับการดูแลรักษาทันเวลา, (6) การดำเนินงานตามกรอบกิจกรรมและเป้าหมายของงานสาธารณสุข และ (7) ทรัพยากรและรูปแบบการบริหารจัดการ เป็นกรอบแนวคิดที่สามารถนำไปสู่สัญญาณเตือนที่จะใช้ในการติดตามประเมินผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนภายหลังการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. ในระยะต่อไปได้ สถิติของตัวชี้วัดจำนวนมากบ่งชี้ผลกระทบในเบื้องต้นได้จากการวิเคราะห์ความแตกต่างของระดับของผลการดำเนินการ ความแตกต่างของแนวโน้มของผลการดำเนินการต่อเนื่อง และความแตกต่างของความเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มของผลการดำเนินการภายหลังการถ่ายโอน รพ.สต. (1 ตุลาคม พ.ศ. 2565) ระหว่างกลุ่ม รพ.สต. ที่ถ่ายโอน และกลุ่ม รพ.สต. ที่ไม่ถ่ายโอน หรือระหว่างเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิระดับอำเภอ (Contracting Unit for Primary Care, CUP) ที่มี รพ.สต. ถ่ายโอนไปทั้งหมด ถ่ายโอนไปบางส่วน หรือไม่มี รพ.สต. ถ่ายโอนเลย อย่างไรก็ตามการประมวลผลตัวชี้วัดจำนวนหนึ่งในชุดนำร่องตามกรอบแนวคิดของโครงการฯ จำนวนหนึ่งยังขาดความพร้อมด้านข้อมูลในฐานข้อมูลของหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้องและมีข้อจำกัดของการรวบรวมข้อมูลโดยการใช้แบบสอบถามสำรวจข้อมูล รพ.สต. ผ่านทางสาธารณสุขอำเภอ โดยได้อัตราการตอบกลับในสัดส่วนที่น้อย ซึ่งอาจสะท้อนถึงข้อจำกัดของความสามารถในการปฏิบัติภารกิจเดิมของสาธารณสุขอำเภอภายใต้บริบทใหม่ของการกระจายอำนาจ นอกจากนี้พบว่าการเปลี่ยนแปลงของการจัดการทรัพยากรของ รพ.สต. ที่ได้รับการถ่ายโอนไป อบจ. ที่อาจส่งผลกระทบทางสุขภาพ เชื่อมโยงไปสู่การลดการจัดบริการในกลุ่มของ รพ.สต. ที่ได้รับการถ่ายโอนไป อบจ. รวมถึงการลดความสำคัญของงานด้านสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักนายกรัฐมนตรี กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) และกระทรวงมหาดไทย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรร่วมกันทบทวน วางแผนและออกแบบการเฝ้าระวัง ป้องกันและแก้ไขผลกระทบทางสุขภาพต่อประชาชน อันเป็นผลจากการถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อบจ. รวมถึงควรทบทวนและออกแบบระบบในการกำกับดูแลระบบสาธารณสุขในพื้นที่ด้วย
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้