ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู
จำนวนผู้อ่าน : 1600 คน
การวิเคราะห์ต้นทุนอรรถประโยชน์และความเป็นไปได้ของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA โดยชุดเก็บตัวอย่างด้วยตัวเองในประเทศไทย
นักวิจัย :
พจมาน พิศาลประภา , สุรศักดิ์ เสาแก้ว , ภัทรวลัย ตลึงจิตร , ธเนศ ชัยสถาผล , กิรติ เก่งกล้า , สุกฤษฏิ์ กาญจนสุระกิจ , ชญานิศ โฆสิตะมงคล , เอื้อรัตน์ มีประมูล ,
ปีพิมพ์ :
2566
สนับสนุนโดย :
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
วันที่เผยแพร่ :
31 ตุลาคม 2566

ที่มา : มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคมะเร็งที่มีอุบัติการณ์สูงเป็นอันดับ 3 ในสตรีไทย แม้ว่าปัจจุบันสตรีไทยจะมีสิทธิในเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก แต่อุบัติการณ์และอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยก็ยังคงสูง เนื่องจากอุปสรรคต่างๆ ของนโยบายการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ซึ่งทำให้อัตราการเข้ารับบริการการตรวจคัดกรองไม่สูงเท่าที่ควร นโยบายการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเองอาจเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่จะช่วยเพิ่มอัตราการเข้ารับบริการการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสตรีไทย การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะ (1) ทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ต้นทุนประสิทธิผลและความยอมรับ (2) ประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ (3) วิเคราะห์ผลกระทบด้านงบประมาณ และ (4) ศึกษาความเป็นไปได้ของนโยบายการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี Human Papillomavirus, HPV) DNA โดยชุดเก็บตัวอย่างด้วยตัวเองในประเทศไทย ระเบียบวิธีวิจัย : (1) ทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบโดยการสืบค้นฐานข้อมูลทางการแพทย์ ได้แก่ Embase MEDLINE และ PubMed จนถึงวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2565 เกณฑ์การคัดเข้าของการศึกษา ได้แก่ การศึกษาประสิทธิภาพและประสิทธิผล การศึกษาที่ประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และการศึกษาเกี่ยวกับความยอมของสตรีไทยและความเป็นไปได้ในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA โดยชุดเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง (2) วิเคราะห์ต้นทุนประสิทธิผลในมุมมองทางสังคมของนโยบายตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA โดยชุดเก็บตัวอย่างด้วยตัวเองร่วมกับการเก็บตัวอย่างโดยบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศไทย โดยเปรียบเทียบกับนโยบายการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA โดยบุคลากรทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว และการไม่มีนโยบายการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (3) วิเคราะห์ผลกระทบด้านงบประมาณของนโยบายในมุมมองของผู้จ่ายเงิน และ (4) ศึกษาความเป็นไปได้ของนโยบายด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกในบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและสตรีที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ผลการศึกษา : (1) จากการศึกษาในฐานข้อมูลทั้งหมด จำนวน 1,326 การศึกษา พบการศึกษาที่ผ่านเกณฑ์การคัดเข้าและคัดออกรวม 16 การศึกษา แบ่งเป็นการศึกษาด้านประสิทธิภาพของการตรวจคัดกรอง 6 การศึกษา ซึ่งสรุปผลได้ว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเองและการตรวจคัดกรองโดยบุคลากรทางการแพทย์โดยวิธี HPV DNA มีประสิทธิภาพที่ใกล้เคียงกัน โดยมีความไวประมาณร้อยละ 74-91 และความจำเพาะประมาณร้อยละ 84-99 เมื่อเปรียบเทียบกับผลจากการตรวจด้วยคอลโปสโคป ส่วนการศึกษาด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ 7 การศึกษา ให้ผลสรุปว่าการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA โดยชุดเก็บตัวอย่างด้วยตัวเองมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และการศึกษาเกี่ยวกับความยอมและความเป็นไปได้ 3 การศึกษา พบว่า สตรีไทยส่วนใหญ่ชื่นชอบการตรวจคัดกรองด้วยตัวเองมากกว่าการตรวจคัดกรองโดยแพทย์ (2) วิเคราะห์ต้นทุนประสิทธิผลในมุมมองทางสังคม พบว่า การมีนโยบายการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเองโดยวิธี HPV DNA ร่วมกับการตรวจคัดกรองโดยบุคลากรทางการแพทย์จัดเป็นนโยบายที่ทำให้ประหยัดต้นทุนได้ เมื่อเปรียบกับนโยบายการตรวจคัดกรองโดยบุคลากรทางการแพทย์เพียงอย่างเดียวและการไม่มีนโยบายการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในบริบทของประเทศไทย (3) การมีนโยบายการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเองมีผลกระทบด้านงบประมาณเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 700 ล้านบาทต่อปี (4) บุคลากรทางการแพทย์และสตรีกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ยอมรับวิธีการตรวจคัดกรองด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตามในสตรีที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือมีอาการทางนรีเวช ควรได้รับการตรวจโดยแพทย์มากกว่า สรุป : การมีนโยบายการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเองร่วมกับการตรวจคัดกรองโดยบุคลากรทางการแพทย์เป็นนโยบายที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในบริบทของประเทศไทย แม้ว่าจะเพิ่มผลกระทบด้านงบประมาณ แต่ประโยชน์ที่ได้จากการเพิ่มอัตราการตรวจคัดกรองจะสูงกว่าการมีนโยบายตรวจคัดกรองโดยบุคลากรทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว ผู้กำหนดนโยบายควรนำผลการศึกษาที่ได้ไปใช้ในการพัฒนานโยบายการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกของประเทศไทยต่อไป


ลิงก์ต้นฉบับ : https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/5963

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้