4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

‘HSRI’s Open House’ สวรส. เปิดบ้านหนุนงานวิจัยปี 69 พร้อมชวนผู้สนใจ สร้างวิจัย คลิก Pain Point ปัญหาประเทศ พัฒนาระบบสุขภาพไปด้วยกัน

          การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) และกำลังจะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) ในอีก 6 ปีข้างหน้า กับปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) คือ 2 วิกฤตปัญหาทางสุขภาพที่กำลังท้าทายระบบสุขภาพของประเทศในมุมมองของ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข เนื่องจากการมีผู้สูงอายุกว่า 13 ล้านคน หรือ 20% ของประชากรทั้งหมด[1] และคนไทยอีกหลายสิบล้านคนที่กำลังเป็นโรค NCDs อยู่ โดยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งต่อระบบสุขภาพที่ต้องรองรับผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดจนภาระทางงบประมาณของประเทศด้านการรักษาพยาบาลที่จะพุ่งสูงเป็นเงาตามตัว 

          สำหรับทางออกของปัญหาเหล่านี้ หนึ่งในกระบวนการสำคัญที่จะทำให้ไทยมีแนวทางในการรับมือและแก้ไขได้อย่างตรงจุด จำเป็นต้องอาศัย “ข้อมูลเชิงประจักษ์หรือหลักฐานทางวิชาการ” มารองรับ ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด เช่น การสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย (National Health Examination Survey: NHES) ที่ทำให้ประเทศสามารถเฝ้าระวังสถานะสุขภาพ รวมถึงการเจ็บป่วยของคนไทย จนส่งผลให้สามารถวางแผนในการแก้ปัญหาได้ถูกต้อง 

          ทั้งนี้ สวรส. ให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาของประเทศดังกล่าวเป็นลำดับต้น รวมทั้งประเด็น Pain Point สำคัญของระบบสุขภาพอีก 4 เรื่องใหญ่ที่ สวรส. จะมุ่งเน้นอย่างจริงจังในปี 2569 นี้ โดยประเด็นแรกคือ ระบบสุขภาพปฐมภูมิ (Primary Care) เนื่องจากหน่วยบริการปฐมภูมิมีหน้าที่หลักในการดูแล และสร้างเสริมสุขภาพ,ป้องกันโรค (P&P) และรักษาพยาบาลขั้นต้นของประชาชน ซึ่งหากระบบสุขภาพปฐมภูมิมีความเข้มแข็ง จะสามารถช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยให้กับผู้สูงอายุ หรือโรค NCDs ได้อย่างมาก  

          “ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพที่มีความเข้มแข็ง และระบบสุขภาพปฐมภูมิยืนอยู่แถวหน้าของโลก แต่ทำไมยังไม่สามารถควบคุมโรค NCDs ได้ และยังมีคนที่คุมระดับน้ำตาลหรือความดันไม่ได้เต็มไปหมด ซึ่งเกิดเป็นคำถามว่า ที่คิดว่ามีระบบสุขภาพปฐมภูมิที่เข้มแข็ง จริงๆ แล้ว เข้มแข็งจริงหรือไม่” นพ.ศุภกิจ อธิบายเพิ่มเติม

          นอกจากนั้น ระบบสุขภาพโดยมุ่งเน้นคุณค่า (Value-Base Health Care) เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ สวรส. กำลังมุ่งเน้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยไม่ล่มสลาย โดยอาศัยแนวคิดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดความคุ้มค่า และเน้นผลลัพธ์ทางสุขภาพของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมา สวรส. ได้มีการสนับสนุนงานวิจัยในการสร้างองค์ความรู้ในด้านนี้จำนวนหนึ่งแล้ว เช่น การออกแบบการบริการแบบเน้นคุณค่าในการดูแลโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง โดยมีชุมชนเป็นฐาน ฯลฯ รวมทั้ง สวรส. จะขับเคลื่อน การวิจัยทางคลินิกของประเทศไทย (Thailand Clinical Research Collaboration หรือ Thailand CRC) เนื่องจากการวิจัยทางคลินิกจะส่งผลให้เกิดความก้าวหน้าทางการแพทย์ และการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพิ่มโอกาสให้คนในประเทศสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีทางการรักษาใหม่ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งประเทศไทยยังขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการวิจัยด้านนี้อีกจำนวนมาก อีกทั้งปัจจุบันในประเทศไทยมีศูนย์วิจัยทางคลินิกที่ได้มาตรฐานระดับสากลมีแค่ 9 แห่งเท่านั้น ทั้งที่มีความต้องการการวิจัยทางคลินิกอย่างมาก และศูนย์แพทย์ขนาดใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุขก็มีอยู่จำนวนมาก 

          สำหรับประเด็นสุดท้ายคือ การแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งเป็นปัญหาที่สร้างผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพคนไทย โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งท่อน้ำดีมากถึง 6,500 ราย เกิดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 13,500 ล้านบาทต่อปี[2] ทั้งๆ ที่เป็นปัญหาที่สามารถป้องกันได้ ซึ่ง สวรส. จะดำเนินการใน 4 เขตสุขภาพทางภาคอีสาน ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 7, 8, 9, และ 10 โดยเป็นการร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ผ่านกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อลดอัตราการเกิดมะเร็งชนิดต่างๆ ที่มีพยาธิใบไม้ตับเป็นต้นเหตุ รวมถึงเพิ่มการเข้าสู่กระบวนการรักษาให้เร็วขึ้น 

          นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การได้มาซึ่งผลงานวิชาการที่มีประสิทธิภาพและสามารถตอบโจทย์ต่อปัญหาได้จริงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และ สวรส. ในฐานะคลังสมองของประเทศด้านระบบสาธารณสุขก็ไม่สามารถขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายได้เพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งนักวิจัย ภาคประชาสังคม และผู้กำหนดนโยบาย ฯลฯ สวรส. จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนมาร่วมงานเปิดบ้าน สวรส. “HSRI’s Open House” ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 4 ก.พ.นี้ ภายใต้ธีม “ร่วมสร้างงานวิจัยระบบสุขภาพที่ประเทศต้องการไปด้วยกัน โดยคุณคือคนสำคัญที่จะร่วมพัฒนางานวิจัยของประเทศไปกับเรา” ซึ่งเป็นเวทีที่ สวรส. จัดขึ้นเพื่อนำเสนอนโยบายและทิศทางการบริหารจัดการงานวิจัยระบบสาธารณสุขของ สวรส. ตลอดจนเป้าหมายสำคัญในปี 2569 และที่สำคัญคือการแลกเปลี่ยนมุมมองจากนักวิจัย และผู้ที่เกี่ยวข้องถึงกรอบทิศทางวิจัยที่ต้องการ เพื่อการสนับสนุนของ สวรส. จะได้สอดคล้องกับความต้องการและปัญหาสำคัญของประเทศ ตลอดจนเพื่อนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศได้ต่อไป
   
          “ภายในงานการเปิดบ้าน สวรส.ครั้งนี้ จะมีการนำเสนอระบบสนับสนุนนักวิจัยหน้าใหม่ด้วย ซึ่งจะเป็นระบบพี่เลี้ยงที่คอยช่วยแนะนำแนวทางในการขอทุนสนับสนุน และกระบวนการต่างๆ การทำวิจัยให้นำไปสู่การใช้ได้จริง เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้คำตอบใหม่ๆ ที่อาจไม่เคยพบมาก่อน หรือสร้างผลลัพธ์ที่ต่างไปจากที่ผ่านมา เพราะถ้าเรายังติดกับการสนับสนุนแบบเดิมต่อไปคำตอบที่ได้อาจจะซ้ำๆ” ผู้อำนวยการ สวรส. เผยอีกกิจกรรมสำคัญของงานครั้งนี้

          โดยในช่วงท้าย นพ.ศุภกิจ ยังได้กล่าวเชิญชวนด้วยว่า “ขอเชิญชวนให้นักวิจัย และผู้เกี่ยวข้องมาร่วมด้วยช่วยกันกำหนดกรอบและแนวทางการสนับสนุนงานวิจัยในปี 2569 ของ สวรส. เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพประเทศไปด้วยกัน” 
...........................

ข้อมูลจาก
[1] (สังคมผู้สูงอายุ, Thaihealthreport.com, Prevention and Control of Noncommunicable Diseases in Thailand) 
[2] ฐานข้อมูลผู้ป่วยมะเร็งของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ณ 5 มิถุนายน 2567

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้