4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

สวรส. เตรียมออกคู่มือ ตั้ง ‘หน่วยแพทย์ฉุกเฉินใน อบจ.’ รับมือระเบิดเวลา ‘สังคมสูงวัย’

          ในการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำคู่มือการจัดหน่วยปฏิบัติการและระบบบริการแพทย์ฉุกเฉินระดับสูงในหน่วยบริการปฐมภูมิขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่จัดขึ้นโดย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC) เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2568 สะท้อนปัญหาใหญ่ที่ระบบการแพทย์ฉุกเฉินไทยกำลังต้องเผชิญในอนาคต 

          “ไทยกำลังมีระเบิดเวลา 2 ลูก ลูกแรกคือ จำนวนผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งมาพร้อมกับความเสื่อมของสภาพร่างกายตามวัย ทำให้โอกาสที่จะเกิดโรคที่มีความรุนแรงหรือการเจ็บป่วยที่ต้องได้รับการรักษาอย่างฉุกเฉินมากขึ้น เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจวาย ฯลฯ ส่วนอีกลูกคือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคสมองเสื่อม โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ ซึ่งเป็นปัจจัยเร่งให้ผลของระเบิดลูกแรกเกิดมากขึ้น” ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สวรส. กล่าว

          จากสถานการณ์ดังกล่าว สวรส. จึงพัฒนาเครือข่ายและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินระดับสูง (Advanced Life Support : ALS) ที่มีประสิทธิภาพ ในองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉินตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 โดยการสนับสนุนทุนวิจัยให้กับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้โครงการ “การสังเคราะห์ข้อเสนอและออกแบบเชิงนโยบายการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินระดับสูงใน อบจ. ที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจการบริการสุขภาพปฐมภูมิ” เพื่อวิเคราะห์และจัดทำแนวทางการจัดตั้งชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินระดับสูงใน อบจ. ที่รับถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้เป็นไปตามมาตรฐานของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และศึกษาปัญหา/อุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้น ตลอดจนความพร้อมและความเหมาะสมของการบริหารหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินระดับสูงใน อบจ. ที่เป็นกรณีศึกษา พร้อมจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการพัฒนาระบบเครือข่ายหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินระดับสูง 

          ทั้งนี้เนื่องจากการตั้งหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินระดับสูงใน อบจ. ที่ผ่านมา แม้จะมี อบจ. ถึง 16 แห่งที่มีศูนย์รับแจ้งและส่งต่องานการแพทย์ฉุกเฉิน แต่มีเพียง อบจ. 1 แห่งเท่านั้นที่มีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินระดับสูงร่วมด้วย คือ อบจ.อุบลราชธานี ซึ่งข้อจำกัดในขณะนั้นคือ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กำหนดให้การตั้งหน่วยปฏิบัติการดังกล่าวต้องอยู่ในความดูแลของ อบจ. เท่านั้น เพื่อสนับสนุนให้ อบจ. จัดระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิอย่างครบถ้วนเต็มรูปแบบ 

          “งานวิจัยเรื่องนี้จะนำไปสู่การจัดทำคู่มือให้กับ อบจ. ทั่วประเทศได้นำไปเป็นแนวทางการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการ ALS ซึ่งจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรทั้งบุคลากรที่มีความเฉพาะทาง งบประมาณ และอุปกรณ์ต่างๆ จำนวนมาก เพื่อให้ อบจ. เตรียมความพร้อม และมีแนวทางในการดำเนินงาน” ผศ.ดร.จรวยพร อธิบาย

          ทั้งนี้การศึกษาวิจัยโครงการดังกล่าวได้ทำพื้นที่ทดลอง (Sandbox) ใน อบจ. 3 แห่ง ได้แก่ อบจ.เชียงใหม่ อบจ.ระยอง และ อบจ.สงขลา เพื่อศึกษาเปรียบเทียบระหว่าง อบจ. ที่รับถ่ายโอน รพ.สต. ทั้งจังหวัด และรับถ่ายโอน รพ.สต. ไม่ครบทั้งจังหวัด โดย รศ.ดร.ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ สรุปข้อค้นพบสำคัญ 6 ด้าน และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินระดับสูงใน อบจ. ที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ว่า ด้านแรก รูปแบบบริการ พบว่า มีความจำเป็นต้องบูรณาการบริการการแพทย์ฉุกเฉินเข้ากับการจัดระบบดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (LTC) การดูแลต่อเนื่องที่บ้าน (COC) การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยระยะกลาง (IMC) และการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative Care) เพื่อให้ครอบคลุมตั้งแต่ภาวะฉุกเฉินไปจนถึงการดูแลระยะยาวในชุมชน โดยมีการให้บริการต่อเนื่องและมีคุณภาพสูง ต่อมาด้านกำลังคน การขาดแคลนกำลังคนในโครงสร้างของ รพ.สต. ถ่ายโอน ยังเป็นปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาและยกระดับงานปฐมภูมิ ส่วนงานการแพทย์ฉุกเฉิน อบจ. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ยังไม่สามารถบรรจุบุคลากรในหลายตำแหน่งได้ เนื่องจากแนวทางของคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น และคณะกรรมการกลางข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ยังไม่ชัดเจน เช่น ตำแหน่งนักเวชกิจฉุกเฉิน (Paramedic) ที่แม้จะมีมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง แต่ท้องถิ่นยังไม่สามารถดำเนินการจัดสอบบรรจุได้ และแนวทางในการจ้างบุคลากรที่ไม่ใช่ตำแหน่งข้าราชการของ อบจ. เพื่อปฏิบัติหน้าที่จัดบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ยังมีความไม่ชัดเจน 
   
          สำหรับด้านการจัดสรรและจัดการทรัพยากร พบว่า รพ.สต. สังกัด อบจ. ยังต้องพึ่งพาหน่วยบริการประจำที่เป็นคู่สัญญาในการจัดบริการ (CUP) เป็นหลัก แต่ในอนาคต รพ.สต. อาจต้องจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์เอง โดยเฉพาะเวชภัณฑ์สำหรับงานการแพทย์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ต้นทุนต่อหน่วย (Unit Cost) สำหรับงานการแพทย์ฉุกเฉินในแต่ละพื้นที่ยังไม่สะท้อนสภาวการณ์ที่แท้จริง ขณะที่ด้านโครงสร้างองค์กรและการจัดการการเงินของงานการแพทย์ฉุกเฉินกับงานปฐมภูมิของ รพ.สต. สังกัด อบจ. ยังไม่บูรณาการกัน โดยงานการแพทย์ฉุกเฉินยังเน้นเฉพาะการจัดการศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 1669 เป็นหลัก และสถานะของหน่วยปฏิบัติการ ALS ในโครงสร้างของ อบจ. ยังไม่มีความชัดเจนว่าการบริหารจัดการการเงิน การคลัง และงบประมาณ จะอ้างอิงระเบียบกระทรวงมหาดไทยฉบับไหน ด้านการพัฒนาเครือข่ายเชิงพื้นที่ พบว่า อบจ. แต่ละพื้นที่ยังขาดการบูรณาการด้านการแพทย์ฉุกเฉินกับเทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มูลนิธิ และภาคประชาชนในระดับพื้นที่อย่างเป็นระบบ รวมถึง รพ.สต. กับโรงพยาบาลแม่ข่ายยังอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อบูรณาการการส่งต่อผู้ป่วยที่เป็นระบบและสอดรับกับแนวโน้มโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่น การดูแลต่อเนื่องที่บ้าน การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยระยะกลาง ฯลฯ 
   
          สุดท้ายด้านความรอบรู้ของประชาชนด้านการแพทย์ฉุกเฉิน โดยประเด็นที่ประชาชนมีระดับความรู้ความเข้าใจน้อยที่สุดคือ การดูแลและให้การปฐมพยาบาลแก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน รวมถึงกลุ่มตัวอย่างประชาชนน้อยกว่า 20% สามารถจำแนกรถฉุกเฉินและหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินแต่ละประเภทได้ นอกจากนี้ยังพบปัจจัยที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อความรอบรู้ด้านการดูแลสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน โดยปัจจัยที่มีผลกระทบเชิงลบคือ ผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ส่วนปัจจัยที่มีผลเชิงบวกคือ การมีปฏิสัมพันธ์กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และบุคลากรของ รพ.สต. การมีโรคประจำตัวแต่สามารถปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และการมีเพื่อนบ้าน ญาติ หรือสมาชิกในชุมชนที่มีโรคประจำตัว และต้องปฏิบัติตัวตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
   
          ด้านข้อเสนอเชิงนโยบายจากงานวิจัย ประกอบด้วย 1) รพ.สต. จำเป็นต้องบูรณาการงานการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยระยะกลางหรือการดูแลแบบประคับประคองกับงานการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อรองรับสังคมสูงอายุที่จำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงจะเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุกลุ่มที่มีรายได้น้อย 2) อบจ. ควรสร้างเสริมทักษะการแพทย์ฉุกเฉินให้แก่บุคลากรของ รพ.สต. ถ่ายโอนไปพลางก่อน แทนที่จะรอการบรรจุนักเวชกิจฉุกเฉิน เช่น การส่งพยาบาลวิชาชีพไปเรียนต่อหลักสูตรพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉิน 3) อบจ. ควรร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และโรงพยาบาลแม่ข่าย วางแผนพัฒนาศักยภาพ อบจ. ในการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์สำหรับบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ให้แก่ รพ.สต. โดยอาจใช้กลไกคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) 4) อบจ. ควรบูรณาการงานบริการการแพทย์ฉุกเฉินกับงาน รพ.สต. โดยใช้แนวคิด Project Management 5) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ควรบูรณาการกับ สพฉ. จัดทำและซักซ้อมแนวทางการบริหารจัดการหน่วยปฏิบัติการ ALS ของ อบจ. เทศบาล และ อบต. ให้ชัดเจน 6) อบจ. ควรพัฒนาความร่วมมือกับเทศบาล และ อบต. อย่างเป็นรูปธรรม โดยอาศัยประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) เรื่องการจัดทำบริการสาธารณะร่วมกันของ อปท. 7) อบจ. สสจ. และโรงพยาบาลแม่ข่าย ควรร่วมกันพัฒนาแนวทางการส่งต่อผู้ป่วยจากบ้าน หน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ โรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลทั่วไป ในกรณีฉุกเฉินหรือต้องการการดูแลเฉพาะทาง 8) อบจ. ควรร่วมกับเครือข่ายหน่วยงานในพื้นที่ จัดกิจกรรมเชิงรุกให้ความรู้และฝึกปฏิบัติให้แก่ประชาชน และ อสม. ในการดูแลสุขภาพในภาวะฉุกเฉินอย่างต่อเนื่อง 9) ประชาสัมพันธ์บริการการแพทย์ฉุกเฉินของทุกหน่วยงานในพื้นที่ให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลในการเข้าถึงบริการแพทย์ฉุกเฉิน10) ควรมีช่องทางสายด่วนระหว่างประชาชนกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยใช้เทคโนโลยีที่ประหยัดและเข้าถึงได้ง่าย เช่น Line OA หรือเฟซบุ๊ก 

รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้