4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

สวรส. เสนอแนวทางเสริมศักยภาพ กปท. หนุนงาน P&P บนสถานการณ์สุขภาพและโครงสร้างระบบที่เปลี่ยนไป

          การประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พ.ศ. 2567 (National UHC Conference 2024) ภายใต้ธีม “การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) กุญแจสู่ความสำเร็จของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” เมื่อวันที่ 11-12 ธ.ค. 2567 ที่ผ่านมา จัดขึ้นโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานหลักประสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ องค์การอนามัยโลก และภาคีเครือข่าย โดยได้หยิบยกประเด็น “กองทุนสุขภาพตำบล” มาเป็นประเด็นหนึ่งในการอภิปรายแลกเปลี่ยนกันในหัวข้อ “ความท้าทาย และก้าวต่อไปในการพัฒนากองทุนสุขภาพระดับตำบลเพื่อสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ” 

          ทั้งนี้ “กองทุนสุขภาพตำบล” หรือ “กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น” (กปท.) เป็นกลไกหนึ่งในการจัดบริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคพื้นฐานที่จำเป็นให้แก่ประชาชนในแต่ละพื้นที่ ภายใต้ชุดสิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นการสนับสนุนงบประมาณร่วมกันระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และเปิดให้กลุ่มประชาชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานอื่นๆ อาทิ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงเรียน ฯลฯ สามารถจัดทำโครงการด้านสุขภาพเพื่อขอรับงบประมาณในการจัดบริการได้[1] ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2549 ที่เริ่มมีประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ กปท. อย่างเป็นทางการ มีการจัดตั้ง กปท. จาก 888 แห่ง จนมาถึงปัจจุบันปี 2567 มีถึง 7,752[2] แห่ง 

          ซึ่งในช่วงหนึ่งของการอภิปรายในเวทีดังกล่าว ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ระบุว่า ในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา การมี กปท. เกิดขึ้นในประเทศไทย ส่งผลให้เกิดความสำเร็จในการสร้างเสริมสุขภาพและลดการเจ็บป่วยของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีวิวัฒนาการและการประเมินผลเพื่อการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่ทว่ายังมีช่องว่างที่ยังสามารถพัฒนาให้ดีขึ้น และสอดคล้องกับบริบทในปัจจุบันได้อีก โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่มีการกระจายอำนาจด้านการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิผ่านการถ่ายโอน รพ.สต. จากสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)  ซึ่ง รพ.สต. มีบทบาทหลักในการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระดับพื้นที่ รวมทั้งการที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับสิ่งที่เรียกว่าสึนามิโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และสึนามิผู้สูงอายุ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างหลายๆอย่างตามมา เช่น การถ่ายโอน รพ.สต. ส่งผลให้เกิดการเข้าถึง กปท. สะดวกมากขึ้นในหลายพื้นที่ แต่บางพื้นที่ได้รับผลกระทบจากระเบียบปฏิบัติที่แตกต่างกันระหว่าง อบจ. และกระทรวงสาธารณสุข จนกลายเป็นข้อจำกัดในการดำเนินการ ฯลฯ ดังนั้น จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ สปสช. จะทบทวนและปรับกลไกของระบบการบริหารจัดการ กปท. ให้เอื้อต่อการทำงานในรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของ สปสช. เขต และ อบจ. เพื่อสร้างระบบและกลไกการควบคุม ควบคู่กับการกำกับติดตามผลการดำเนินงานของ กปท. ตลอดจนพัฒนาระบบสารสนเทศและการเข้าถึงสิทธิสำหรับ รพ.สต. กับ สปสช. เพื่อจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และการใช้ข้อมูลสารสนเทศด้านสุขภาพร่วมกัน 

          ผศ.ดร.จรวยพร กล่าวอีกว่า ในระดับพื้นที่ สิ่งที่ รพ.สต. ควรต้องทำคือ การจัดลำดับความสำคัญของปัญหาสุขภาพที่ป้องกันได้ และต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์และกลไกการดำเนินงาน ตลอดจนการประเมินผล ซึ่งการจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ หน่วยงานท้องถิ่นต้องมีฐานข้อมูลสถานะสุขภาพประชาชน โดยนำข้อมูลจากของ สปสช. สสส. ฯลฯ มาประมวลให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน ตัวอย่างเช่น การจัดทำ Dashboard การถ่ายโอน รพ.สต. ของ สวรส. ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เห็นสถานการณ์สุขภาพของประชาชน เช่น การคัดกรองโรคในภาพรวมของแต่ละพื้นที่ สาเหตุการเสียชีวิต อัตราการเสียชีวิตจากโรคไตวายเรื้อรังรายตำบล ฯลฯ โดยข้อมูลสถานการณ์สุขภาพช่วยให้การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสามารถดำเนินการได้ตรงกับปัญหาที่แท้จริงของพื้นที่ และเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนกว่าการดำเนินการแบบกระจายในหลายๆ ปัญหา 

          อนึ่ง เวทีอภิปรายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “การสร้างและจัดการองค์ความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ทบทวนผลการดำเนินงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ มุ่งสู่ทางข้างหน้า” ของทีมวิจัยจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPF) ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สวรส. อันมีวัตถุประสงค์เพื่อสังเคราะห์องค์ความรู้ และพัฒนาสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1) ระบบนิเวศเพื่อป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ 2) กองทุนสุขภาพระดับตำบล 3) การเพิ่มความสามารถให้ประชาชนในการดูแลสุขภาพ: การดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานให้เข้าสู่ระยะสงบ (DM remission) และ 4) การป้องกันภาวะเปราะบางในสังคมสูงวัย 

          ทั้งนี้ จากเวทีอภิปรายทั้ง 4 ประเด็น มีการสะท้อนข้อเสนอที่น่าสนใจ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการนำไปขับเคลื่อนต่อภายใต้โครงการวิจัยดังกล่าว เช่น สปสช. และ สสส. ควรร่วมกันสนับสนุนให้เกิดระบบข้อมูลสารสนเทศการดำเนินงานของ กปท. แบบ One Stop Service ที่ท้องถิ่นสามารถใช้ได้ตั้งแต่พัฒนาแผนสุขภาพ อนุมัติโครงการ ไปจนถึงติดตามผลลัพธ์, สปสช. ควรสนับสนุนกลไกการจ่ายเงินเพื่อให้เกิดการจัดบริการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างเข้มงวด (intensive lifestyle modification) ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่สามารถเข้าสู่ระยะสงบ, สปสช. กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และ อปท. ควรขยายผล กปท. โดยอาจมีระบบพี่เลี้ยง กปท. ให้กับภาคเอกชน เช่น คลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น ฯลฯ เพื่อร่วมให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะเปราะบางโดยมีรูปแบบมาตรฐานที่ชัดเจน กระทรวงสาธารณสุขควรมีการพัฒนาศักยภาพการให้บริการ Tele-consultation โดยแพทยผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุ ในการดูแลผู้สูงอายุ ฯลฯ 

..........................

ข้อมูลจาก
[1](กองทุนสุขภาพตำบล - กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น - กปท)
[2](สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), กองทุนสุขภาพตำบล - กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น - กปท)

รูปภาพเพิ่มเติม

Comment

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้