สกู๊ปและบทความจากงานวิจัย สวรส. ในรูปแบบบทความที่เข้าใจง่าย
แม้กว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) กำเนิดขึ้นและเติมเต็มให้ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างสมบูรณ์ ตลอดจนการขับเคลื่อนงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (Promotion and Prevention: P&P) เพื่อลดการเจ็บป่วยของประชาชนมีมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จยืนอยู่แถวหน้าของโลกได้
ทว่า ประเทศไทยยังคงเผชิญกับปัญหาทางสุขภาพจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะการรับมือและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 74% อีกทั้งจากรายงานล่าสุดของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ปี 2567 ยังพบด้วยว่า งบประมาณจากกองทุนบัตรทองกว่า 7.9 หมื่นล้านบาท ถูกใช้ไปกับการแก้ปัญหา NCDs และ 1.3 หมื่นล้านบาทเป็นค่ารักษา[1] สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงร่วมกับสำนักงานหลักประสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ องค์การอนามัยโลก และภาคีเครือข่าย จัดการประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พ.ศ. 2567 (National UHC Conference 2024) ขึ้น ภายใต้ธีม “การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค กุญแจสู่ความสำเร็จของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ระหว่างวันที่ 11 - 12 ธ.ค. 2567 เพื่อทบทวน ถอดบทเรียน และนำข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่างๆ มาพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อไป
ภายในงานยังมีการจัดเวทีอภิปรายในหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค หนึ่งในนั้นคือเวที “ก้าวต่อไปการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย” โดยมีผู้ร่วมอภิปรายจากทั้งฝ่ายนโยบาย ไปจนถึงฝ่ายวิชาการ
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานที่สร้างความรู้สู่การพัฒนาเชิงนโยบาย ได้ระบุถึงบทบาทและเป้าหมายในการสนับสนุนงานวิชาการสำหรับเป็นฐานพัฒนานโยบายด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยของประชาชน ควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืนให้กับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในอนาคต โดย นพ.ศุภกิจ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการใช้งานวิจัยเป็นฐานในการจัดทำนโยบายว่า การที่ฝ่ายนโยบายจะกำหนดนโยบายใดๆ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข จำเป็นต้องมีข้อมูลและองค์ความรู้ทางวิชาการมารองรับ ซึ่งเป็นหลักการสากลที่ทั่วโลกใช้กัน เพราะไม่เช่นนั้นผลลัพธ์ของนโยบายที่ได้อาจแก้ปัญหาไม่ตรงจุด รวมถึงอาจมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น ตลอดจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ตัวอย่างเช่น การสำรวจสุขภาพคนไทยด้วยการตรวจร่างกาย (National Health Examination Survey) เมื่อกว่า 10 ปีก่อน ที่ทำให้พบว่ามีความชุกของผู้ป่วยเบาหวานในคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป 6.9% หรือประมาณ 3 ล้านคน แต่เมื่อนำมาเทียบกับรายงานข้อมูลการมารับการรักษาโรคเบาหวานในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มีเพียง 8 แสนคน ซึ่งแม้จะรวมข้อมูลรายงานจากโรงพยาบาลสังกัดอื่นๆ ด้วย ก็มีเพียง 1.2 ล้านคนเท่านั้น
ทั้งนี้ จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้มีสมมติฐานว่า มีผู้ป่วยโรคเบาหวานกว่า 1.8 ล้านคน ที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการการรักษาในระบบ หรืออาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองเป็นโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ที่นำไปสู่การผลักดันให้มีการตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูงในคนไทยต่อเนื่อง 3 ปี จนในที่สุดทำให้มีผู้ป่วยโรคเบาหวานเข้าสู่กระบวนการรักษามากขึ้น
แม้ตัวอย่างดังกล่าวจะสะท้อนให้เห็นความสำคัญของงานวิชาการได้อย่างดี แต่ใช่ว่างานวิชาการที่ผลิตออกมาทุกเรื่องจะไปถึงจุดนั้นได้ โดย นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาการทำงานวิชาการด้านสาธารณสุขในประเทศไทยค่อนข้างกระจัดกระจาย และมักเป็นการเลือกศึกษาในประเด็นตามความเชี่ยวชาญและความสนใจ ขาดการจัดการในภาพใหญ่ รวมถึงงานวิชาการที่ผลิตออกมาเกินกว่าครึ่งหนึ่ง ไม่มีความสมบูรณ์เพียงพอที่จะนำไปให้ฝ่ายนโยบายต่อยอดการใช้ประโยชน์ได้ ดังนั้น สวรส. จึงปรับทิศทางในการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อตอบโจทย์ฝ่ายนโยบายมากขึ้น เช่น การประเมินเพื่อการพัฒนานโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ นโยบายบำบัดทดแทนไต โครงการเจ็บป่วยเล็กน้อยรับยาที่ร้านยา การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ทำให้นโยบายดังกล่าวเกิดการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของ สวรส. ที่จะขับเคลื่อนต่อไปใน 4 เป้าหมายสำคัญ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับในภาคอีสาน และภาคเหนือตอนบน โดยจะเน้นการดำเนินงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพ ทั้งอัตราการเกิดโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ที่มีพยาธิใบไม้ตับเป็นต้นเหตุ รวมถึงเพิ่มการเข้าสู่กระบวนการรักษาให้เร็วขึ้น ซึ่งเรื่องพยาธิใบไม้ตับ ที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า งานวิจัยที่ สวรส. สนับสนุนให้เกิดการสร้างองค์ความรู้มาอย่างยาวนาน แต่เมื่อถึงเวลานำไปขับเคลื่อนใช้ประโยชน์ในสนามจริง ยังไม่สามารถทำได้เท่าที่ควร โดยยังพบว่า มีการเสียชีวิตจากมะเร็งท่อน้ำดีปีๆ หนึ่งเป็นจำนวนมาก ดังนั้น สวรส. จึงจะมีการปรับทิศทางการดำเนินงานให้สามารถนำผลจากงานวิจัยมาใช้ได้จริง ไม่ขึ้นหิ้งอีกต่อไป
“ในเป้าหมายของการขับเคลื่อนการวิจัยทางคลินิกของประเทศไทย (Thailand Clinical Research Collaboration หรือ Thailand CRC) เพื่อให้คนไทยมีโอกาสได้เข้าถึงยา เครื่องมือแพทย์ และวิธีการรักษาใหม่ๆ ให้มากขึ้น เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยมีศูนย์ดังกล่าวที่มีมาตรฐานสากลเพียง 9 แห่งเท่านั้น แต่ประชากรไทยมีกว่า 60 ล้านคน ทั้งๆ ทรัพยากรที่จะสามารถดำเนินการได้อย่างศูนย์การแพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีจำนวนมาก สวรส.
จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยตั้งเป้า อีก 2 ปีข้างหน้า สวรส. จะทำให้ประเทศไทยมีศูนย์วิจัยทางคลินิกที่สามารถทำการวิจัยได้อย่างมีมาตรฐาน โดยขยายจำนวนเป็น 30 แห่ง” นพ.ศุภกิจ กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากนั้นเป้าหมายด้านการพัฒนาระบบสุขภาพโดยมุ่งเน้นคุณค่า (Value-Base Health Care) เพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยมีความยั่งยืน และงบประมาณที่ใช้มีความคุ้มค่ามากขึ้น เช่น ปัจจุบันระบบบัตรทองที่ดูแลประชากรไทยกว่า 47 ล้านคน มีการเพิ่มงบเหมาจ่ายรายหัวจาก 1,202.40 บาทต่อคน ในปี 2546 มาเป็น 3,844.55 บาทในปี 2568 ซึ่งเพิ่มขึ้นมาหลายเท่าตัว แต่คำถามสำคัญคือ คุณค่าที่เกิดขึ้นเพิ่มขึ้นตามงบประมาณที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวหรือไม่
“อย่างการผ่าตัดคลอดบุตรโดยไม่จำเป็น ซึ่งในทางการแพทย์การผ่าตัดคลอดจะใช้สำหรับคนที่มีข้อบ่งชี้ว่าไม่สามารถคลอดตามธรรมชาติได้เท่านั้น ซึ่งมีเพียง 10 - 15% แต่ปัจจุบันในระบบบัตรทองมีคนไข้มาผ่าคลอดบุตรมากกว่าครึ่งหนึ่ง ดังนั้นจำเป็นต้องมีข้อมูลวิชาการมาสนับสนุนให้กลไกการจ่ายเงินมีการปรับเพื่อเอื้อให้เกิดการจ่ายที่คุ้มค่า และเกิดประโยชน์กับผู้ป่วยมากที่สุด” ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าว
พร้อมขมวดให้เห็นความสำคัญในประเด็นนี้ว่า “ถ้าเราเอาเงินไปจ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นมากๆ ส่วนที่จำเป็นก็จะได้น้อยลง ซึ่งอาจทำให้อนาคตระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อาจล่มสลายจากการไม่มีงบประมาณเพียงพอ”
สุดท้ายด้านระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ (Primary Care) เพื่อผลักดันให้เกิดความเข้มแข็ง และตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งจากการประชุมครั้งนี้ทำให้เห็นแล้วว่าทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าการจะบรรลุเป้าหมายการสร้างเสริมสุขภาพได้ ไม่ได้อยู่ที่โรงพยาบาล แต่คือหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ และภาคส่วนต่างๆ ในระดับพื้นที่
“ประเทศไทยอยู่แถวหน้าในเรื่องระบบสุขภาพปฐมภูมิ แต่ทำไมเรายังไม่สามารถควบคุมโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูงได้ สิ่งนี้อาจแสดงว่าระบบสุขภาพปฐมภูมิยังไม่เข้มแข็งจริง” ผู้อำนวยการ สวรส. ขยายความสาเหตุที่นำเรื่องนี้มาเป็นเป้าหมายหลัก
นพ.ศุภกิจ กล่าวทิ้งท้ายว่า ทั้ง 4 ประเด็นดังกล่าว สวรส. ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว และกำลังเร่งดำเนินการอยู่ ซึ่งถ้าผลลัพธ์ของแต่ละเป้าหมายบรรลุได้ตามที่หวังไว้ โดยอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ ทำให้คนป่วยน้อยลง ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับการรักษาได้รับการรักษาที่เหมาะสมภายใต้ต้นทุนที่ใช้ไม่มาก เนื่องจากมีศักยภาพในการพัฒนาวิธีการรักษาใหม่ๆ เพื่อตอบสนองอย่างตรงจุด เหล่านี้ก็จะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน
.................................
ข้อมูลจาก
[1]การประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พ.ศ. 2567
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้