4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

“เทคโนโลยี AI เฝ้าระวังผู้สูงวัยที่บ้าน” จากนวัตกรรมสู่การวิจัยประสิทธิภาพ เพื่อการใช้งานจริงในสังคมสูงวัย

          ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ อย่างเป็นทางการในปี 2565 โดยมีประชากรสูงอายุถึง 13 ล้านคน หรือราว 20% ของประชากรทั้งประเทศในปี 2566 และมีแนวโน้มจะเข้าสู่สังคมสูงอายุระดับสุดยอดในปี 2573 ด้วยสัดส่วนประชากรที่มีอายุเกิน 65 ปี จะมีมากถึงร้อยละ 20 [1] ปรากฏการณ์นี้ประกอบกับภาวะสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ความจำเป็นของผู้ดูแลหรือลูกหลานที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านโดยต้องให้ผู้สูงอายุอยู่บ้านเพียงลำพัง ซึ่งผู้สูงอายุอาจเกิดการหกล้ม เป็นลมหมดสติ หรือเกิดเหตุการณ์ที่เสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น ลืมกินยา ลืมทำกายภาพบำบัด มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยเกินไป ฯลฯ 

          สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงสนับสนุนทุนวิจัยให้กับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้โครงการ “การประยุกต์ใช้และทดสอบประสิทธิผลของระบบดูแลผู้อยู่อาศัยเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและปลอดภัยด้วยปัญญาประดิษฐ์ในบริบทการใช้งานจริงของครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบประสิทธิผลของการใช้เทคโนโลยีระบบดูแลผู้อยู่อาศัยเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและปลอดภัยด้วยปัญญาประดิษฐ์ในบริบทการใช้งานจริงของครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุที่ต้องอยู่โดยลำพัง เพื่อปรับปรุงเทคโนโลยีดังกล่าว ให้มีศักยภาพพร้อมตอบสนองความต้องการและการใช้งานจริง โดยได้มีการจัดสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาโครงการวิจัยเพื่อการขยายผลต่อยอด ซึ่งมี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการ สวรส. ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. พร้อมด้วย ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. ตลอดจนตัวแทนอาสาสมัครที่ร่วมทดสอบการใช้งานระบบดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง ร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นการสนับสนุนนวัตกรรมด้านสุขภาพสู่การใช้งานจริง และตอบโจทย์ประเทศในสังคมอายุยืน เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพมหานคร

          นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า หนึ่งในภาวะคุกคามการพัฒนาระบบสุขภาพ เรื่องสำคัญนอกจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) แล้ว คือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าที่คาด ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า สึนามิประชากร เด็กเกิดน้อย ผู้สูงอายุมากขึ้น จากการคาดการณ์อนาคต ประมาณปี 2583 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ โดยอายุคาดเฉลี่ยของคนไทยจะขยับสูงขึ้น ซึ่งการมีอายุที่ยืนยาวขึ้น ควรคู่ขนานไปกับการมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุมีปัญหาสุขภาพที่พบมากคือ เรื่องการหกล้ม โดยคนไทย 1 ใน 3 เคยล้มในรอบปีที่แล้วไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง 5-10% ล้มแล้วมีอาการรุนแรง เนื่องจากศีรษะกระแทก เส้นเลือดแตก อีก 25-70% ล้มแล้วส่งผลให้ไม่สามารถใช้ชีวิตเป็นปกติได้ เช่นเดินได้ไม่เหมือนเดิม แม้ได้รับการรักษาแล้วก็ไม่สามารถกลับมาเหมือนปกติได้ และเมื่อไหร่ที่หกล้มจนไม่สามารถเดินได้ สุขภาพด้านอื่นๆ ก็จะมีความเสี่ยงอันตรายมากขึ้น เช่น เกิดภาวะปอดบวม แผลกดทับ ฯลฯ เพราะฉะนั้นการป้องกันไม่ให้ล้มจนเกิดการบาดเจ็บ จึงมีความจำเป็นมาก ซึ่งการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยการใช้เทคโนโลยีในการช่วยติดตามและเฝ้าระวังความเสี่ยง จะสามารถช่วยได้เป็นอย่างดี โดยสิ่งสำคัญหลังจากพัฒนาเทคโนโลยีมาแล้ว จำเป็นต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ใช้แล้วเกิดประโยชน์จริงหรือไม่ ซึ่งการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบจะพิสูจน์ประสิทธิผลเชิงประจักษ์ให้เห็นอย่างชัดเจน และเมื่อเทคโนโลยีพร้อมใช้ก็ผลักดันนำไปสู่ตลาด เพื่อให้เกิดการใช้ได้จริงบนราคาที่จับต้องได้ และกลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงการใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น    

          ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. กล่าวว่า การพัฒนาระบบ Well-Living Systems นี้ สอดรับกับทิศทางการสร้างเศรษฐกิจสูงวัย หรือ Silver Economy ที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุยุคใหม่หรือ Young Old (Yold) ที่ยังคงกระฉับกระเฉง มีกำลังซื้อ และต้องการเทคโนโลยีที่ช่วยให้พึ่งพาตนเองได้อย่างมีความสุข งานวิจัยจึงนับเป็นก้าวสำคัญในการรองรับสังคมอายุยืนของประเทศไทย ด้วยการผสานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของผู้สูงอายุและครอบครัว 

          ด้าน ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า หลังจาก สวทช. ได้พัฒนานวัตกรรมและระบบดูแลผู้ที่อยู่อาศัยตามลำพังแล้ว การทดสอบประสิทธิผลของระบบดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อการนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง ทั้งนี้ระบบดูแลผู้ที่อยู่อาศัยตามลำพัง นอกจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มผุ้สูงอายุแล้ว ยังมีกลุ่มเปราะบางอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยโรคต่างๆ ที่ต้องอยู่อาศัยตามลำพัง คนพิการ ฯลฯ สามารถใช้ประโยชน์ได้ด้วย ซึ่งงานวิจัยลักษณะแบบนี้จำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการสำรวจความต้องการของผู้ใช้ รวมถึงศึกษาและวางแผนเรื่องการตลาด เพื่อโอกาสของการขับเคลื่อนไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงมากยิ่งขึ้น และนอกจากการใช้ประโยชน์เฉพาะบุคคลแล้ว ยังเห็นโอกาสของการขยายการใช้ประโยชน์ไปยังสถานพยาบาลต่างๆ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ในชุมชนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาจนำไปให้บริการกับประชาชนในพื้นที่ โดยหมุนเวียนใช้ตามความจำเป็น  

          ทั้งนี้เทคโนโลยีระบบดูแลผู้อยู่อาศัยเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและปลอดภัย (ระบบ Well-Living Systems) เพื่อช่วยเฝ้าระวังเหตุการณ์ที่น่ากังวล เป็นอันตราย หรือเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง ขณะที่ผู้ดูแลไม่อยู่บ้าน เป็นระบบที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ เพื่อช่วยทำการเฝ้าระวังอย่างชาญฉลาด ด้วยการเรียนรู้และทำนายพฤติกรรมปกติของผู้อยู่อาศัยโดยอัตโนมัติ เช่น ระยะเวลาในการอยู่ในห้องน้ำ ความถี่ในการอยู่ในแต่ละพื้นที่ของบ้าน จำนวนครั้งของการเปิดปิดแต่ละประตูในช่วงเวลาต่างๆ ช่วงเวลากินยา เป็นต้น โดยเทคโนโลยีจะทำการเฝ้าระวังพฤติกรรมที่ผิดจากปกติ โดยปรับเกณฑ์การตรวจจับความผิดปกติจากพฤติกรรมปกติของผู้อยู่อาศัยโดยอัตโนมัติ รวมถึงมีการส่งข้อความแจ้งเตือนผู้ดูแลที่อยู่นอกบ้าน เมื่อระบบประเมินแล้วว่าอาจเกิดเหตุฉุกเฉินหรือพฤติกรรมที่ผิดปกติ โดยไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้อยู่อาศัยในบ้าน เนื่องจากไม่มีการใช้กล้องและอัดสียง รวมทั้งไม่เผยแพร่ข้อมูลพฤติกรรม มีเพียงแค่การแจ้งเตือนให้ผู้ดูแลด้วยข้อมูลที่จำเป็นเท่านั้น นอกจากนี้ยังสามารถช่วยเฝ้าระวังพฤติกรรมและเตือนให้ผู้สูงอายุไม่ลืมทำกิจกรรมที่สำคัญต่อสุขภาพ เช่น การกินยา การเคลื่อนไหวร่างกาย เป็นต้น โดยเทคโนโลยีดังกล่าวมีการทำงานด้วยระบบเซ็นเซอร์กับการตรวจจับความผิดปกติ 6 เรื่อง ได้แก่ 1) เซ็นเซอร์เฝ้าระวังความผิดปกติของการใช้เวลาในพื้นที่ต่างๆ เช่น เข้าห้องน้ำนานผิดปกติ 2) เซ็นเซอร์เฝ้าระวังการเคลื่อนไหว เช่น ไม่ได้เข้าห้องครัวตอนเช้าเหมือนปกติ อยู่ในห้องนั่งเล่นมากกว่าปกติ 3) เซ็นเซอร์เฝ้าระวังความผิดปกติของการเปิดปิดประตู เช่น เปิดประตูห้องน้ำช่วงดึกมากกว่าปกติ 4) ปุ่มบันทึกการกินยา เฝ้าระวังการลืมกินยาหรือการทำกิจกรรมที่ควรทำประจำ เช่น การออกกำลังกาย 5) ปุ่มขอความช่วยเหลือในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน 6) ลำโพงไร้สาย ช่วยสื่อสารในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อทางโทรศัพท์ได้ ทั้งนี้ระบบสามารถช่วยเฝ้าระวังผู้สูงอายุได้ตลอดเวลา และส่งการแจ้งเตือนไปยังผู้ดูแล ผ่านแอปพลิเคชันที่สามารถดูข้อมูลได้อย่างสะดวก 

          ด้านผลการทดสอบประสิทธิผลการทำงานของระบบในบริบทการใช้งานจริง โดยอาสาสมัครจำนวน 34 ครัวเรือน ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งแต่ละครัวเรือนจะมีตัวแทนทั้งผู้สูงอายุและผู้ดูแลร่วมในการทดสอบระบบ โดยได้มีการติดตั้งระบบ Well-Living Systems ในที่พักอาศัยของอาสาสมัคร ต่อเนื่องเป็นเวลา 2 เดือน และมีการติดตามผลการใช้งาน ตลอดจนทำการปรับปรุงระบบในระหว่างการทดสอบการใช้งานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลการทดสอบพบว่า ระบบ Well-Living Systems สามารถช่วยลดภาระของผู้ดูแล และช่วยเฝ้าระวังความปลอดภัยให้กับผู้สูงอายุแทนผู้ดูแลได้จริง หากเกิดเหตุฉุกเฉินและน่ากังวลกับผู้สูงอายุ พร้อมสร้างความอุ่นใจให้ทั้งผู้สูงอายุและผู้ดูแล ตลอดจนช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์และสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวได้อีกด้วย
...........................

[1] โครงการวิจัย การประยุกต์ใช้และทดสอบประสิทธิผลของระบบดูแลผู้อยู่อาศัยเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและปลอดภัยด้วยปัญญาประดิษฐ์ในบริบทการใช้งานจริงของครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพัง, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้