4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

สวรส. สร้างความเข้มแข็ง ‘ระบบสุขภาพปฐมภูมิ’ ผลักดันงานวิจัย-สร้างคลังข้อมูลแดชบอร์ด หนุนการถ่ายโอน รพ.สต. บนฐานความรู้

          หน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ ถือเป็นหน่วยบริการด่านแรกที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการตรวจคัดกรอง ดูแล รักษา ฟื้นฟู ตลอดจนสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ให้คนไทยกว่า 67 ล้านคนมีสุขภาพดี ลดการเจ็บป่วยตั้งแต่เนิ่นๆ รวมถึงไม่ให้เกิดการไปโรงพยาบาลใหญ่โดยไม่จำเป็น ซึ่งช่วงที่ผ่านมาเกิดการพลิกเปลี่ยน “ระบบสุขภาพปฐมภูมิ” ครั้งสำคัญ ทั้งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เห็นถึงความจำเป็นในการสร้างความเข้มแข็งของการจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชน รวมถึงในปี 2565 ที่มีการเดินหน้าเรื่องถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิที่มีมากที่สุดในประเทศ จากกระทรวงสาธารณสุข ไปสู่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) โดย 2 ปีที่ผ่านมา มีการถ่ายโอน รพ.สต. ถึง 4,276 แห่ง จากทั้งหมด 9,872 แห่ง มาอยู่ในสังกัด อบจ.[1] ทั้งนี้การพลิกเปลี่ยนดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อสนับสนุนให้เกิดการบริการที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องและครบวงจร ตลอดจนการสร้างองค์ความรู้ใหม่/นวัตกรรมบริการ เพื่อรับมือกับสถานการณ์และวิกฤตสุขภาพในอนาคต 

          สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงได้สนับสนุนทุนวิจัยให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นแกนหลักในการศึกษาวิจัย 2 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการศึกษาและพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่ออภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่น ภายใต้บริบทการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. และ 2) โครงการยกระดับศักยภาพการรับมือกับภาวะวิกฤตด้านสุขภาพด้วยนวัตกรรมการจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชน: กรณีศึกษาชุมชนพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด พร้อมร่วมกันจัดเวทีสาธารณะกับสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “จากปฏิบัติการพื้นที่สู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย: ความท้าทายระบบสุขภาพในมือของชุมชนและท้องถิ่น” เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2567 เพื่อเปิดเวทีและพื้นที่ในการนำเสนอนวัตกรรมและผลการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพปฐมภูมิ และระดมความคิดเห็นเพื่อขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบาย รวมถึงมีการประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือในการพัฒนาและขับเคลื่อนระบบสุขภาพท้องถิ่น โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมในรูปแบบ onsite และ online กว่า 1,500 คน จากหน่วยงานภาคีเครือข่าย อาทิ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมเทศบาลนครและเมือง (ส.ท.น.ม.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร อบจ.เชียงใหม่ อบจ.สงขลา อบจ.ลำปาง อบจ.นครราชสีมา อบจ.ขอนแก่น และ อบจ.ภูเก็ต ฯลฯ  

          ภายในงานยังมีการบรรยายในหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยชุมชนและท้องถิ่น หนึ่งในนั้นคือการบรรยายเรื่อง “การขับเคลื่อนระบบสุขภาพและท้องถิ่นบนฐานความรู้” โดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการ สวรส. ที่ย้ำชัดในความสำคัญของฐานความรู้จากงานวิจัยที่จะช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในแต่ละเรื่องได้อย่างชัดเจนและเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง/เหมาะสม โดยเฉพาะการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ และบทบาทของ สวรส. ต่อการสนับสนุนการพัฒนาดังกล่าว

          นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า กว่าที่ประเทศไทยจะพัฒนาระบบสุขภาพมาถึงจุดนี้จนได้รับการยกย่องจากนานาประเทศให้เป็นประทศที่มีระบบสุขภาพที่ดีเป็นอันดับ 5 ของโลกนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ แต่เป็นการวางรากฐานมาจากอดีตและพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ภายใต้การใช้ข้อมูลความรู้ที่มีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ในอดีตที่กระทรวงสาธารณสุขใช้ข้อมูลความรู้ในการทำแผนพัฒนาการสาธารณสุขแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ให้สอดรับไปกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 พ.ศ. 2504 - 2506 และมีการทำมาอย่างต่อเนื่อง ทุก 5 ปีตามวาระการทำแผนพัฒนาเศรษฐและสังคมแห่งชาติฯ กระทั่งมาถึงแผนฉบับที่ 9 ที่กลายเป็นแผนพัฒนาระบบสุขภาพที่มีความครอบคลุมในมิติที่กว้างกว่าด้านสาธารณสุข จนที่สุดแล้วนำไปสู่การเป็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาระบบสุขภาพไทยมากว่า 50 ปี ทั้งในด้านระบบบริการสุขภาพ และการสาธารณสุขมูลฐาน โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่า 1.09 ล้านคน เป็นข้อต่อเชื่อมโยงระหว่างรัฐกับประชาชน

          ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวต่อว่า การพัฒนาระบบสุขภาพก็เช่นเดียวกัน จำเป็นต้องใช้งานวิชาการในการสนับสนุน อย่างกรณีการถ่ายโอน รพ.สต. ให้กับท้องถิ่น ที่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพปฐมภูมิครั้งใหญ่ สวรส.ก็ได้มีการสนับสนุนทุนวิจัยในเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง เพราะหลายเรื่องจำเป็นต้องมีงานวิชาการเป็นหลักให้กับทาง อบจ. ซึ่งมารับไม้ต่อในการบริหารจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิร่วมกับชุมชน ได้นำไปใช้ประโยชน์ เช่น การจะจัดซื้อยาเอง การสร้างความร่วมมือในพื้นที่ การรับการจัดสรรงบประมาณค่าบริการจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง)

          “สวรส. ได้จัดทำคลังข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเรื่องถ่ายโอน รพ.สต. ในรูปแบบของ dash board ที่นำเสนอข้อมูลการถ่ายโอน รพ.สต.ฯ และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ความเป็นมาของการถ่ายโอน รพ.สต.ฯ, สถานการณ์การถ่ายโอน รพ.สต. ภาพรวมทั้งประเทศและรายพื้นที่, งานวิจัยฯลฯ เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูลให้กับผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานเกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก และนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนการถ่ายโอน รพ.สต.ฯ ให้เกิดประสิทธิภาพ ตลอดจนเป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด” นพ.ศุภกิจ กล่าว 

          ด้าน ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สวรส. ในเวทีห้องย่อยวิชาการหัวข้อ การพัฒนาระบบนิเวศน์ใหม่สู้วิกฤตอนาคต ได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า การพัฒนาระบบนิเวศน์ใหม่ ควรมีศูนย์กลางที่ระบบสุขภาพปฐมภูมิที่ดำเนินการโดยชุมชนเพื่อชุมชน ส่วนปัจจัยสนับสนุนให้เกิดความสำเร็จ อาทิ ชุมชนต้องมีภาวะผู้นำ และมีความรับผิดชอบร่วมต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชน ชุมชนต้องมีทั้งทุนภายในและทุนภายนอก ในแง่ของเครือข่ายความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการพัฒนา ชุมชนต้องมีระบบข้อมูลมาสนับสนุนการดำเนินงาน ฯลฯ ส่วนบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่ายภายใต้ระบบนิเวศใหม่ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรเอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันวิชาการ และหน่วยงานด้านสุขภาพอื่นๆ ต้องทำหน้าที่จัดวางทิศทางของระบบบริการให้ถูกต้องในสิ่งที่ควรจะเป็น เช่น การวางหลักสร้างเสริมสุขภาพแทนซ่อมสุขภาพ ส่วนหน่วยงานในระดับชุมชนควรให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกตามทิศทางดังกล่าว ควรมีการสร้างนวัตกรรมทั้งในเชิงบริการ เชิงระบบ และกระบวนการแก้ไขปัญหาสุขภาพในพื้นที่ โดยมีหน่วยพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา และระบบสนับสนุนด้านงบประมาณ

          ขณะที่ นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และหัวหน้าโครงการวิจัยฯ ทั้ง 2 โครงการที่นำเสนอในเวทีครั้งนี้ เผยว่า ข้อสรุปจากผลการศึกษาทั้ง 2 โครงการ ทำให้เห็นว่าต้องมีการพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งมีอยู่ 2 กลไกสำคัญ คือ สมัชชาสุขภาพจังหวัด และหน่วยวิชาการในพื้นที่ ในการอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่น โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในทุกระดับ ตั้งแต่การกำหนดนโยบายไปจนถึงการประเมินผล

          ส่วนข้อเสนอเชิงนโยบายมีทั้งหมด 8 ข้อ ได้แก่ 1) นโยบายในการถ่ายโอนและสนับสนุนการดำเนินงานของ รพ.สต. ภายใต้สังกัด อบจ. ต้องมีความชัดเจนและเป็นรูปธรรม 2) ควรมีการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนรวมของทุกภาคส่วนในการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมและความเป็นเจ้าของ 3) ควรมีการพัฒนาระบบข้อมูลดิจิทัลสุขภาพที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลทั้งในระดับพื้นที่และส่วนกลาง 4) ควรมีการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนากลไกความร่วมมือ เช่น คณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ เพื่ออภิบาลระบบระหว่าง อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 5) การติดตามประเมินผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง 6) ควรมีการสนับสนุนให้เกิดหน่วยพี่เลี้ยงชุมชน เพื่อเป็นกลไกในการทำงานร่วมกับชุมชนและหน่วยงานภายนอกในการยกระดับชุมชนให้มีศักยภาพ 7) เร่งพัฒนาศักยภาพของ อบจ. และแก้ไขปัญหาด้านระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดบริการ และ 8) ทดลองหรือนำร่องการสร้างรูปแบบใหม่ๆ ในการบริการ 

          “ข้อสรุปในภาพรวมและข้อเสนอเชิงนโยบายเหล่านี้ จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับนโยบายและพื้นที่ เห็นความเป็นไปได้ในการนำสิ่งที่เป็นปฏิบัติการในพื้นที่มาสังเคราะห์ในเชิงนโยบาย และนำนโยบายไปขยายผลในการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิโดยมีชุมชนและท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญ” นพ.ปรีดา ระบุ

..............................

ข้อมูลจาก
[1] (HSIU - ข้อมูลเกี่ยวกับการถ่ายโอน รพ.สต. (hsri.or.th))

รูปภาพเพิ่มเติม
aYlNlfdX
08 พ.ย. 67
Topic

1

Detail

20


aYlNlfdX
08 พ.ย. 67
Topic

1

Detail

20


nZkkAbWB
18 พ.ย. 67
Topic

1

Detail

20


Comment

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้