4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

สกัดความรู้จากงานวิจัยคุณภาพ ‘สร้างหลักสูตร’ เสริมศักยภาพคนทำงานด้าน ‘ความเปราะบาง’

          แม้ว่าประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพ และได้รับการยกย่องให้เป็นต้นแบบของนานาประเทศ จากการให้ความครอบคลุมประชากรได้มากถึง 99.5% ของประชากรทั้งหมด [1] แต่ทว่าก็ยังมีประชากรจำนวนหนึ่งที่มีความเปราะบาง ยังไม่สามารถเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพได้ ซึ่งหลากหลายครั้งที่เกิดวิกฤตด้านสุขภาพ พบว่าความเปราะบางที่เกิดขึ้นกับประชากรในหลายๆ กลุ่ม มักตกสำรวจ และได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามเหล่านั้นมากที่สุด 
   
          เราอาจคุ้นเคยกับคำว่าประชากรกลุ่มเปราะบาง อันได้แก่ คนพิการ เด็ก ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ผู้ต้องขัง พระสงฆ์ ฯลฯ จึงถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขต่างให้ความสำคัญ และมีการกำหนดยุทธศาสตร์ขึ้นมาเป็นการเฉพาะเพื่อแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิต อย่างไรก็ดี ด้วยบริบทที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาส่วนบุคคล สถานภาพทางสังคม เพศ ภาษา เชื้อชาติ ถิ่นกำเนิด วัฒนธรรม ฯลฯ ทำให้การขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ไม่ง่ายนัก ประกอบกับจริงๆ แล้ว ความเปราะบางเป็นพลวัต สามารถเกิดได้กับทุกคนเช่นกัน ขึ้นอยู่กับบริบทแวดล้อม ณ ขณะนั้น ซึ่งกลุ่มนักวิจัยที่ต้องลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อเท็จจริง ควรต้องทำความเข้าใจกับสภาพปัญหา เพื่อสกัดเป็นองค์ความรู้และข้อเสนอเชิงนโยบายที่สามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริง 

          ‘นักวิจัย’ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความเข้าใจในบริบทเหล่านั้น ทั้งในแง่องค์ความรู้ ทัศนคติ ซึ่งจะนำไปสู่การออกแบบ/ตั้งโจทย์วิจัยที่คมชัด และหาคำตอบเชิงประจักษ์เพื่อแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดมากที่สุด ซึ่งนี่คือแนวคิดที่ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ให้ความสำคัญ และได้สร้างความร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสนับสนุนทุนวิจัยให้กับสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (Thai Health Academy) องค์กรภายใต้ สสส. เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนและสร้างความรู้ภายใต้งานวิจัย “โครงการวิจัยพัฒนาระบบและแนวทางการวิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้ในการทำวิจัยเกี่ยวกับประชากรกลุ่มเปราะบาง เพื่อใช้ในการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยที่ส่งเสริมพลังและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรกลุ่มเปราะบาง” เพื่อใช้ในการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยที่ส่งเสริมพลังและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรกลุ่มเปราะบาง โดยเป้าหมายของงานวิจัยคือการสกัดองค์ความรู้จากนักวิจัยที่ทำงานเกี่ยวกับประชากรกลุ่มเปราะบาง เพื่อจัดทำเป็นหลักสูตรกลาง นำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาศักยภาพคนทำงานวิจัยด้านความเปราะบาง รวมถึงสถานศึกษา หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน ที่สามารถนำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาทักษะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างเป็นรูปธรรม

          ดร.บุษบงก์ วิเศษพลชัย ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาศักยภาพ สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพฯ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ เล่าว่า งานวิจัยด้านประชากรกลุ่มเปราะบางในประเทศไทยมีจำนวนมาก และถึงแม้ว่าส่วนหนึ่งจะไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงนโยบาย แต่ในกระบวนการทำวิจัยนั้นๆ สามารถนำไปสร้างเป็นองค์ความรู้และขยายผลต่อได้ เช่น ต่อยอดการจัดการให้เกิดกระบวนการเพื่อพัฒนาแนวทางการวิจัย หรือต่อยอดข้อมูลเพื่อสะท้อนออกมาเป็นเจตคติที่ถูกต้องสำหรับผู้ที่จะทำงานวิจัยในอนาคต ซึ่งสิ่งเหล่านี้เรียกว่า Tacit Knowledge หรือความรู้แฝงฝัง ที่เป็นความรู้จากความเข้าใจอันลึกซึ้ง และเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่ได้ทำงานวิจัย เช่น การลงพื้นที่มีสิ่งใดที่ต้องใส่ใจ ต้องระมัดระวัง โดย Tacit Knowledge จะเป็นหัวใจสำคัญที่อาจเป็นกลเม็ดหรือเคล็ดลับความสำเร็จในการทำงานวิจัยที่มีคุณภาพ และมีศักยภาพมากขึ้น 

          “โครงการวิจัยพัฒนาระบบและแนวทางการวิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้ในการทำวิจัยเกี่ยวกับประชากรกลุ่มเปราะบางฯ นี้ ทีมวิจัยลงพื้นที่และทำงานคู่กับนักวิจัยเครือข่าย สวรส. จำนวน 22 โครงการ (จาก สวรส. 12 โครงการ และจากสสส. 12 โครงการ) เพื่อถอดกระบวนการวิจัยที่มุ่งเน้นการทำวิจัยในประชากรกลุ่มเปราะบางหลากหลายกลุ่ม เพื่อถอดความรู้ที่เป็น Tacit Knowledge ของนักวิจัยออกมา แล้วสกัดออกมาเป็นหลักสูตรกลาง ที่เป็นแก่นสำคัญสำหรับใช้อบรมให้กับนักวิจัยที่สนใจประเด็นความเปราะบางในสังคม” ดร.บุษบงก์ อธิบาย 

          หลักสูตรกลางที่พัฒนาขึ้น แบ่งเป็น 2 หลักสูตร ได้แก่ 1) หลักสูตรเพื่อพัฒนาตัวตนภายในของนักวิจัย และคนทำงานกับเรื่องความเปราะบาง 2) หลักสูตรเพื่อพัฒนาศักยภาพนักวิจัย คนทำงานกับเรื่องความเปราะบาง ซึ่งปัจจุบัน ทั้ง 2 หลักสูตรนี้ อยู่ระหว่างการทดลองใช้กับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มเปลือกไข่ คือกลุ่มนักวิจัยและบุคลากรที่สนใจการขับเคลื่อน หรือจะเริ่มต้นทำงานวิจัยด้านความเปราะบาง 2) กลุ่มไข่ขาว คือกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ในพื้นที่และปฏิบัติงานกับกลุ่มเปราะบาง เพื่อให้มีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับการดูแลสุขภาวะกลุ่มเปราะบาง และ 3) กลุ่มไข่แดง คือกลุ่มนักวิจัยที่ทำงานด้านความเปราะบางอยู่แล้ว ซึ่งหลักสูตรนี้จะช่วยพัฒนาศักยภาพในการทำงานให้เข้มแข็งมากขึ้น

          “หลักสูตรดังกล่าวจะเปิดตัวอย่างทางการในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2568 และจะมีการติดตามประเมินผลจากคน 3 กลุ่มดังกล่าว เพื่อวัดผลสำเร็จของหลักสูตร ซึ่งคงต้องใช้เวลา เพราะเมื่ออบรมไปแล้ว ต้องปล่อยให้นักวิจัยทั้ง 3 กลุ่ม ได้ทำงานก่อน ซึ่งผลที่ได้จะเป็นหลักฐานที่ย้อนกลับมายังหลักสูตรว่าได้ผลดีหรือไม่” ดร.บุษบงก์ ระบุ

          ศ.ดร.นพ.นันทวัช สิทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพฯ กล่าวว่า เมื่องานวิจัยเสร็จสมบูรณ์ เชื่อว่าจะเป็นหลักสูตรที่สำคัญของประเทศไทยที่จะช่วยยกระดับนักวิจัยที่ทำงานในกลุ่มประชากรเปราะบาง ให้ได้มีทักษะที่จำเป็นต่อการทำวิจัย เพราะนักวิจัยคือเครื่องมือหลักของกระบวนการวิจัยทั้งหมด หากนักวิจัยมีความรู้ มีความแม่นยำในโจทย์วิจัย และลงมือวิจัยอย่างเข้มข้น ก็จะได้ผลลัพธ์เชิงนโยบายที่มีประสิทธิภาพ สามารถนำไปสู่การตัดสินใจเพื่อเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนา รวมไปถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรกลุ่มเปราะบางให้ดีขึ้น และหวังมากไปกว่านั้นว่า งานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นหลักสูตรกลางที่สามารถต่อยอดไปเป็นหลักสูตรนานาชาติ สำหรับประเทศต่างๆ ที่มีปัญหาประชากรกลุ่มเปราะบาง ได้มาเรียนรู้และนำไปต่อยอดในการแก้ปัญหาของประเทศตนเองต่อไป 

          ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า สวรส. มียุทธศาสตร์สำหรับขับเคลื่อนประเด็นความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ซึ่งให้ความสำคัญกับประชากรกลุ่มเปราะบางที่ยังพบปัญหาในการเข้าถึงบริการสุขภาพ และทำให้มีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพมากกว่าคนทั่วไป ฉะนั้นในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัย สวรส.จึงอยากให้นักวิจัยมีความเข้าใจกับปัจจัยแวดล้อมทั้งหมดที่จะทำให้เกิดความเปราะบางรวมถึงสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งเป็นศักยภาพที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นการทำงานด้านความเปราะบางให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น 

          ทพ.จเร กล่าวอีกว่า คาดว่าเมื่อหลักสูตรสมบูรณ์จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการอบรมให้กับนักวิจัยเครือข่าย สวรส. ก่อนเป็นลำดับแรก โดยจะมุ่งเน้นนักวิจัยในกลุ่มสุขภาพจิต กลุ่มยาเสพติด และกลุ่มคนพิการ ซึ่งจะมีการวัดผลโดยดูว่านักวิจัยกลุ่มต่างๆ นี้จะสามารถเขียนโครงการวิจัยที่คมชัด และสามารถตอบโจทย์กับปัญหาสังคมได้หรือไม่ ทั้งจะสะท้อนให้เห็นว่าเมื่อโจทย์วิจัยถูกต้องและชัดเจน ก็จะบรรลุเป้าหมายที่ชัดเจนเช่นกัน โดยอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณที่สูงก็สามารถจัดการปัญหาในพื้นที่ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม 
   
          ทั้งนี้หลักสูตรดังกล่าวจะถูกออกแบบให้เหมาะสมกับวิธีการเรียนรู้ โดยมีกระบวนการและกิจกรรมที่รวบรวมองค์ความรู้ทั้ง Explicit Knowledge และ Tacit Knowledge ที่สกัดมาจากงานวิจัยที่มีความแตกต่างหลากหลาย และสุดท้ายจะนำไปสู่การออกแบบการประเมินผล เพื่อให้เห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม และสามารถขยายผลต่อได้ ซึ่งแน่นอนว่าเป้าหมายสุดท้ายที่เป็นประโยชน์สูงสุดคือ การยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างสุขภาวะให้กับประชากรกลุ่มเปราะบาง และสร้างความเป็นธรรมในสังคมได้มากขึ้น
............................

ข้อมูลจาก
[1](https://www.economist.com/asia/2024/07/04/why-is-thai-health-care-so-good)

รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้