4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

สวรส.-จุฬา เดินหน้าวิจัยประเมินผลกระทบ การให้วัคซีนตับอักเสบของประเทศไทย พร้อมใช้ข้อมูลเคลื่อนเป้า ‘ขจัดโรคหมดไปภายในปี 2573’

          เชื้อไวรัสตับอักเสบ บีและซี เป็นหนึ่งในต้นทางสำคัญของโรคร้ายที่จะนำไปสู่ความเจ็บป่วยจนถึงขั้นเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นโรคตับอักเสบ ภาวะตับแข็ง รวมถึงมะเร็งตับ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซีจึงนับเป็นภัยคุกคามสุขภาพร้ายแรง ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ทั้งนี้รายงานจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2564 ได้ระบุถึงสถานการณ์ของไวรัสตับอักเสบว่า ในปี พ.ศ. 2562 ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังรายใหม่ จำนวนประมาณ 1.5 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิต ราว 8.2 แสนรายต่อปี [1] สำหรับสาเหตุการเกิดโรคไวรัสตับอักเสบ เอ ติดต่อจากคนสู่คนผ่านทางอาหาร หรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส, ไวรัสตับอักเสบ บี ติดต่อทางเลือด เพศสัมพันธ์ และจากแม่สู่ลูก, ไวรัสตับอักเสบ ซี ติดเชื้อทางเลือด การใช้ของมีคมร่วมกัน [2]
 
          ทั้งนี้จากภัยคุกคามตามสถานการณ์ข้างต้น ประเทศไทยได้จัดทำยุทธศาสตร์ “กำจัดโรคไวรัสตับอักเสบ พ.ศ.2565-2573” ขึ้น เพื่อดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาไวรัสตับอักเสบที่สอดคล้องกับเป้าหมายของ WHO ที่จะขจัดไวรัสตับอักเสบให้เหลือน้อยที่สุดภายในปี พ.ศ. 2573 [3] อย่างไรก็ดี แม้ว่าแนวโน้มของการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บีและซีของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงมาอย่างต่อเนื่อง เพราะมีการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีในเด็กแรกเกิดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2535 แต่แน่นอนว่า การจะไปถึงเป้าหมายขจัดโรคไวรัสตับอักเสบตามนโยบายของ WHO นั้น การศึกษาวิจัยเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการทบทวนแผนและพัฒนานโยบายขจัดโรคไวรัสตับอักเสบในระยะต่อไป เพื่อให้โรคไวรัสตับอักเสบเหลือน้อยที่สุดในอีก 6 ปีข้างหน้า 
   
          สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนงานวิจัยเพื่อพัฒนานโยบายระบบสุขภาพของประเทศ จึงได้ร่วมสนับสนุนงานวิจัย “การประเมินผลกระทบการให้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีในงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแห่งชาติ หลังจากดำเนินการมา 30 ปี และความชุกของโรคตับอักเสบเอ บี และซี ในประเทศไทย” โดยมี ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการในฐานะหัวหน้าโครงการ

          ศ.นพ.ยง อธิบายถึงกรอบแนวคิดการดำเนินงานวิจัยว่า การวิจัยครั้งนี้เป็นไปเพื่อทำให้ทราบข้อมูลขั้นพื้นฐานที่ต่อยอดจากงานวิจัยที่ทำมาทุกๆ 10 ปี รวมถึงติดตามเรื่องการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสตับอักเสบที่ดำเนินงานมาแล้ว ราว 30 ปี ว่าประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด กล่าวคือเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา เรารู้ว่ามีประชากรประมาณ 2 ล้านคน ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังทั้งรายใหม่และรายเก่า และก็รู้ว่าประชากรไทยประมาณ 7 แสนคน ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ตอนนี้จึงจำเป็นต้องมีการประเมินอีกครั้งว่ายอดการติดเชื้อลดลงเท่าไหร่ ดังนั้นโครงการนี้จึงมุ่งหาข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์การป้องกันโรคตับอักเสบ เพื่อติดตามความก้าวหน้าของงานป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ และประสิทธิภาพของการให้วัคซีนตับอักเสบบีในประชากรไทย โดยเปรียบเทียบความชุกในประชากรกลุ่มที่ไม่เคยได้รับวัคซีน สำหรับผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป และกลุ่มที่ได้รับวัคซีนเมื่อแรกเกิด นอกจากนี้ ความสำคัญอีกด้านหนึ่งของงานวิจัยคือ การมีข้อมูลที่จะแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของประเทศไทยต่อ WHO ถึงการขจัดโรคไวรัสตับอักเสบให้เหลือน้อยที่สุดภายในปี 2573 ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของระบบเฝ้าระวังโรคของประเทศไทยด้วยว่าจะมีทิศทางอย่างไร ทั้งนี้ตัวเลขการติดเชื้อของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่ WHO ต้องการคือ น้อยกว่าร้อยละ 0.1 ซึ่งประเทศไทยมีข้อมูลในปี พ.ศ. 2557 ระบุตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 0.14 ซึ่งยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายของ WHO 

          ศ.นพ.ยง ระบุว่า แม้สถานการณ์การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจะพบว่า มีแนวโน้มลดลง เช่นเดียวกันกับการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งเหตุผลหลักมาจากการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนเข็มแรกในเด็กแรกเกิด (ภายใน 12 ชั่วโมง) แต่ก็ยังจำเป็นต้องค้นหาผู้ที่ติดเชื้อให้ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่อายุเกิน 30 ปีขึ้นไป หรือเกิดหลังปีที่มีการให้วัคซีนป้องกันไวรัส ฉะนั้นปัญหาจึงอยู่ในกลุ่มที่เกิดก่อนปี พ.ศ. 2535 หรือคิดเป็นร้อยละ 5 ของประชากรไทย ที่จะมีโอกาสติดเชื้อไวรัสเรื้อรัง และนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งตับ หรือตับแข็งได้ในอนาคต ส่วนผู้ที่เกิดหลัง พ.ศ. 2535 มีโอกาสเป็นพาหะต่ำมาก เพราะวัคซีนสามารถป้องกันได้มากกว่า 94%

          ทั้งนี้งานวิจัยการประเมินผลกระทบการให้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีในงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแห่งชาติฯ จะทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวนประมาณกว่า 6,000 คน ใน 4 จังหวัด ประกอบด้วย พระนครศรีอยุธยา บุรีรัมย์ ตรัง และอุตรดิตถ์ เพื่อศึกษาการติดเชื้อ การเป็นพาหะ และระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคตับอักเสบบีในประชากรไทยกลุ่มอายุต่างๆ ซึ่งจะทำให้ทราบถึงแนวโน้มการติดเชื้อหลังการฉีดวัคซีนป้องกัน ตลอดจนประเมินการเปลี่ยนแปลงของภาวะภูมิคุ้มกันต่อโรคตับอักเสบบีในเด็กกลุ่มที่ได้รับ และไม่เคยได้รับวัคซีน จากระยะเวลาที่ผ่านไป 30 ปี นอกจากนี้ งานวิจัยยังศึกษาความชุกของการติดเชื้อ และภูมิคุ้มกันต่อโรคตับอักเสบเอ บี และซีในประชากรกลุ่มอายุต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันของประเทศไทย แล้วท้ายที่สุดจะสังเคราะห์เป็นแนวทางการกำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมให้เพิ่มประสิทธิผลและประสิทธิภาพของงานควบคุม ป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ และงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในประเทศไทย ตลอดจนยังเป็นข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปวางแผนหรือจัดทำงบประมาณเพื่อการรักษา ป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบได้อีกด้วย

          ด้าน ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า สวรส. ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการศึกษาวิจัยด้านการประเมินผลกระทบการให้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ บี ในงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแห่งชาติ เพื่อศึกษาอัตราการติดเชื้อ การเป็นพาหะ และระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคตับอักเสบ บี ในประชากรไทยกลุ่มวัยต่างๆ นอกจากนั้นในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายการขจัดไวรัสตับอักเสบในประเทศไทยให้หมดไปหรือเหลือน้อยที่สุดได้นั้น ประชากรไทยโดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ บีและซี และถ้ามีการติดเชื้อ จะต้องเข้าสู่กระบวนการรักษา ทั้งนี้ไวรัสตับอักเสบซี สามารถรักษาให้หายขาดได้ ไวรัสตับอักเสบบี สามารถรักษาเพื่อไม่ให้เกิดการดำเนินของโรคตับแข็งและมะเร็งตับ รวมทั้งสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคตับที่เกิดจากไวรัสตับอักเสบได้
..........................

ข้อมูลจาก: การประเมินผลกระทบการให้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีในงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแห่งชาติ หลังจากดำเนินการมา 30 ปี และความชุกของโรคตับอักเสบ เอ บี และ ซี ในประเทศไทย, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข 
[1] (https://ddc.moph.go.th/uploads/publish/1466820230926064645.pdf)
[2] https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/hepatitis,https://he02.tci-thaijo.org/index.php/sanpasit_medjournal/article/view/249375/169496
[3] (https://ddc.moph.go.th/uploads/publish/1380720230302102651.pdf)

รูปภาพเพิ่มเติม
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้