สกู๊ปและบทความจากงานวิจัย สวรส. ในรูปแบบบทความที่เข้าใจง่าย
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็วเช่นที่ผ่านมา ยังมีประชาชนจำนวนนับล้านคนที่ยังเข้าไม่ถึงผลประโยชน์จากการพัฒนา กลายเป็นกลุ่มเปราะบางทางสังคมด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อน และเป็นกลุ่มคนที่ขาดโอกาสและขาดความสามารถที่จะรับมือกับปัญหาต่างๆ หากจะพิจารณาในเชิงตัวเลข จะพบว่าในสังคมมีเด็กๆ กลุ่มเปราะบางไม่น้อยกว่า 3.7 ล้านคน และในจำนวนดังกล่าว 15% เกิดจากแม่วัยใส 10% ยังขาดการส่งเสริมพัฒนาการอย่างเข้าใจ และ 32% มีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ รวมทั้งยังมีเด็กออทิสติก สมาธิสั้น และมีความต้องการพิเศษด้านการเรียนรู้อยู่ราว 45% นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งมีจำนวน 22,835 คน มีผู้สูงอายุจำนวนมากถึง 1 ใน 4 ที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำสุด และร้อยละ 14 ของผู้สูงอายุมีรายได้ไม่เพียงพอ[1]
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงร่วมกับคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผลักดันงานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปรากฏการณ์ปัญหาเด็กและผู้สูงอายุ โดยมีเครือข่ายครอบครัว ชุมชน และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่เป็นฐานสำคัญ ภายใต้การดำเนินงานวิจัย “สถานการณ์ ผลกระทบ และทางออกของระบบยาของผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังในชุมชนภาคใต้” และ “โครงการครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข เพื่อขับเคลื่อนครอบครัวสุขภาวะในระดับชุมชนผ่านแนวคิดการประเมินเชิงการพัฒนา จ.พิจิตร” โดย สวรส. และทีมวิจัยได้มีการนำเสนอผลการวิจัยเบื้องต้นต่อผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นในการขับเคลื่อนการดำเนินงานระยะต่อไป
ผศ.ดร.ภญ.ธิดา โสตถิโยธิน อาจารย์ประจำสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หนึ่งในทีมวิจัย โครงการวิจัยสถานการณ์ ผลกระทบ และทางออกของระบบยาของผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังในชุมชนภาคใต้ กล่าวว่า งานวิจัยได้หยิบยกประเด็นเรื่องการใช้ยาของผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังในชุมชนภาคใต้ โดยใช้ชุมชนในเขต อ.ท่าศาลา และ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช และชุมชนในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นพื้นที่สะท้อนสถานการณ์ ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า สภาพครอบครัวและการดูแลของผู้สูงอายุมีความซับซ้อน โดยในพื้นที่พบกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความแตกต่างหลากหลาย ได้แก่ กลุ่มที่พึ่งตนเองได้ดี กลุ่มที่มีความซับซ้อน และกลุ่มเปราะบาง นำไปสู่ข้อเสนอแนะเรื่องการจัดบริการที่เหมาะสมและเฉพาะเจาะจงต่อเงื่อนไขของชีวิตและความต้องการที่หลากหลาย เช่น กลุ่มที่พึ่งตนเองได้ดีควรส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ป่วย กลุ่มที่มีความซับซ้อนควรจัดสรรเวลาและออกแบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะที่กลุ่มเปราะบางควรมีบริการที่บูรณการความช่วยเหลือจากสหวิชาชีพหรือหลายภาคส่วน ทั้งนี้ผลจากการสำรวจยังสะท้อนให้เห็นสถานการณ์ด้านการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยสูงอายุ อันได้แก่ การเข้าถึงสิทธิการรักษา สถานการณ์ภาวะโรคที่พบ และพฤติกรรมการใช้ยา ซึ่งทีมวิจัยอภิปรายไว้อย่างน่าสนใจว่า ข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งตอกย้ำว่าประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุในประเทศไทยสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้เป็นอย่างดี ใกล้บ้านมากขึ้น มีสวัสดิการรักษาฟรี แต่ยังมีค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็น ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าเสียโอกาสของผู้ดูแล รวมถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ความเสี่ยงจากการเดินทาง ซึ่งทีมวิจัยพบว่า มีผู้สูงอายุในชนบทจำนวนไม่น้อยเดินทางมายังสถานบริการด้วยมอเตอร์ไซค์และจักรยาน ซึ่งนำมาสู่คำถามที่น่าสนใจว่า ระบบขนส่งสาธารณะที่จัดโดยท้องถิ่นจะเป็นทางออกของเรื่องนี้ได้หรือไม่
ประเด็นสำคัญที่เป็น highlight ของการนำเสนอของทีมวิจัยในเวทีนี้คือ บทสรุปที่พบว่าปัญหาการใช้ยาและผลกระทบจากการใช้ยาของผู้สูงอายุ ไม่ใช่ผลของสถานะสุขภาพและสภาพครอบครัวแบบตรงไปตรงมา แต่กลับเป็นผลของความสมดุลระหว่างสถานะสุขภาพ สภาพครอบครัว และระบบบริการสุขภาพที่มีความเลื่อนไหลอยู่ตลอดเวลา สถานะสุขภาพเป็นปัจจัยที่มีแนวโน้มทรุดลง ถอยลงตลอดเส้นทาง ส่วนครอบครัว การดูแล และผู้ดูแล มีแนวโน้มอ่อนล้า ถดถอย ในขณะที่ระบบบริการเป็นขาเดียวที่มีความเป็นไปได้ที่จะยืดหยุ่น เปรียบได้กับเก้าอี้ 3 ขา ที่สะท้อนให้เห็นความเปราะบางของผู้สูงอายุ ซึ่งระบบบริการนับเป็นจุดคานงัดสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนและสร้างสมดุลให้ทั้ง 3 ขา สามารถประคองให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี
สำหรับงานวิจัย “โครงการครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข: โครงการวิจัยเพื่อขับเคลื่อนครอบครัวสุขภาวะในระดับชุมชนผ่านแนวคิดการประเมินเชิงการพัฒนา จ.พิจิตร” ถูกฉายภาพงานวิจัยโดย รศ.ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ซึ่งได้อธิบายว่า จากผลวิจัยพบว่าเด็กหลายคนไม่มีคนดูแล ถูกปล่อยให้อยู่กับมือถือ มีผลต่อพัฒนาการที่เหมาะสม ซึ่งถึงแม้ในภาพรวม 80% มีพัฒนาการปกติ แต่ควรส่งเสริมเรื่องการอ่าน และโภชนาการที่เหมาะสม, 15% มีพัฒนาการช้า มีปัญหาด้านอารมณ์และทักษะการพูด มักพูดด้วยภาษาการ์ตูน ซึ่งกลุ่มนี้ควรได้รับการคัดกรองให้เร็ว และควรมีการสร้างสิ่งแวดล้อมในการส่งเสริมพัฒนาการ ส่วนอีก 5% มีพัฒนาการช้า มีอาการของโรคออทิสซึม และมีปัญหาด้านการเรียนรู้ เป็นกลุ่มที่ต้องค้นหาและคัดกรองให้เร็วเช่นกัน เพื่อส่งต่อผู้เชี่ยวชาญแก้ปัญหา ทั้งนี้งานวิจัยได้มีการรวบรวมข้อเท็จจริงของปรากฏการณ์ต่างๆ และวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่มีความซับซ้อนด้วยมุมมองเชิงระบบ เพื่อนำไปสู่การทบทวนโดยผู้เกี่ยวข้อง และค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา โดยใช้การประเมินเชิงพัฒนา (Developmental Evaluation) เป็นกรอบการทำงาน บนหลักการ สร้างพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกัน มองให้เห็นปัญหาเด็กและครอบครัวในฐานะ “อาการ” ของวิกฤติสังคมที่เชื่อมโยงกันเป็นระบบอย่างซับซ้อนและหยั่งลึกไปถึงระดับกระบวนทัศน์ (Head) การเรียนรู้ที่จะวางใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่บีบคั้นกดดัน และสงบเย็น (Heart) และ การสร้างเครือข่ายกัลยาณมิตรในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสังคม (Harmony) โดยมีกลยุทธ์ของการขับเคลื่อนคือการเปิดพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกัน เช่น เวทีประชุมเครือข่ายระดับอำเภอเพื่อรวบรวมและวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ ค้นหาทางออก ตกผลึกร่วมกัน การลงพื้นที่รวบรวมข้อมูล โดยใช้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นพื้นที่ปฏิบัติการและจุดคานงัดสำคัญ เรียนรู้ข้อมูลของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก การคัดกรองพัฒนาการเด็กโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการลงเยี่ยมครอบครัวเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการ การพัฒนาศักยภาพครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและผู้ปกครองให้สามารถคัดกรองพัฒนาการเด็กเบื้องต้น และพัฒนาระบบการส่งต่อเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ฯลฯ มีการทำงานร่วมกับครอบครัว ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หน่วยบริการสาธารณสุข และภาคเอกชน ซึ่งจากงานวิจัยนี้ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม เกิดเครือข่ายการทำงาน และเกิดความหวังในการขับเคลื่อนร่วมกันในระยะยาว
นอกจากนี้ในเวทีการนำเสนอผลวิจัย ยังมีประเด็นที่น่าสนใจจากผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ การใช้ศาสตร์ด้านดนตรีมาสนับสนุนการป้องกันและแก้ปัญหาเด็กและผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ผู้ดูแลกลุ่มเปราะบางทั้งสองกลุ่มก็ควรได้รับการเยียวยาด้วยดนตรีเช่นกัน ซึ่งศาสตร์ด้านดนตรีมีหลักทางวิชาการชัดเจนว่า สามารถส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ทั้งด้านพัฒนาการและอารมณ์ความรู้สึก โดยในประเด็นการแก้ปัญหาเด็กควรมองกว้างมากกว่าเรื่องสุขภาพ เพื่อสนับสนุนให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพในทุกมิติ, อาจพัฒนาสวัสดิการให้แก่ครอบครัว ในการให้คำปรึกษาและการช่วยเหลือด้านอื่นๆ และในช่วงที่สังคมกำลังให้ความสำคัญกับเรื่องเด็กเกิดน้อย ถือเป็นโอกาสดีที่จะหยิบยกประเด็นการพัฒนาคุณภาพคนตั้งแต่เด็กมาเป็นวาระแห่งชาติในเวลาเดียวกัน
ด้าน ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า การวิจัยในพื้นที่ทำให้เห็นข้อมูลเชิงประจักษ์ของปัญหาที่ชัดเจน และเห็นถึงต้นทุนที่มีในพื้นที่ กรณี จ.พิจิตร เห็นข้อมูลชัดเจนว่า สามารถเชื่อมประสานเครือข่ายให้มีแรงจูงใจในการร่วมกันคิด ร่วมกันหาทางออก ซึ่งงานวิจัยเป็นเพียงการเสนอข้อมูลปลายทางของปัญหา แต่การแก้ปัญหาเป็นเรื่องที่คนหน้างานในพื้นที่ต้องทำเองโดยมีความรู้นำทางเพื่อความยั่งยืน แม้งานวิจัยในลักษณะแบบนี้ เป็นงานวิจัยที่ต้องใช้เวลาในระยะยาวถึงจะเห็นผลหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แต่ สวรส. ก็เชื่อว่าต้องทำตั้งแต่วันนี้เพื่อวันพรุ่งนี้ และโจทย์สำคัญต่อมาคือ เราต้องช่วยกันขับเคลื่อนงานวิจัยไปสู่การนำไป implement, การมีตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับภาพที่ควรจะเป็น, การสร้างกลไกให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืนในพื้นที่ ตลอดจนการเชื่อมโยงภาพใหญ่
เชิงระบบต่อไป
.......................
ข้อมูลจาก
[1] การประชุมนำเสนอผลงานวิจัยและขับเคลื่อนนโยบายสังคมไม่ทอดทิ้งกัน ต่อผู้มีส่วนได้เสีย จัดโดย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยมหิดล
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้