ในวันที่ 18 ธ.ค. ของทุกปี ถือเป็น ‘วันผู้อพยพผู้ย้ายถิ่นฐานสากล’ หรือ International Migrants Day ทั้งนี้เพื่อให้ทุกคนได้ร่วมตระหนักถึงความสำคัญของ ‘ประชากรข้ามชาติ’ ตลอดจนร่วมกันสร้างความร่วมมือเพื่อให้เกิด ‘การเคลื่อนย้ายที่ปลอดภัย’ และการจัดการที่ดีของประเทศปลายทาง
สำหรับการดูแลสุขภาพและการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย เป็นเรื่องที่หลายหน่วยงานทั้งในประเทศไทยและนานาชาติมีความร่วมมือกันในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด และหนึ่งในนั้นคือการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลก ค.ศ. 2022-2026 (WHO-RTG Country Cooperation Strategy : CCS) ซึ่งมี สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ทำหน้าที่เป็นแกนกลางในฐานะ ‘หน่วยงานรับผิดชอบหลักในการบริหารแผนงานสุขภาพประชากรข้ามชาติ’ (Migrant Health)
ความร่วมมือภายใต้แผนยุทธศาสตร์ CCS ระหว่างไทยกับ WHO เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2002 โดยมุ่งเป้าไปที่แผนงานหรือกำหนดประเด็นที่มีผลกระทบสูง เป็นปัญหาระดับประเทศที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง โดยมีการระดมทุนจากหลายองค์กรมารวมกันไว้ที่เดียว (Pooled fund) แล้วบริหารจัดการเงินทุนเพื่อให้บรรลุภารกิจในประเด็นนั้นๆ ด้วยระบบริหาร ระบบตรวจสอบ ระบบรายงานและประเมินผลระบบเดียว โดยแผนงานสุขภาพประชากรข้ามชาติได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2017
ดังนั้นเนื่องในวัน International Migrants Day ปีนี้ สวรส. จึงร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) องค์การอนามัยโลก (WHO) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมวิชาการเรื่อง สุขภาพประชากรข้ามชาติ ขึ้น เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2566 เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนสถานการณ์และองค์ความรู้ด้านสุขภาพประชากรข้ามชาติระหว่างภาคนโยบาย ภาคปฏิบัติ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการด้านสุขภาพประชากรข้ามชาติ อันจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงนโยบาย และเพื่อให้สังคมเกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญต่อการจัดบริการสุขภาพสำหรับประชากรข้ามชาติ ตลอดจนเกิดการยกระดับการทำงานร่วมกันในอนาคต โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ องค์กรภาคเอกชน องค์กรระหว่างประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นสุขภาพประชากรข้ามชาติเข้าร่วมกว่า 90 คน ณ โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี
ข้อมูลตอนหนึ่งจากการประชุมวิชาการ ช่วยทำให้เห็นภาพประชากรข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทย โดย ดร.สุรสักย์ ธไนศวรรยางค์กูร ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาพประชากรข้ามชาติ สวรส. อธิบายว่า Migrant คือผู้ที่ไม่ใช่สัญชาติไทย (Non-Thai citizen) ที่อยู่ในประเทศไทย โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ 1) ผู้ที่มีเอกสารถูกต้อง ซึ่งมักเป็นแรงงานที่มีทักษะ เป็นผู้ที่เข้ามาประกอบอาชีพ ประกอบธุรกิจ และเข้าเมืองมาแบบถูกกฎหมาย 2) แรงงานที่เข้ามาทำงานผ่านการทำ MOU กับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งสัญชาติเมียนมา ลาว กัมพูชา ซึ่งเข้าเมืองมาแบบถูกกฎหมาย และ 3) กลุ่มผู้ที่ไม่มีเอกสารใดๆ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่ก็มีกฎหมายบางมาตราที่เปิดช่องให้คนกลุ่มนี้ทำงานได้ชั่วคราว
อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากสำนักบริหารจัดการต่างด้าว กรมการจัดหางาน เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติที่ลงทะเบียน 2.59 ล้านคน แบ่งเป็น เมียนมา 1.72 ล้านคน กัมพูชา 3.79 แสนคน ลาว 2.27 แสนคน เวียดนาม 1,398 คน และประเทศอื่นๆ 2.58 แสนคน ในจำนวนนี้มีถึง 54.6% หรือ 1.41 ล้านคน ที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล
ในแง่ประกันสุขภาพ จากการสำรวจในพื้นที่กรุงเทพมหานครพบว่า มีผู้ที่มีหลักประกันสุขภาพประมาณ 91% และในจำนวนนี้แบ่งเป็นเข้าสู่ระบบประกันสังคม 87% และซื้อบัตรประกันสุขภาพ 13% ซึ่งความท้าทายในเรื่องนี้ก็คือ การที่จะทำให้ประชากรข้ามชาติเข้าถึงหลักประกันสุขภาพได้นั้น รากฐานสำคัญคือระบบการเงินและงบประมาณ ถัดจากนั้นคือเรื่องนโยบายของประเทศ โดยต้องพัฒนาศักยภาพอาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ให้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนเชื่อมต่อระบบบริการระหว่างผู้ให้บริการสุขภาพกับประชากรข้ามชาติ ตลอดจนพัฒนาทัศนคติของผู้ให้บริการและระบบบริการให้มีความเข้าใจประชากรข้ามชาติ รวมถึงจัดทำระบบข้อมูลสุขภาพประชากรข้ามชาติให้มีความชัดเจน
ขณะที่ข้อมูลของกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปัญหาสาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกับหลายปัจจัย ทั้งความไม่สงบของประเทศเพื่อนบ้าน การเคลื่อนย้ายประชากร โรคระบาดตามแนวชายแดน อาทิ อุจจาระร่วง ปอดอักเสบ ติดเชื้อเอชไอวี ไข้เลือดออก วัณโรค มาลาเรีย ตลอดจนปัญหาภาระค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บไม่ได้ของประชากรข้ามชาติ ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บไม่ได้ในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐพื้นที่ชายแดน เฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 2,500 ล้านบาท
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวถึงความท้าทายและทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของสุขภาพประชากรข้ามชาติ ตอนหนึ่งว่า การขับเคลื่อนแผนงานสุขภาพประชากรข้ามชาติของ สวรส. ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ CCS ถือเป็นกลไกที่ช่วยผลักดันให้เรื่องนี้เกิดการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม เนื่องจากเป็นกลไกความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบสุขภาพประชากรข้ามชาติทั้งในและต่างประเทศ โดยมีการระดมงบประมาณจากแต่ละหน่วยงาน เพื่อสนับสนุนส่งเสริมสิทธิและความเป็นธรรมด้านสุขภาพในการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชากรข้ามชาติและผู้ไม่มีสัญชาติไทยที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งในระบบการบริหารจัดการด้านสุขภาพสำหรับกลุ่มประชากรข้ามชาติ ซึ่งทำให้เห็นภาพของการขับเคลื่อนงานเป็นเครือข่ายที่กว้างขวางมากขึ้น โดยการดำเนินงานในระยะถัดไป สวรส.จะขยับการทำงานจากการให้ทุนวิจัย สร้างองค์ความรู้ เป็นการเดินหน้าไปสู่การชักชวนเครือข่ายให้ลงมือปฏิบัติมากขึ้น พร้อมชวนผู้คนที่เกี่ยวข้องเร่งผลักดันเรื่องนี้ให้เห็นเป็นรูปธรรมต่อไป
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมาของการดำเนินงานสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทย สามารถช่วยให้ประชากรไม่ต้องล้มละลายจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล แต่คำถามที่เกิดขึ้นถัดมาคือ ระบบหลักประกันสุขภาพจะสามารถครอบคลุมคนได้มากกว่านี้อีกหรือไม่ ซึ่งอันที่จริงแล้วตามเป้าหมายสูงสุดของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มองไปถึงการดูแลทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติใดก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงในปัจจุบันคือคนที่ไม่มีสัญชาติไทยแต่เข้ามาอยู่อาศัยใช้ชีวิตอยู่ในประเทศ ซึ่งน่าจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 ล้านคน โดยมีทั้งกลุ่มที่เข้ามาอย่างถูกต้องตามระบบและมีหลักประกันสุขภาพ และกลุ่มที่เข้ามาอยู่ แต่ไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ ทั้งที่แรงงานข้ามชาติเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างรายได้ต่อหัวของประชากรไทย หรือจีดีพี คิดเป็นสัดส่วนถึงประมาณ 6.2%
“หากมองด้วยความเป็นธรรม ประชากรข้ามชาติเข้ามาทำงาน และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้ประเทศ ซึ่งในหลายประเทศมีการให้บริการบางอย่างฟรีกับคนทุกคน เช่น การให้วัคซีน เนื่องจากไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะคนที่ได้รับเท่านั้น แต่ยังเป็นประโยชน์กับชุมชนและคนรอบข้างด้วย หรืออย่างวัณโรค วิธีจัดการโรคคือการหาผู้ป่วยให้เจอและรักษาให้หายขาด เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายต่อ ฉะนั้นการให้บริการสุขภาพ จึงจำเป็นต้องดูแลทุกคนที่อยู่ในแผ่นดินไทย” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ขณะที่ นางสาวบุณยวีร์ เอื้อศิริวรรณ ผู้จัดการงานวิจัย และผู้จัดการแผนงานสุขภาพประชากรข้ามชาติ สวรส. ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า การ Pooled fund เพื่อดำเนินการตามแผนสุขภาพประชากรข้ามชาตินั้น มีเจ้าภาพใหญ่ๆ ประกอบด้วย WHO สสส. และ สวรส. โดยนำเงินมารวมกันในบัญชีเดียวกัน และมีคณะกรรมการกำกับทิศ ทำหน้าที่กำหนดทิศทาง ติดตาม กำกับดูแลการดำเนินงานของแผนงาน ซึ่งประกอบด้วยผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับประเด็นปัญหาทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมในการขับเคลื่อน ทั้งนี้การดำเนินงานในระยะแรกของแผนงานสุขภาพประชากรข้ามชาติ สวรส. เน้นหนักไปที่การศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้องค์ความรู้ในมิติต่างๆ อาทิ การศึกษาปัจจัยระบบสุขภาพที่ส่งผลต่อการเข้าถึง ความเข้าใจและการประเมินข้อมูลสุขภาพของพนักงานและอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าวภายใต้การบริการที่เป็นมิตรสำหรับคนต่างด้าว, การสำรวจสถานการณ์แรงงานข้ามชาติในเมืองใหญ่และการส่งเสริมบทบาทภาคเอกชนในการพัฒนาระบบสุขภาพแรงงานข้ามชาติ, การพัฒนานโยบายสุขภาพแรงงานข้ามชาติเพื่อตอบรับวิกฤติโรคระบาด: กรณีศึกษาไวรัสโควิด-19, การจัดระบบชดเชยค่าบริการการแพทย์ กรณีสิทธิประโยชน์การป้องกันและรักษาโรคเอชไอวี/เอดส์ สำหรับประชากรต่างด้าวในประเทศไทย, ปัจจัยและกลไกในการสื่อสารความเสี่ยงด้านสุขภาพของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยต่อมาตรการในการเฝ้าระวังและสอบสวนโรคและมาตรการด้านสาธารณสุขและสังคม กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ฯลฯ ส่วนการดำเนินงานในระยะถัดไป จะเน้นไปที่การทำงานเชิงรุก เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย การส่งเสริมสนับสนุนสิทธิและความเป็นธรรมของประชากรข้ามชาติ โดย สวรส. จะผลักดันให้เกิดการเข้าถึงบริการของประชากรข้ามชาติ โดยเฉพาะการพัฒนาให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพสำหรับประชากรข้ามชาติ
“จากการประเมินการดำเนินงานในระยะแรก (ปี 2560-2564) พบความท้าทายที่ยังคงปรากฎอยู่คือ 1) ปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพ ทั้งที่มาจากประชากรข้ามชาติเอง และจากผู้ให้บริการ, ภาษา, วัฒนธรรม 2) ปัญหาเชิงโครงสร้างและการจัดการของภาครัฐที่ส่งผลต่อการเข้าถึงบริการ 3) การขาดความเชื่อมโยงของฐานข้อมูลประชากรข้ามชาติอย่างบูรณาการ ฉะนั้นในการดำเนินงานระยะถัดไป จะพยายามอุดช่องว่างเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด ด้วยการจับมือกับภาคีในการทำงาน ตลอดจนการบูรณาการหน่วยงานกรม,กองต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อจัดทำข้อมูลให้เป็นเอกภาพ แล้วจึงนำไปสู่การวิเคราะห์และการตัดสินใจเชิงนโยบายต่อไป รวมทั้งการบริหารจัดการเรื่องวัคซีนที่สำคัญสำหรับประชากรข้ามชาติด้วย” นางสาวบุณยวีร์ ระบุ
ทั้งนี้ในเวทีดังกล่าว ยังมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการศึกษาวิจัยสุขภาพประชากรข้ามชาติ เช่น การศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับปรุงชุดสิทธิประโยชน์ด้านจิตเวช สำหรับคนต่างด้าวและประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิในประเทศ ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก สวรส. โดยงานวิจัยดังกล่าวพบว่า ปัญหาสุขภาพจิตถือเป็นปัญหาสำคัญในกลุ่มแรงงานต่างด้าวและบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ โดยสาเหตุหลักเป็นผลมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างทางสังคมและเศรษฐกิจ เช่น การไม่มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย สภาพแวดล้อมที่ทำงานเสื่อมโทรม ส่งผลเสียต่อสุขภาพ รวมถึงการย้ายถิ่น ทำให้ต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่มีความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรม อย่างไรก็ดี แม้ว่าประเทศไทยจะมีนโยบายที่เปิดให้คนไม่มีสัญชาติไทยเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ (UHC) รวมถึงมีนโยบายขายประกันสุขภาพให้คนไม่มีสัญชาติไทย แต่ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ยังมีคนที่ตกหล่น ไม่มีหลักประกันสุขภาพอยู่จำนวนไม่น้อย นอกจากนี้ แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะมีมาตรการและแนวทางการดำเนินงานตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตาม แต่ในการประกันสุขภาพไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช สถานพยาบาลส่วนใหญ่ที่รับรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เพราะผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่สามารถชำระค่ารักษาพยาบาลได้ และไม่มีประกันสุขภาพใดรองรับ
ด้านข้อเสนอจากงานวิจัยเพื่อการปรับปรุงชุดสิทธิประโยชน์ มี 3 ประเด็น 1) สิทธิประโยชน์และความครอบคลุมประกันสุขภาพ โดยเสนอให้กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลบัตรประกันสุขภาพคนต่างด้าวและกองทุนบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ พิจารณาปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมเรื่องโรคที่สำคัญๆ เช่น โรคทางจิตเวช รวมถึงอาจพิจารณาเพิ่มมาตรการด้านการเงินอื่นๆ เพื่อให้สอดคล้องหรือเพียงพอกับค่าใช้จ่ายภายใต้สิทธิประโยชน์ นอกจากนี้ควรมีนโยบายและแนวทางที่ชัดเจนในการดำเนินงานด้านการคัดกรองโรคจิตเวชเชิงรุกในชุมชน รวมถึงมาตรการด้านงบประมาณที่ชัดเจน 2) สร้างองค์ความรู้ให้กับ อสต. ควรมีการพัฒนาหลักสูตรการเข้าถึงบริการและดูแลผู้ป่วยโรคจิตเวชสำหรับ อสต. เพื่อให้ อสต. เฝ้าระวัง คัดกรอง ติดตามช่วยเหลือในชุมชน และควรพัฒนาการมีส่วนร่วมของชุมชนในการแก้ไขปัญหาผู้ป่วยจิตเวช 3) การเพิ่มช่องทางการสื่อสารสิทธิด้านสุขภาพและการเข้ารับบริการ โดยกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีการปรับรูปแบบการสื่อสารด้านสิทธิประโยชน์ของประกันสุขภาพคนต่างด้าวให้หลากหลายขึ้น เช่น การลงพื้นที่เพื่อสื่อสารเชิงรุก ควรสนับสนุนการจัดจ้างล่ามในโรงพยาบาลที่มีคนต่างด้าวมาใช้บริการ มีสื่อฉบับแปลภาษา พร้อมกันนี้นายจ้างหรือสถานประกอบการควรมีการแจ้งสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลให้กับลูกจ้างมากขึ้น
...............................
ข้อมูลจาก
- การประชุมวิชาการเรื่อง สุขภาพประชากรข้ามชาติ เนื่องในวัน International Migrant Day วันที่ 15 ธ.ค. 2566 ณ โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี