สกู๊ปและบทความจากงานวิจัย สวรส. ในรูปแบบบทความที่เข้าใจง่าย
แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2540 และ ปี 2550 จะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการกระจายอำนาจการปกครองจากส่วนกลางสู่ส่วนภูมิภาค รวมทั้งมีพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจแล้ว แต่รูปธรรมความก้าวหน้าของการกระจายอำนาจก็ปรากฏให้เห็นได้น้อยมาก โดยเฉพาะในด้านสุขภาพ
ช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ต่อให้มีองค์ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบการกระจายอำนาจมากมายหลากหลายรูปแบบ ก็ยากที่จะมีผู้ใดกล้าตัดสินใจเปลี่ยนแปลงระบบไปตามทางเลือกเหล่านั้น มีแต่เพียงโครงการนำร่องถ่ายโอนสถานีอนามัยไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในปี 2550 จำนวน 28 สถานีอนามัยเท่านั้น ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.3 ของสถานีอนามัยที่สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(กำลังจะมีการถ่ายโอน รพ.สต.อีก 11 แห่งไปยัง อปท. ในปี 2554-2555) ในด้านการถ่ายโอนภารกิจสาธารณสุข พบว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ทำการถ่ายโอนภารกิจออกไปเพียง 10 จาก 34 ภารกิจ ในขณะที่ข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ชี้ว่า มีข้าราชการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขโอนย้ายไปสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระหว่างปี 2551-2554 รวมจำนวนถึง 910 ราย
สาเหตุของความล่าช้าคือความไม่ชัดเจนของนโยบายกระจายอำนาจในรูปแบบการถ่ายโอนสถานีอนามัย หลักเกณฑ์ ระเบียบคำสั่งและข้อกำหนดต่างๆ ทั้งในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งองค์การที่เกี่ยวข้องอาจมีแนวคิดการกระจายอำนาจด้านสุขภาพที่แตกต่างกัน คณะกรรมการที่รับผิดชอบแต่ละคณะไม่มีความชัดเจนในบทบาทและความคาดหวังผลการดำเนินงาน
ข้อเสนอคือ
๑. สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ควรถ่ายทอดนโยบายการถ่ายโอนสถานีอนามัยให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อสื่อสารกับผู้บริหารราชการส่วนกลางและท้องถิ่นให้เข้าใจตรงกัน เพื่อให้ผู้รับผิดชอบในส่วนต่างๆพัฒนาแนวทางในการปฏิบัติงานของหน่วยปฏิบัติทุกระดับที่เกี่ยวข้องให้ถือปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน
๒. กระทรวงสาธารณสุขควรประสานงานกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นในการกำหนดระเบียบต่างๆ กรอบโครงสร้างอัตรากำลังของกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมใน อปท. ที่มีการรับโอนภารกิจด้านสุขภาพ รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขควรประสานงานกับ สปสช. ในการกำหนดรูปแบบการบริหารจัดการงานสาธารณสุขของ สอ.ที่จะถ่ายโอน
๓. แม้ว่าการออกแบบระบบการถ่ายโอน ได้กำหนดให้มีกลไกรับผิดชอบในพื้นที่แล้ว แต่การทำงานของกลไกดังกล่าวอาจยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้น คณะอนุกรรมการส่งเสริมการถ่ายโอนภารกิจสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัด ควรมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานที่เกิดขึ้นในระดับจังหวัด ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความจำเป็นและความสำคัญของการกระจายอำนาจ รวมทั้งเป็นผู้ประสานกับกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น สปสช. และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เกิดการสนับสนุนการถ่ายโอน สอ.ให้แก่ อปท. ในด้านการจัดระบบบริการสุขภาพ ระบบจัดการการเงินการคลัง ระบบจัดการทรัพยากรบุคคล
๔. จัดตั้งเครือข่ายสาธารณสุขท้องถิ่น เพื่อเป็นที่พึ่งให้กับบุคลากรสาธารณสุขที่ถ่ายโอนไปยังท้องถิ่น ได้มีกลไกสำหรับปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการบริหารงาน การพัฒนาวิชาการ การดำเนินงานสาธารณสุขในระดับพื้นที่เพื่อพัฒนาระบบบริการของสถานบริการในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) มีแผนงานวิจัยและพัฒนาการกระจายอำนาจ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบ และทิศทางการกระจายอำนาจ ซึ่งจะมีการจัดเวทีสรุปบทเรียนการถ่ายโอนสถานีอนามัยในวันที่ 22 มิถุนายน 2555 ณ โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในกลุ่มสถานีอนามัยที่ถ่ายโอนไปแล้ว 28 แห่ง และรพ.สต.ที่กำลังถ่ายโอนอีก 11 แห่ง โดยจะระดมความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาข้อเสนอแนะในการนำไปสู่การถ่ายโอนสถานีอนามัยสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์
ผู้จัดการงานวิจัย สวรส.
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้