สกู๊ปและบทความจากงานวิจัย สวรส. ในรูปแบบบทความที่เข้าใจง่าย
เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้น ไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงได้ง่าย แม้คนจำนวนหนึ่งจะต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวแล้วก็ตาม เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองครั้งนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกและหลาย คนคาดว่านี่จะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายเช่นกัน
อาจารย์ประเวศ วะสี กล่าวว่า “....สังคมมีความขัดแย้งและความ รุนแรง เพราะสังคมยังไม่เป็นธรรม... เรามีปัญหาไม่เป็นธรรมในทุกด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ทางกฎหมายและการเข้าถึงทรัพยากร” ความไม่เป็นธรรมช่วยหล่อเลี้ยงความไม่พอใจให้เติบโตขึ้น จนกลายเป็นความเกียจชังและสุดท้ายกลายเป็นการใช้ความรุนแรงต่อกัน
ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่เน้นการเติบโต (growth) มาตลอด1 พอเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองขึ้น นักเศรษฐศาสตร์หลายคนเริ่มวิตกว่า GDP (Gross Domestic Product) ปีนี้ จะเติบโตไม่ได้ตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ แต่ละวันที่มีการชุมนุมทางการเมืองเราจะสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวและ การค้าขายไปเท่าไร แต่มีคนจำนวนไม่มากนักที่จะตั้งคำถามว่า รายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้กระจายไปสู่คนส่วนใหญ่อย่างไร คนจนได้รับผลกระทบอะไรบ้าง ผลจากการพัฒนาในแนวทางนี้คือ ช่องว่างรายได้ระหว่างคนจนคนรวยจึงไม่ได้แนวโน้มลดลง และบางช่วงกลับเพิ่มมากยิ่งขึ้น (ดูจากแผนภาพที่ 1 สัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคของรายได้ยังไม่มีแนวโน้มลดลง ค่าสัมประสิทธิ์มากแสดงถึงความไม่เป็นธรรมมากขึ้น)
ความเป็นธรรม (equity) ให้ความสำคัญกับการกระจาย (distribution) ผลของการพัฒนามากกว่าการเติบโต (growth) แต่การกระจายเอย่างเท่ากัน (equality or equal distribution) ในประชาชนทุกกลุ่มก็อาจไม่เป็นธรรม (inequity) ได้ เพราะประชาชนแต่ละกลุ่มมีความจำเป็นแตกต่างกัน ความเป็นธรรมจึงหมายรวมถึง การให้สิ่งที่แตกต่างกันกับประชาชนแต่ละกลุ่มในแต่ละสังคม ณ เวลาที่แตกต่างกันด้วย2 นโยบายสาธารณะที่ดีจึงควรให้ความสำคัญ ทั้งกับการเติบโตของเศรษฐกิจหรือความมั่งคั่ง และการกระจายความมั่งคั่งดังกล่าวด้วย แต่ไม่ใช่ทุกๆ นโยบายจะสามารถจะให้ผลทั้งสองด้านได้เสมอไป เพราะนโยบายที่เน้นการสร้างความเป็นธรรม อาจทำให้ความเติบโตหรือประสิทธิภาพโดยรวมลดลงได้ (equity-efficiency trade-off) การได้มาซึ่งความเป็นธรรมโดยยอมสูญเสียประสิทธิภาพบางส่วน จึงเป็นภารกิจที่ผู้กำหนดนโยบายต้องตัดสินใจ
ที่ผ่านมา เราได้เห็นผู้กำหนดนโยบายตัดสินใจโดยเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลักใน หลายนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเรื่อง medical hub ซึ่งสามารถนำเงินเข้าประเทศได้ปีละหลายหมื่นล้านบาท โดยไม่สนใจว่าคนไทยจะมีแพทย์เพียงพอที่จะให้บริการหรือไม่ คณะแพทยศาสตร์บางแห่งเตรียมเปิดหลักสูตรแพทย์นานาชาติที่มีค่าเล่าเรียนแพง ในระดับที่คนทั่วไป (ที่ไม่ใช่เศรษฐี) คงยากที่จะเข้าเรียนได้ โดยไม่มีความชัดเจนว่าคนไทยจะได้รับประโยชน์อะไร (โชคดีที่โครงการดังกล่าวถูกระงับไปชั่วคราว แต่ความคิดดังกล่าวยังมีอยู่ในผู้บริหารคณะแพทย์ศาสตร์หลายแห่ง) ขณะเดียวกันก็มีหลายนโยบายที่เน้นเรื่อง ความเป็นธรรมมากขึ้น เช่น นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ประสบความสำเร็จเป็นที่ชื่นชอบของประชาชน ในชนบทอย่างมาก หรืออย่างนโยบายล่าสุดคือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งเพิ่งเริ่มดำเนินงานและรอการพิสูจน์ว่าจะช่วยสร้างความเป็นธรรมด้าน สุขภาพให้กับประชาชนได้ตามที่ตั้งใจหรือไม่
เราจะช่วยลดความขัดแย้งและความไม่สงบทางการเมืองลงได้ ด้วยการส่งเสริมนโยบายที่มุ่งเน้นสร้างความเป็นธรรมให้มากขึ้น นโยบายดังกล่าวไม่สามารถร่วงหล่นลงมาจากฟ้าได้ด้วยคำบนบานของผู้ใด แต่เกิดจากกระบวนการทางนโยบายที่ประชาชนทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วม เป็นการมีส่วนร่วมที่ประชาชนทุกคนต้องมีโอกาสได้รับข้อมูลทุกด้านก่อนการ ตัดสินใจ
เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองครั้งนี้ส่งสัญญาณเตือนค่อนข้างชัดเจน สำคัญว่าเราตระหนักถึงภัยที่กำลังจะมาถึงหรือไม่ และเราจะจัดการกับต้นตอของปัญหาอย่างไร
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้