สกู๊ปและบทความจากงานวิจัย สวรส. ในรูปแบบบทความที่เข้าใจง่าย
คณะกรรมการอำนวยการแผนงาน R2R มีการประชุมเมื่อ วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ผ่านมา โดยมี ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ สวรส. เป็นประธาน ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมและรับฟังกรรมการแต่ละท่านได้เล่าให้ที่ประชุม รับทราบถึงการเคลื่อนไหวเรื่อง R2R ในระดับพื้นที่ด้วยความตื่นเต้น โดยมีประเด็นที่น่าสนใจอยากสรุปให้ทราบดังนี้
- คำว่า Routine to Research หรือ R2R กลายเป็นคำที่ทุกคนเริ่มคุ้นเคย และกำลังกลายเป็นแฟชั่นที่คนในวงการสาธารณสุขกำลังเห่อ (เหมือน HA: Hospital Accreditation เมื่อหลายปีที่ผ่านมา) จะทำอะไรก็พูดว่าเป็นการทำ R2R หรือต้องทำ R2R ผมตั้งข้อสังเกตไว้ในที่ประชุมว่า แต่ละคนที่กำลังทำ R2R หรืออยากทำ R2R เข้าใจคำว่า R2R ว่าอย่างไร เหมือนกันหรือไม่ รวมทั้งต้องทำให้มีความเข้าใจให้เหมือนกันหรือไม่ เพราะอะไร
- การที่ R2R เริ่มเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ทำให้บุคลากรที่อยากทำงานบนฐานของข้อมูลและความรู้ ทำงานได้ง่ายขึ้น มีปัญหากับระดับนโยบายน้อยลง ตรงนี้นับเป็นความสำเร็จของการขับเคลื่อนงาน R2R ที่ผ่านมา ผ่านกิจกรรมการจัดประชุมวิชาการประจำปี กิจกรรมฝึกอบรม ประชุมเชิงปฏิบัติการ ฯลฯ การยกระดับงาน R2R ในระยะต่อไปคือ การพัฒนาระบบสนับสนุนที่จะให้บุคลากรในระดับพื้นที่ที่สนใจ สามารถเริ่มต้นทำ R2R ได้ด้วยความมั่นใจมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันแผนงาน R2R เริ่มพัฒนาและสนับสนุนให้เกิด node และเครือข่ายขึ้นในระดับภูมิภาค แต่ node เกือบทั้งหมดเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีทรัพยากรพร้อม ปัญหาที่ผมตั้งข้อสังเกตไว้คือ ประเด็นการทำ R2R ของโรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุข (เช่น สถานีอนามัย สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด) อาจแตกต่างกัน และความชำนาญ/ประสบการณ์ของ node ที่เป็นโรงพยาบาลอาจไม่พร้อมที่จะสนับสนุนหน่วยงานด้านสาธารณสุขได้ ตรงนี้ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจที่จะให้ขยายเครือข่าย R2R ไปยังหน่วยงานสาธารณสุขที่มีศักยภาพ (เช่น สำนักงานสาธารณสุขบางแห่ง) ซึ่งต้องมีการค้นหาหน่วยงานดังกล่าวต่อไป
- บทบาทของแผนงาน R2R จะเน้นสนับสนุน/พัฒนาให้เกิดระบบสนับสนุนการทำงาน R2R ของบุคลากรในระดับพื้นที่ แผนงาน R2R จะต้องสนับสนุนถึงขนาดจัดให้มีการฝึกอบรมระเบียบวิธีวิจัย (research methodology) ด้วยหรือไม่นั้น รู้สึกว่ากรรมการส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่า มีนักวิชาการที่สามารถจัดการอบรมเรื่องเหล่านี้ได้ กระจายอยู่ได้ทุกพื้นที่ ผมมีข้อสังเกตว่า การฝึกอบรมเรื่องการวิจัยโดยสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่ จะให้ความสำคัญกับระเบียบวิธีวิจัยมากจนอาจทำให้คนรู้สึกกลัวที่จะเริ่มต้น ทำงานวิจัย ซึ่งไม่ใช่เป้าหมายของ R2Rที่อยากสนับสนุนให้ทุกคนทำงานวิจัยได้ แผนงาน R2R อาจต้องช่วยปรับวิธีคิดและกระบวนการฝึกอบรมที่จะจัดขึ้นเพื่อมิให้เกิดปัญหา ดังกล่าวได้
ผมค่อนข้างดีใจที่เห็น R2R ได้รับความนิยม และมีแนวโน้มที่ทุกคนมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของ R2R ด้วยกันมากขึ้น แต่ปัญหาเรื่องการนิยามและให้ความหมาย R2R ที่แตกต่างกัน ยังเป็นประเด็นที่ผมค่อนข้างจะวิตกกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากตีความ “สาระสำคัญ” ที่เป็นหลักคิด/ปรัชญาของ R2R ผิดไป (รายละเอียดนั้นผมคิดว่าคิดแตกต่างกันได้ เพราะยังอยู่ในช่วงพัฒนา) เพราะจะทำให้การขับเคลื่อนงาน R2R ระยะต่อไปยากลำบากมากขึ้น เพราะไม่รู้ว่ากำลังขับเคลื่อนความคิดอะไร ตรงนี้อาจเป็นงานที่แผนงาน R2R อาจต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจกันต่อไป สำหรับท่านแล้ว ท่านคิดว่า สาระสำคัญ หรือ แนวคิดสำคัญ ของ R2R คือ อะไรครับ
พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข
20 กุมภาพันธ์ 2553
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้