สกู๊ปและบทความจากงานวิจัย สวรส. ในรูปแบบบทความที่เข้าใจง่าย
เผลอประเดี๋ยวเดียว เวลาก็ผ่านไปอีก 1 ปีแล้ว เราได้ก้าวเข้าสู่ปีใหม่ 2553 พร้อมกับความหวังลึกๆ ว่า ปัญหาที่คาราคาซังอยู่ในบ้านเมืองและสังคมเราจะคลี่คลายดีขึ้น เพราะขณะที่เรายังมัวสาละวนกับการแก้ปัญหาเดิมๆ แบบไม่รู้จักจบสิ้นนั้น ปัญหาใหม่ๆ ก็กำลังจัดแถวเดินเรียงหน้ากระดานมาให้เราต้องรับมือกันแทบไม่ทัน
ในช่วงปลายปี 2552 สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้มีโอกาสได้ร่วมกิจกรรมวิชาการสำคัญหลายรายการ ที่เน้นประเด็นที่กำลังจะกลายเป็นปัญหาของระบบสุขภาพไทยในอนาคต และหนึ่งในประเด็นเหล่านั้นคือ หลักสูตรแพทย์นานาชาติ ที่คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) เป็น หัวหอกนำร่องเปิดหลักสูตรดังกล่าวขึ้น ผมค่อนข้างชื่นชมผู้บริหารของคณะแพทยศาสตร์ มศว. คือ ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล เพราะทราบดีว่าในการริเริ่มทำสิ่งใดขึ้นเป็นครั้งแรกนั้นต้องอาศัย วิสัยทัศน์และความกล้าของผู้บริหารอย่างมาก เพราะไม่ใช่จะมีแต่ผู้สนับสนุนแนวคิดนี้เท่านั้น ฝ่ายคัดค้านก็ดูจะมีจำนวนมากเช่นกัน และเพื่อให้เข้าใจที่มาที่ไปของแนวคิดการจัดหลักสูตรแพทย์นานาชาติดังกล่าว สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ (สวค.) ร่วมกับ สวรส. จึงได้จัดเวทีวิชาการเรื่อง “หลักสูตรแพทย์นานาชาติ...ทางเลือกระหว่างโลกาภิวัตน์กับสุขภาพคนไทย” โดยจัดเป็นส่วนหนึ่งของเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 ในวันที่ 16 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา โดยวิทยากรประกอบด้วย นพ.เสรี หงษ์หยก รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มศว. พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร ผู้แทนแพทยสภา และคุณสารี อ๋องสมหวัง จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ศ.นพ.สมเกียรติ ได้เล่าถึงที่มาของหลักสูตรแพทย์นานาชาติของ มศว. นี้ว่า เกิดจากการวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงยุคโลกาภิวัฒน์ที่ระบบเศรษฐกิจ ระบบการศึกษา แม้กระทั่งระบบสุขภาพ จะเชื่อมโยงและส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน ในระดับภูมิภาค อีก 5 ปีข้างหน้ากลุ่มประเทศอาเซียนจะมีการรวมประชาคมเป็นหนึ่งเดียวและใช้ภาษา อังกฤษเป็นภาษากลาง การเปิดหลักสูตรแพทย์นานาชาติของ มศว. จึงเป็นการเตรียมความพร้อมแพทย์สำหรับอนาคต ทำให้ประเทศไทยสามารถเป็นผู้นำด้านการศึกษาแพทย์ในระดับภูมิภาค และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจัดการศึกษาดังกล่าวด้วย นอกเหนือจากการที่ประเทศไทยได้เป็นศูนย์กลางการให้บริการทางการแพทย์ (medical hub) แล้วในปัจจุบัน นอกจากนี้หลักสูตรดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้คนไทยมีโอกาสเรียนแพทย์ได้มากขึ้น โดยทั้งหมดนี้ไม่ต้องพึ่งงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐแต่อย่างไร
วิทยากรท่านอื่นๆ ดูจะมีความเห็นไปในทางตรงกันข้ามคือ เห็นว่าประเทศไทยยังมีปัญหาการขาดแคลนแพทย์อย่างมาก เมื่อเทียบกับประเทศที่ระดับเศรษฐกิจใกล้เคียงกันจำนวนแพทย์ต่อประชากรของ ประเทศไทยอยู่ในระดับเกือบน้อยที่สุด และการรักษาประชาชนคนไทยต้องใช้ภาษาไทยเป็นหลัก จึงควรที่จะให้ความสำคัญกับการผลิตแพทย์สำหรับคนไทยให้เพียงพอเสียก่อน จึงจะผลิตแพทย์เพื่อไปให้บริการคนต่างชาติ และการพัฒนาระบบการศึกษาแพทย์เพื่อให้ได้มาตรฐานสากลนั้น ไม่ได้ขึ้นกับการที่สอนแพทย์เป็นภาษาอังกฤษหรือไม่ แต่อยู่ที่คุณภาพหลักสูตรและอาจารย์ผู้สอนเป็นสำคัญ นอกจากนี้ไม่ควรเน้นใช้บริการทางการแพทย์หรือการศึกษาแพทย์เพื่อหารายได้ เข้าประเทศ เพราะนั่นไม่ใช่ภารกิจหลักของบุคลากรในวงการแพทย์และสาธารณสุข
ผู้เข้าร่วมประชุมบางท่านยังได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า แม้ว่าหลักสูตรดังกล่าวจะไม่ได้ร้องขอการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลโดยตรง แต่การที่อาจารย์แพทย์ที่รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนผลิตขึ้นมา ต้องใช้เวลาจำนวนหนึ่งไปสอนนักศึกษาแพทย์หลักสูตรนานาชาติเหล่านี้ รวมทั้งการที่นักศึกษาแพทย์ต้องใช้โรงพยาบาลของรัฐและผู้ป่วยซึ่งเป็นคนไทย ในการศึกษาเล่าเรียน เพื่อให้มีความรู้และประสบการณ์มากพอ ทั้งหมดนี้จึงเป็นการใช้ทรัพยากรของรัฐและทุนของสังคมไทย เพื่อสนับสนุนโครงการนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อฟังเหตุผลจากหลายมุมดังกล่าวแล้ว อาจกล่าวได้ว่า การก้าวให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไปสำหรับกรณีนี้ อาจกลายเป็น “การก้าวไปข้างหน้าโดยทิ้งประชาชนคนไทยไว้ข้างหลัง” ซึ่งผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายพึงพิจารณาด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง บทสรุปสำหรับเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องติดตามกันต่อไป
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้