สกู๊ปและบทความจากงานวิจัย สวรส. ในรูปแบบบทความที่เข้าใจง่าย
สัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 16-17 กรกฎาคม 2552) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ จัดให้มีการประชุมวิชาการประจำปี R2R หรือ “จากงานประจำสู่งานวิจัย” ขึ้น โดยครั้งนี้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว ผู้เข้าร่วมประชุมเริ่มหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ จนต้องปิดรับสมัครก่อนถึงวันประชุม คนจัดประชุมเหนื่อยแต่ก็ปลื้มใจครับ
ในการประชุมครั้งนี้ ผมเสนอให้มีหัวข้ออภิปรายหนึ่งคือ เรื่อง “การจัดการความรู้ในภาวะวิกฤต” เพราะเห็นว่าในปี 2552 นี้เราเจอวิกฤตหลายเหตุการณ์ เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง และการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ฯลฯ จึงอยากหาคนมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันว่า ในท่ามกลางวิกฤตเหล่านี้ เราจะบริหารจัดการความรู้เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างไร และตามธรรมเนียมแบบไทยๆ คือ เมื่อเสนอแล้ว เลยต้องรับดำเนินการอภิปรายด้วยตัวเอง
ผมเลือกกรณีศึกษา 2 เหตุการณ์ คือ การจัดการทางการแพทย์กรณีความไม่สงบทางการเมือง ก็ได้ท่านเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน นายแพทย์ชาตรี เจริญชีวะกุล มาเป็นวิทยากร และกรณีไข้หวัดใหญ่ได้วิทยากรมาอีก 2 ท่านคือ นายแพทย์คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ จากสำนักระบาดวิทยา และศาสตราจารย์นายแพทย์ประเสริฐ เอื้อวรากุล จากศิริราช ผมตั้งประเด็นให้แต่ละท่านช่วยชี้แนะจากประสบการณ์ตรงของแต่ละท่านดังนี้ ครับ
1.ภายใต้สถานการณ์ที่มี ความไม่แน่นอนสูง หรือ มีความรู้จำกัดอย่างมาก เช่น เราไม่ทราบว่าไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่มีความรุนแรงเพียงไร จะเกิดการปะทะและความสูญเสียมากน้อยเพียงไรจากความไม่สงบทางการเมือง ฯลฯ เราจะใช้ข้อมูลจากแหล่งใดเพื่อประกอบการตัดสินใจรับมือกับปัญหาได้อย่าง เหมาะสม และมีกระบวนการจัดการข้อมูลต่างๆ อย่างไรเพื่อจะสามารถสนับสนุนการตัดสินใจได้ทันเหตุการณ์
2.การวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของข้อมูล เมื่อความไม่รู้มีมาก จะเกิดข่าวลือต่างๆ มากมาย จะมีวิธีการจัดการในฐานะผู้รับข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นอย่างไร
3.ทำอย่างไรให้การจัดการความรู้ดังกล่าวฝังเป็นกลไกภายในองค์กร เพื่อให้สามารถจัดการกับปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ได้ดีขึ้นในอนาคต
ผมไม่ค่อยได้ความเห็นในประเด็นที่ 3 จากวิทยากรเท่าไรนัก แต่มีความเห็นประเด็นอื่นๆ ที่วิทยากรทุกท่านได้กรุณากลั่นจากประสบการณ์จริงของตนเองที่น่าสนใจหลาย ประเด็นดังนี้
- หากไม่ทราบอะไรเลย ให้ใช้ความรู้จากสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับที่เรากำลังเผชิญอยู่มากที่สุดเพื่อประกอบการตัดสินใจ เช่น เราไม่รู้ว่าไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เป็นอย่างไร ให้ใช้ความรู้ทั้งหมดที่เรามีเกี่ยวกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ และการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่นๆ หรือกรณีความไม่สงบทางการเมือง ก็ใช้ข้อมูลจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาประกอบการพิจารณา
- เปิดกว้างรับข้อมูลและความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา อย่ายึดติดกับข้อมูลและความรู้ชุดใดชุดหนึ่ง ทั้งนี้ต้องมีการกลั่นกรองข้อมูลและความรู้ใหม่อย่างเหมาะสม กรณีของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นั้น ข้อมูลและความรู้ที่ต้องติดตามนั้นต้องครอบคลุมไปถึงสถานการณ์ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
- อาจมีความจำเป็นต้องสร้างฉากทัศน์ (scenario) ของเหตุการณ์ที่มีหลายระดับความรุนแรง และเตรียมแผนรับมือไว้หลายแผนเช่นกัน หากทำเช่นนี้ได้จะทำให้สามารถรับมือได้แม้ว่าสถานการณ์จะไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่แรก
- ต้องระมัดระวังไม่ให้ตัวเราวิกฤตไปพร้อมกับสถานการณ์ เพราะผู้เกี่ยวข้องมีโอกาสได้รับแรงกดดันอย่างมาก หากรับมือไม่ดีมีโอกาสเสียศูนย์ไปได้เช่นกัน วิธีแก้ที่สำคัญคือ ต้องมีทัศนคติเชิงบวก (optimistic) จัดการปัญหาพร้อมๆ กับการเรียนรู้ไปอย่างต่อเนื่อง
- ไม่เผยแพร่ข่าวสารหรือข้อมูลที่ตัวเองไม่มั่นใจว่าถูกต้อง ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศและ อินเตอร์เน็ตช่วยกระพือข่าวลือได้รวดเร็วมาก การส่งต่อข่าวสารไปยังผู้คนจำนวนมากทำได้ง่ายและสามารถส่งผลกระทบอย่างมาก จึงควรระมัดระวังที่จะไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้ไม่หวังดีหรือผู้ที่อาจ รู้เท่าไม่ถึงการณ์
นอกจากประเด็นต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น วิทยากรยังได้ให้ข้อมูลและความเข้าใจเรื่องไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่หลาย ประเด็นที่น่าสนใจมาก เข้าใจว่าทีมงานกำลังถอดคำอภิปรายต่างๆ เพื่อเผยแพร่ต่อไป หากสนใจลองติดตามต่อใน website R2R หรือ website สวรส. นะครับ
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้