4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

หนึ่งบัตรทั่วไทย

ที่ผ่านมา ผมได้เสนอความเห็นความเกี่ยวกับนโยบายด้านสุขภาพของรัฐบาลชุดปัจจุบันหลาย ครั้ง เพราะเห็นว่า มีหลายแนวคิดดีๆ สะท้อนผ่านนโยบายดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นนโยบายโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบล (รสต.) การปฏิรูป พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 เพื่อให้สามารถคุ้มครองประชาชนได้อย่างแท้จริงและมีประสิทธิภาพ การจ่ายค่าตอบแทนอาสาสมัครสาธารณสุข 600 บาทต่อเดือน ฯลฯ

หนึ่งบัตรทั่วไทย

          ที่ผ่านมา ผมได้เสนอความเห็นความเกี่ยวกับนโยบายด้านสุขภาพของรัฐบาลชุดปัจจุบันหลาย ครั้ง เพราะเห็นว่า มีหลายแนวคิดดีๆ สะท้อนผ่านนโยบายดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นนโยบายโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบล (รสต.) การปฏิรูป พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 เพื่อให้สามารถคุ้มครองประชาชนได้อย่างแท้จริงและมีประสิทธิภาพ การจ่ายค่าตอบแทนอาสาสมัครสาธารณสุข 600 บาทต่อเดือน ฯลฯ

          ล่าสุดเพิ่งมีการประชุมหารือเกี่ยวกับนโยบาย “หนึ่งบัตรทั่วไทย” เดิมทีพอได้ยินชื่อนโยบายนี้ ผมค่อนข้างความสับสนเหมือนกันว่าหมายถึงอะไร จำได้ว่าก่อนหน้านี้เคยมีความพยายามพัฒนาระบบให้สามารถใช้ “บัตรประชาชน” แทนบัตรแสดงสิทธิประกันสุขภาพ และเนื่องจากปัจจุบันเรามีระบบประกันสุขภาพ 3 ระบบหลัก (คือ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ) หากสามารถใช้บัตรประชาชนแสดงสิทธิประกันสุขภาพได้ (ว่าอยู่ในระบบใด) น่าจะสะดวกสำหรับประชาชนที่ไม่ต้องพกหลายบัตรจนเกินไป และปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ พัฒนาไปมาก การจะพัฒนาระบบดังกล่าวขึ้นจึงไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรงจนเกินไป

          แต่พอได้ฟังคำชี้แจงของผู้เกี่ยวข้องจึงทราบว่า วัตถุประสงค์ของนโยบาย “หนึ่งบัตรทั่วไทย” นี้มีมากกว่านั้น คือ นอกจากจะให้ประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนแทนบัตรประกันสุขภาพ (หรือ หนึ่งบัตร) แล้ว ยังสามารถใช้บัตรดังกล่าวไปใช้บริการที่ไหนก็ได้ (อย่างน้อยก็ไปที่ไหนก็ได้ในเครือข่ายบริการภายใต้ระบบประกันหลักประกัน สุขภาพถ้วนหน้า) หรือ “ทั่วไทย” นั่นเอง สำหรับที่มาของนโยบายนี้มาจากความทุกข์ของประชาชนทั่วไปที่ ไม่มั่นใจว่าหน่วยบริการใกล้บ้าน (หรือหน่วยคู่สัญญาบริการปฐมภูมิ: CUP) ที่ตนเลือกลงทะเบียนไว้จะมีศักยภาพเพียงพอในการดูแลสุขภาพตนเอง หรือไม่สามารถเลือกหน่วยบริการที่ตนเองสามารถเดินทางไปรับบริการได้สะดวก กว่า เนื่องจากอยู่ต่างพื้นที่ (ต่างอำเภอหรือคนละจังหวัด)มีความล่าช้าในการส่งต่อจากหน่วยบริการปฐมภูมิไป ยังสถานพยาบาลระดับอื่น กรณีที่ความเจ็บป่วยของตนเองเกินขีดความสามารถของหน่วยบริการปฐมภูมินั้นๆ เวลาเจ็บป่วยฉุกเฉิน มักจะได้รับการปฏิเสธจากสถานพยาบาลในการรักษาพยาบาลตามสิทธิ์ โดยให้เหตุผลว่าไม่ฉุกเฉินและทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลด้วย ตนเอง

          ข้อเสนอนโยบาย “บัตรเดียวทั่วไทย” นี้มีขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนดังกล่าวข้างต้น เพราะหากไม่จำกัดการใช้บริการที่สถานพยาบาลประจำที่ประชาชนได้เลือกลง ทะเบียนไว้แล้ว ปัญหาต่างๆ น่าจะหมดไป

          มอง ในแง่นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน การที่เขาเหล่านั้นให้ความสำคัญกับความเดือดร้อนของประชาชน และนำมาสู่การเสนอนโยบายที่จะเยียวยาความเดือดร้อนดังกล่าว ตรงนี้น่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดียิ่ง บางคนอาจมองว่านี่เป็นการพยายามพัฒนา “นโยบายประชานิยม” ขึ้นมาใหม่ เพื่อทำสงครามแย่งชิงประชาชน แต่หากไม่มองแบบมีอคติจนเกินไป นโยบายใดๆ ก็ตามที่สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนแบบยั่งยืน ก็ควรได้รับการสนับสนุนทั้งนั้น แต่นโยบายนั้นต้องไม่ใช่นโยบายที่เน้นแก้ปัญหาแบบฉาบฉวยแล้วสร้างปัญหาใหม่ๆ ขึ้น โดยปัญหาใหม่อาจสร้างความเดือดร้อนหรือทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าเดิม

          นโยบาย “หนึ่งบัตรทั่วไทย” ว่า จะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้นได้หรือไม่ ต้องเข้าใจสาเหตุของปัญหานั้นก่อนว่า เกิดจากสาเหตุใด จะได้แก้ไขปัญหาให้ถูกจุด ประเด็นที่ผมคิดเป็นอันดับแรกคือ นี่เป็นปัญหา “การออกแบบระบบ (system design)” หรือ เป็นปัญหา “การบริหารระบบ (system implementation)” กันแน่ การพิจารณาว่าปัญหาเกิดจาก “การบริหารระบบ” หรือไม่ อาจพิจารณาจากการทบทวนว่า ได้มีการดำเนินการตามระบบที่ได้ออกแบบได้หรือไม่ หากไม่ได้ดำเนินการ ปัญหาเกิดจากอะไร ในที่สุดอาจพบว่า เป็นเพราะระบบออกแบบไว้ไม่ดี หรือไม่สามารถปฏิบัติได้ (impractical) หากเป็นเช่นนั้น ก็จำเป็นต้องมีการรื้อและออกแบบระบบใหม่

การเร่งรัดให้มีนโยบาย “หนึ่งบัตรทั่วไทย” ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการรื้อระบบที่ได้ออกแบบไว้เดิม โดยที่ยังไม่ได้มีการตรวจสอบว่า ความเดือดร้อนของประชาชนดังกล่าวข้างต้นเกิดจากปัญหา “การออกแบบระบบ” หรือ “การบริหารระบบ” จึงน่าจะเป็นการตัดสินใจที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง

นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข
12 พฤษภาคม 2552

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้