4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

การคืนชีพนโยบาย โรงพยาบาลประจำตำบล

รัฐบาลชุดปัจจุบันที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 ที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีสาระสำคัญประเด็นหนึ่งของนโยบายด้านสาธารณสุขว่า “...ปรับปรุง ระบบบริการด้านสาธารณสุข โดยลงทุนพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขภาครัฐในทุกระดับให้ได้มาตรฐาน ยกระดับสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล...”

          รัฐบาลชุดปัจจุบันที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 ที่กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีสาระสำคัญประเด็นหนึ่งของนโยบายด้านสาธารณสุขว่า “...ปรับปรุง ระบบบริการด้านสาธารณสุข โดยลงทุนพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขภาครัฐในทุกระดับให้ได้มาตรฐาน ยกระดับสถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล...

          นโยบาย ดังกล่าว นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้นำมาแถลงที่กระทรวงสาธารณสุขอีกครั้งเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2552 โดยเป็นนโยบายข้อ 2 ในนโยบายทั้งหมด 12 ข้อ นโยบายข้อที่ 1 คือ การส่งเสริมบทบาท อสม. โดยจะมีการจัดสวัสดิการค่าตอบแทนแก่ อสม. ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางกันขณะนี้ (ผู้สนใจนโยบายทั้ง 12 ข้อสามารถ download ได้จากไฟล์ที่แนบครับ click!)

          ใครที่ทำงานอยู่ในวงการสาธารณสุขมานานพอ คงพอจำได้ว่ารัฐบาลสมัยหนึ่งนานมาแล้ว (ก่อนหน้ายุครัฐบาลทักษิณ 1 นานพอสมควร) เคยประกาศนโยบายยกฐานะสถานีอนามัยขึ้นเป็น “โรงพยาบาลประจำตำบล” และด้วยผลของนโยบายดังกล่าว ทำให้ต้องจัดให้มี “แพทย์หมุนเวียน” เพื่อไปทำงานที่สถานีอนามัย สัปดาห์ละ 1/2 ถึง 1 วันบ้าง โดยเชื่อมั่นว่า หากมีแพทย์ปฏิบัติงานที่สถานีอนามัยแล้ว (แม้จะไม่เต็มเวลา) น่าจะช่วยให้คุณภาพบริการที่สถานีอนามัยดีขึ้น แต่ก็ไม่มีคำชี้แจงเพิ่มเติมว่า การมีแพทย์ปฏิบัติงานที่สถานีอนามัยจะทำให้สถานีอนามัยเป็น “โรงพยาบาล” ขึ้นมาได้อย่างไร และจะต้องทำอย่างไรกันหลังจากนั้นเพื่อให้นโยบายนี้มีความสมบูรณ์

           เราจะเห็นว่า หลายครั้งที่มีการเลือกตั้งและนักการเมืองต้องการชูนโยบายด้านสาธารณสุขเป็น หนึ่งในนโยบายสำคัญ การยกฐานะสถานีอนามัยหรือศูนย์บริการสาธารณสุขเป็น “โรงพยาบาล” มักจะเป็นนโยบายหนึ่งที่มีการกล่าวถึงอยู่เสมอ เสมือนว่าสถานีอนามัย/ศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นอะไรที่ประชาชนยังไม่พึงพอใจ และหากเป็นไปได้จะต้องปรับให้เป็นโรงพยาบาลซึ่งประชาชนมีความยอมรับมากกว่า

           การพัฒนาสถานีอนามัยหรือศูนย์บริการสาธารณสุข ที่ระยะหลังเรียกรวมๆ ว่า “ศูนย์สุขภาพชุมชน” ซึ่งเป็นสถานบริการระดับปฐมภูมิ ให้บริการที่มีคุณภาพดีขึ้น จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องปรับเปลี่ยนเป็น “โรงพยาบาล” คนทั่วไปมักจะเข้าใจว่าเพราะบ้านเมืองเรายังไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องยอมรับการจัดบริการในรูปแบบ “ศูนย์สุขภาพชุมชน” ไปพลางๆ ก่อน หากเป็นไปได้คือ เมื่อประเทศร่ำรวยมากพอ เราจึงจะมี “โรงพยาบาล” ใกล้บ้านที่ประชาชนสามารถไปใช้บริการได้โดยสะดวกและยกเลิก “ศูนย์
สุขภาพชุมชน” ไปในที่สุด
ความเข้าใจสับสนเกี่ยวกับบทบาทของสถานบริการปฐมภูมิดังกล่าวข้างต้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ประเทศไทย แต่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ จำนวนมาก องค์การอนามัยโลกเคยมีเอกสารสรุปความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง (common misunderstandings) เกี่ยวกับสถานบริการปฐมภูมิเผยแพร่ไปทั่วโลก แต่ไม่ได้ช่วยลดความสับสนดังกล่าวเท่าที่ควร กรณีที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทยสะท้อนปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

          จริงๆ แล้ว “สถานบริการปฐมภูมิ” หรือ “ศูนย์สุขภาพชุมชน” มีบทบาทและเอกลักษณ์ในการให้บริการที่เฉพาะและแตกต่างจากการให้บริการของ โรงพยาบาล สถานบริการปฐมภูมิและโรงพยาบาลต้องทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิดผ่าน “ระบบส่งต่อ (referral system)” เพื่อให้บริการสุขภาพอย่างต่อเนื่องแก่ประชาชน จุดแข็งของสถานบริการปฐมภูมิคือ การให้บริการผสมผสานที่คำนึงถึงมิติทางด้านสังคม วัฒนธรรม เป็นการดูแลมากว่าการรักษา “โรค” เพราะดูแล “คน” ทั้งคน รวมไปถึงการดูแล “ครอบครัว” และสนับสนุน “ชุมชน” ให้เป็น “ชุมชนสุขภาวะ” ด้วย ขณะที่โรงพยาบาลนั้นเหมาะสำหรับการดูแล “ผู้ป่วยโรคที่ซับซ้อน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสุขภาพเท่านั้น

            การพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้มีความเข้มแข็งนั้น จึงไม่ใช่การยกฐานะสถานบริการปฐมภูมิที่มีอยู่ให้เป็นโรงพยาบาล แต่เป็นการสนับสนุนให้สถานบริการปฐมภูมิเข้มแข็งในแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของ ตัวเอง ส่วนจะมีแนวทางสร้างความเข้มแข็งอย่างไรนั้น ทีมงานนักวิจัยระบบสุขภาพจำนวนหนึ่งนำทีมโดยคุณหมอสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ จากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ได้พัฒนาจนมีข้อเสนอเบื้องต้นแล้ว คงต้องขอเป็นโอกาสถัดไปที่จะนำมาจุดประเด็นกันครับ

นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้