สกู๊ปและบทความจากงานวิจัย สวรส. ในรูปแบบบทความที่เข้าใจง่าย
ปีนี้ (พ.ศ.2551 หรือปี ค.ศ.2008) เป็นปีครบรอบ 30 ปีการสาธารณสุขมูลฐาน (Primary Health Care) หรือ สสม. สาระสำคัญของ สสม. ตามคำประกาศ Alma Ata เมื่อปี ค.ศ.1978ประกอบด้วย
- การเน้นความเสมอภาคและความเป็นธรรมในการได้รับบริการพื้นฐานที่จำเป็น
- การมีส่วนร่วมของชุมชน (community participation) ซึ่งจะนำไปสู่การพึ่งตนเองทางด้านสุขภาพในระยะยาว
- การประสานระหว่างภาคีภาคส่วนต่างๆ (inter-sectoral collaboration)
- การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม (appropriate technology)
- การเน้นบริการด่านแรก (front-line service) หรือบริการสุขภาพปฐมภูมิ (Primary Care)
ประเทศไทยมีการดำเนินงานตามแนวทาง สสม. ในลักษณะโครงการต่างๆ มาตั้งแต่ก่อนคำประกาศ Alma Ata ประเทศไทยจึงดำเนินงาน สสม. มานานกว่า 30 ปี รูปธรรมที่สำคัญคือ การผลักดันให้มีอาสาสมัครสาธารณสุขขึ้น โดยระยะแรกมีทั้ง ผสส. (ผู้สื่อข่าวสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) และ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) ระยะหลังได้ยกฐานะเป็น อสม. ทั้งหมด โดยปัจจุบันมีจำนวน อสม. ทั่วประเทศกว่า 8 แสนคน
อสม. เป็นการแปลแนวคิดการมีส่วนร่วมของชุมชนให้เป็นรูปธรรม การทำงานของ อสม. จึงเน้นการเป็น “อาสาสมัคร” คือ การทำงานโดยไม่หวังผลตอบแทน (ที่เป็นตัวเงิน) โดยคาดหวังว่าการทำงานร่วมกันจะเป็นการเรียนรู้และสร้างความเข้มแข็งของทั้ง สองฝ่าย (บุคลากรสาธารณสุขและชาวบ้านที่เป็นอาสาสมัคร) บทบาทของ อสม.ที่ผ่านมาสะท้อนความสำเร็จตามแนวคิดดังกล่าวได้เป็นอย่างดี และได้กลายเป็นทุนทางสังคม (social capital) ที่สำคัญของระบบสุขภาพ การแก้ไขปัญหาสุขภาพบางประเด็น อาทิ เช่น การควบคุมการระบาดของไข้หวัดนก อสม. ได้มีบทบาทสำคัญยิ่ง จนมีคำกล่าวว่า ลำพังเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเดียว คงทำไม่ได้ดีเท่านี้
ระยะหลังเราเริ่มเห็นการเคลื่อนไหวบางประเด็นที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับอนาคต อสม.
- การเคลื่อนไหวให้มีการจ่ายค่าตอบแทน อสม. โดยนักการเมืองระดับชาติหลายพรรค ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา นัยว่าเป็นการหาคะแนนนิยมจาก อสม. ที่มีอยู่ทุกชุมชนทั่วประเทศ
- การกะเกณฑ์ อสม. มาต้อนรับผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานในงานพิธีหรือกิจกรรมต่างๆ ในลักษณะคล้ายคลึงกับการกะเกณฑ์เจ้าหน้าที่หน่วยราชการ
- การว่าจ้าง อสม. เพื่อช่วยงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในสถานพยาบาลต่างๆ (โดยเฉพาะที่สถานีอนามัย) เพื่อช่วยลดภาระงานเจ้าหน้าที่ที่มีจำนวนไม่เพียงพอ และเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ อสม. ที่ได้ช่วยงานด้านสาธารณสุขด้วย'
ตัวอย่างรูปธรรมข้างต้นสะท้อนว่า ปัจจุบันเราเริ่มสับสนระหว่างการเป็น “อาสาสมัคร” และ “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หรือไม่ เราทุกคนต่างทราบดีว่า ปัญหาการขาดแคลนกำลังคนในระบบบริการสุขภาพกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต และการว่างจ้าง อสม. เข้ามาช่วยงาน (ในกรณีตัวอย่างท้ายสุด) ก็เป็นการช่วยบรรเทาปัญหาได้ทางหนึ่ง เรียกได้ว่าเป็น win-win approach คือ เราได้งาน อสม. มีรายได้เพิ่ม แต่นี่จะทำลายหลักการที่สำคัญของ สสม. หรือไม่ รูปธรรมตัวอย่างที่สองยิ่งสะท้อนการจัดความสัมพันธ์ในแนวดิ่ง (vertical relationship) ที่เป็นการใช้อำนาจสั่งการให้ อสม. ทำอย่างนั้น อย่างนี้ ตามความต้องการของเจ้าหน้าที่ (หรือผู้บริหาร) หาใช่วิธีการทำงานที่จะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของประชาชนและชุมชนโดย รวม
เราต้องหันมาทบทวนว่า เรามี อสม. เพื่ออะไร เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนกำลังคน หรือเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งด้านสุขภาพของ ชุมชน อาจารย์ นพ.อมร นนทสุต อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุขในยุคที่งาน สสม. ยังเฟื่องฟู ได้กล่าวในการประชุม 30 ปีสาธารณสุขมูลฐานที่จังหวัดหนองคายเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2551 ที่ผ่านมาว่า
“...เราต้องตระหนักว่า อสม. ไม่ใช่ลูกน้องของเรา (เจ้าหน้าที่) หากเรามีความจำเป็นต้องให้ อสม. จำนวนหนึ่งช่วยเราเหมือนเจ้าหน้าที่ (ลูกน้อง) ก็ให้เรียกชื่ออย่างอื่น อย่าเรียกว่า อสม. จะทำให้สับสน...”
นี่แหละครับ ความชัดเจนจากปรมาจารย์ที่เป็นต้นตำรับงาน สสม. ไทย หากมีความชัดเจนเช่นนี้แล้ว ก็ไม่น่าเป็นห่วงสำหรับทศวรรษที่ 4 ของ สสม. ไทย
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้