สกู๊ปและบทความจากงานวิจัย สวรส. ในรูปแบบบทความที่เข้าใจง่าย
การประชุมหารือเรื่อง mega project ด้านสุขภาพครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา งบประมาณที่เสนอได้เพิ่มขึ้นจาก 8 หมื่นกว่าล้านบาทเป็น 1 แสนล้านบาท (มีเศษนิดหน่อย) สำหรับแผนการลงทุนระยะ 3-4 ปี การเพิ่มวงเงินงบประมาณโครงการฯ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะการพูดคุยหารือทั้งหมดที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นการหารือที่มีการกำหนดกรอบวงเงินที่ชัดเจน ผมคาดว่าหากยังมีการประชุมหารือกันต่อไปเรื่อยๆ วงเงินก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกครั้งเช่นกัน เพราะดูเหมือนคุยบนพื้นฐานว่าประเทศนี้มีเงินพอที่จะจ่ายได้ ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าไม่จริง
ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งของการพูดคุยในลักษณะเช่นนี้คือ การไม่กระตุ้นให้เกิดการจัดลำดับความสำคัญของการลงทุน นอกจากนี้การให้แต่ละหน่วยงานพัฒนาข้อเสนอขึ้นมา เช่น มอบให้กระทรวงสาธารณสุขพัฒนาข้อเสนอการลงทุนที่ระดับปฐมภูมิ ส่วนโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยหรือคณะแพทย์ศาสตร์ต่างๆ พัฒนาข้อเสนอการลงทุนในส่วนของตติยภูมิและ excellent center ยิ่งให้การพัฒนาข้อเสนอที่มีลักษณะบูรณาการกันเกิดขึ้นได้ยาก แม้ว่าโดยหลักการจะกำหนดให้พัฒนาโดยยึด GIS ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ผมอยากจุดประเด็นในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องของ mega project แต่อย่างไร แต่เป็นประเด็นใหม่ที่เกิดขึ้นในการประชุมดังกล่าวนั่นคือ ประเด็นเรื่องของ medical hub หรือ medical outsourcing
หลายท่านคงทราบดีว่า ภาคเอกชนได้นำร่องดำเนินการไปสู่การเป็น medical hub ก่อนที่รัฐบาลจะมีนโยบายสนับสนุนชัดเจน เมื่อรัฐบาลเห็นว่า medical hub สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศปีละกว่าหมื่นล้านบาท จึงได้จัดทำ “แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพของเอเชีย (พ.ศ.2547-2551)” ขึ้น และสนับสนุนอย่างต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวได้ส่งผลให้ปัญหาสมองไหลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง จากภาครัฐไปสู่ภาค เอกชนมากขึ้น ทำให้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในภาพรวมทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ประชาชนไทยมีปัญหาการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น
มีข้อเสนอจากที่ประชุมเพื่อลดผลกระทบดังกล่าวที่น่าสนใจ อาทิ เช่น การเสนอให้มีกลไกจัดสรรรายได้จาก medical hub ไปสู่ระบบสาธารณสุขของประเทศในรูปของภาษี ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร
มีข้อเสนอ/ความคิดเห็นจากผู้แทนจากโรงพยาบาลภาครัฐบางแห่ง ที่เสนอให้พัฒนาโรงพยาบาลรัฐเป็น medical hub โดยให้เหตุผลที่สำคัญคือ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสำหรับคนไทยเพิ่มมากขึ้น การดูแลผู้ป่วยชาวต่างชาติจะทำให้โรงพยาบาลสามารถหารายได้เพิ่ม (และอนุมานว่าน่าจะช่วยลดภาระภาครัฐในการดูแลค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสำหรับคนไทย) นอกจากนี้ยังทำให้แพทย์ในภาครัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดปัญหาสมองไหลที่กำลังเป็นที่วิตกในปัจจุบัน
ผมมีประเด็นน่าพิจารณาจากข้อเสนอผู้แทนโรงพยาบาลภาครัฐดังกล่าวดังนี้ครับ
1. ภาระการจัดหางบประมาณสำหรับการดูแลสุขภาพประชาชนคนไทยโดยรวม เป็นหน้าที่ของแต่ละโรงพยาบาลหรือเป็นหน้าที่ที่รัฐต้องรับผิดชอบ ปัจจุบันรัฐรับผิดชอบผ่านระบบประกันสุขภาพต่างๆ หากรัฐจัดสรร/บริหารระบบไม่ดีพอ (จนเงินไม่พอให้จัดบริการสุขภาพให้คนไทย) ควรผลักภาระนี้ให้กับแต่ละโรงพยาบาลหรือไม่
2. การที่โรงพยาบาลรัฐเสนอให้การดูแลผู้ป่วยชาวต่างชาติเพื่อให้มีรายได้เพิ่ม ขึ้น จะนำไปสู่การลดภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐในการดูแลสุขภาพประชาชนคนไทยหรือไม่ หากจะให้เกิดขึ้นจริง โรงพยาบาลรัฐอาจต้องยอมให้ลดงบประมาณสนับสนุนการดูแลสุขภาพคนไทย (ภายใต้ระบบใดๆ ก็ตาม) ตามสัดส่วนรายได้ที่โรงพยาบาลรัฐนั้นๆ ได้รับจากการดูแลผู้ป่วยชาวต่างชาติ หรือรายได้จากการดูแลผู้ป่วยชาวต่างชาติให้โรงพยาบาลรัฐส่งคืนให้กระทรวง การคลัง เพื่อจัดสรรใหม่ให้แต่ละโรงพยาบาลตามความเหมาะสมต่อไป เงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่โรงพยาบาลรัฐยอมรับได้หรือไม่
3. ปัจจุบันเกิดปัญหาการให้บริการต่างมาตรฐาน สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในระบบประกันสุขภาพที่มีระบบการจ่ายเงินแตกต่างกันอยู่ แล้ว การเป็น medical hub เพื่อให้บริการผู้ป่วยที่มีกำลังซื้อสูง จะสามารถมีหลักประกันได้อย่างไรว่า คนไทยจะไม่ได้รับบริการชั้นสองหรือชั้นสาม
ผมคิดว่าปัญหาทั้งหมดเริ่มต้นจากประเด็นที่ 1 คือ รัฐไม่ควรผลักภาระให้โรงพยาบาลต้องดิ้นรนหายรายได้ส่วนขาดเอง (ยกเว้นเป็นปัญหาประสิทธิภาพการบริหารจัดการ) ปัญหาจาก medical hub ภาคเอกชนยังแก้ไขไม่ได้ อย่าเพิ่งเพิ่มปัญหาเลยครับ
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้