4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

ก้าวใหม่ สวรส. ขับเคลื่อนองค์ความรู้ สู่ระบบสุขภาพที่สมดุลและยั่งยืน

ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเกิดขึ้นและได้ทำหน้าที่ช่วยดูแลคนไทยได้กว่า 48 ล้านคน โดยทำให้ประชาชนไม่ต้องล้มละลายจากการเป็นหนี้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ หรือการเกิดระบบดูแลจัดการการให้บริการด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ

         ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา  ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะเกิดขึ้นและได้ทำหน้าที่ช่วยดูแลคนไทยได้กว่า 48 ล้านคน  โดยทำให้ประชาชนไม่ต้องล้มละลายจากการเป็นหนี้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ  หรือการเกิดระบบดูแลจัดการการให้บริการด้านสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ   เกิดองค์กรรูปแบบใหม่ๆ ที่เข้ามาช่วยดูแลป้องกันหรือจัดการปัญหาสุขภาพของคนไทย  อย่างเช่นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)  สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)  สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) (สรพ.) ฯลฯ  ตลอดจนเกิดการพัฒนาบทบาทการดำเนินงานของหน่วยงานสำคัญๆ ที่อยู่ในองคาพยพด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้นับว่าเป็นผลงานรูปธรรมที่สำคัญของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในอดีตในการจัดการความรู้และผลักดันจนเกิดเป็นนโยบาย  ระบบ  กลไก  หรือองค์กรต่างๆ ดังกล่าวโดยสามารถเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้อย่างมาก

          แต่ทว่า  ระบบสุขภาพของไทยยังมีช่องว่างที่ต้องการองค์ความรู้จาก สวรส. เข้าไปเติมเต็มระบบอยู่อีกมาก  ซึ่งหากจะมองระบบสุขภาพให้ชัด  เราจะเห็นมิติในเชิงประเด็นปัญหาและกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอยู่อย่างสลับซับซ้อน   ตั้งแต่ปัจจัยด้านพฤติกรรมของประชาชนที่ส่งผลต่อภาพรวมปัญหาสุขภาพของประเทศ  เช่น  พฤติกรรมเสี่ยงจากการกินอาหารทำลายสุขภาพ  การดื่มสุรา  สูบบุหรี่  ไม่ออกกำลังกาย ฯลฯ  หรือรูปแบบการดำรงชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป  เช่น  ความเร่งรีบ  ความเครียด  การเผชิญมลภาวะ  ที่ทำให้ประชากรของประเทศต้องเผชิญกับปัญหาโรคอุบัติใหม่หรือโรคที่เคยควบคุมได้กลับมาเป็นปัญหากับสังคมอีกครั้ง  ตลอดจนปัญหาจากสภาพสังคม เศรษฐกิจ  การเมือง  หรือสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป  เช่น  ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ส่งผลการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของวัยรุ่นตั้งครรภ์  การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ  ภัยพิบัติ  หรือโครงสร้างของปัญหาสุขภาพที่สลับซับซ้อนขึ้น  เช่น  ความรุนแรงของโรคกับการใช้ยาที่เพิ่มขึ้นและเทคโนโลยีที่สูงขึ้น  การเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพได้มากขึ้น  ที่ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่รัฐต้องดูแลสูงขึ้นตามไปด้วย  ขณะที่บุคลากรสาธารณสุขมีจำกัดรวมทั้งมีแนวโน้มไหลออกนอกระบบอย่างต่อเนื่อง  หากภาครัฐไม่สามารถบริหารจัดการและสร้างระบบดูแลกำลังคนได้ไม่ดี   และอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ที่รอเราอยู่ข้างหน้า  คือ  การเปิดประตูสู่อาเซียน  ที่การหมุนเวียนถ่ายเทของผู้คนชาติต่างๆ เข้าและออกประเทศที่จะส่งผลต่อระบบการบริการและระบบสุขภาพในภาพรวมอย่างแน่นอน   ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยที่ สวรส. ต้องนำมาวิเคราะห์และบูรณาการความรู้จากหลากหลายสาขาวิชาเพื่อการแก้ปัญหาหรือเตรียมพร้อมรองรับกับสิ่งเหล่านี้ที่จะเกิดขึ้นและมีผลต่อระบบสุขภาพทั้งสิ้น

          ระยะต่อไป สวรส.  โดยกระผมในบทบาทของการนำพาองค์กรสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ จำเป็นต้องวางแผนงานวิจัยที่มีขอบข่ายตั้งแต่ห้องปฏิบัติการทดลอง  คลินิก  ระบาดวิทยา  สังคมและพฤติกรรม  ไปถึงนโยบายสาธารณะ  โดยต้องมีการถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีลงสู่ระบบบริการสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพและเน้นลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ   นอกจากนั้นการพัฒนาโจทย์วิจัยเชิงระบบในแต่ละกลุ่มอายุที่มีสาเหตุการตายที่ต่างกัน  และกำหนดเป้าหมายการสร้างเสริมสุขภาพในแต่ละกลุ่ม  เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพและการเกิดโรคอุบัติใหม่   รวมทั้งการประสาน “ผู้ทำ”  และ “ผู้ใช้”  งานวิจัยด้านสุขภาพเพื่อร่วมจัดการความรู้และการนำไปใช้ประโยชน์ภายใต้เป้าหมายลดความซ้ำซ้อน  ไม่แยกส่วน  นำไปสู่เอกภาพและการเสริมศักยภาพซึ่งกันและกัน

          ทั้งนี้รัฐบาลมีแนวโน้มการลงทุนด้านงานวิจัยและด้านบริการสุขภาพเพิ่มสูงขึ้น   ซึ่งในช่วงที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพิ่มเป็น 5.5% GDP ในปี 2560  ระบบการเงินการคลังสุขภาพจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ระบบสุขภาพเกิดความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรและคุณภาพการให้บริการ  รวมทั้งในโอกาสที่กระทรวงสาธารณสุขได้ปฏิรูประบบบริการด้วยแนวคิดการจัดผังบริการสุขภาพที่เป็นเครือข่ายบริการแบบเบ็ดเสร็จไร้รอยต่อ จำเป็นต้องมีการปรับระบบอภิบาล ระบบบริการ  และระบบประกันสุขภาพเพื่อการให้บริการประชาชนได้อย่างเท่าเทียม  โดยการกระจายการบริหารจัดการไปยังพื้นที่และการบริหารเครือข่ายแบบกึ่งอิสระ  การมีส่วนร่วมมากขึ้นจากภาคเอกชน  และกำหนดตัวชี้วัดที่เป็นเป้าหมายคุณภาพบริการให้กับผู้บริหารเครือข่ายบริการระดับเขต  ซึ่งระบบนี้จะช่วยแก้ปัญหาการเงินในระบบบริการสุขภาพที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
ดังนั้น งานวิจัยของ สวรส. จะต้องทำหน้าที่ในการประเมินความสำเร็จและความคุ้มค่า  การค้นหาระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ของประเทศ  การหารือความร่วมมือระหว่างองค์กรแหล่งทุนวิจัยเพื่อกำหนดแผนยุทธศาสตร์วิจัยของประเทศที่มุ่งเป้าชัดเจนและความร่วมมืออย่างมีทิศทางและเกิดเอกภาพร่วมกัน    

          โดย 4 ยุทธศาสตร์สำคัญภายใต้บทบาทการบริหารขับเคลื่อน สวรส. ไปสู่เป้าหมายการแก้ปัญหาสำคัญต่างๆ ดังกล่าวนี้  คือ ยุทธศาสตร์ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยในประเด็นสำคัญต่อระบบสุขภาพ  โดยเริ่มจากการสร้างองค์ความรู้พื้นฐาน เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้ (Self care) ไปจนถึงการสร้างองค์ความรู้เพื่อพัฒนาระบบบริการในเขตบริการสุขภาพ ให้สามารถเชื่อมโยงงานได้แบบไร้รอยต่อ ก่อนที่จะบูรณาการองค์ความรู้เพื่อนำไปสู่การสร้างระบบสุขภาพที่ยั่งยืน ยุทธศาสตร์เสริมสร้างสมรรถนะนักวิจัยด้านสุขภาพและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต การพัฒนาขีดความสามารถของนักวิจัยให้มากขึ้น โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มทุนวิจัยในการทดลองยาในสัตว์ การทดลองทางคลินิก และการวิจัยแบบมีส่วนร่วมจากชุมชนและภาคเอกชน เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น  ยุทธศาสตร์ พัฒนาระบบบริการจัดการวิจัยแบบครบวงจร   และยุทธศาสตร์บริหารจัดการเพื่อนำผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และเชิงนโยบายสาธารณะเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพได้อย่างยั่งยืน ซึ่งทั้งหมดผมคาดหวังถึงผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม 4P สำคัญ คือ 

1.Publication (ผลงานตีพิมพ์)
2.Product (ผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมทางการแพทย์)
3.practice (การทดลองทางคลินิก)
4.Policy (นโยบายสาธารณะ)

        โดยผลลัพธ์ของสิ่งต่างๆดังกล่าวที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยที่น่าจะได้เห็นกันใน 5 ปีแรก  คือ การลดปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุการตาย 3 อันดับแรก  การพัฒนาระบบเครือข่ายบริการระดับเขตให้มีความยั่งยืน   จำนวนนักวิจัยที่เพิ่มขึ้นและผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50  และมีระบบสารสนเทศที่สามารถบูรณาการงานวิจัย นักวิจัย และเครือข่ายในระบบสุขภาพของประเทศได้

          กล่าวโดยสรุปคือ สวรส.  ในยุคการบริหารของผม  จะทำหน้าที่ค้นหาประเด็นปัญหาสุขภาพของประเทศ และผสานองคาพยพในระบบสุขภาพทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งองค์กรวิชาชีพและแหล่งทุนวิจัย ได้เข้ามาร่วมสร้างโจทย์วิจัยภายใต้ปัญหาสุขภาพของประเทศร่วมกัน และผลักดันให้มีการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม โดยทำให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้  ทำให้เขตบริการสุขภาพสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถบริหารจัดการคน เงิน ของ ได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด

          การถมช่องว่างในระบบสุขภาพเหล่านี้  คือความท้าทายอีกช่วงสำคัญของสวรส. ที่จะต้องก้าวผ่านสถานการณ์ปัญหาสุขภาพเหล่านี้ไปให้ได้  บนบทบาทของ “การขับเคลื่อนองค์ความรู้เพื่อระบบสุขภาพที่สมดุลและยั่งยืน นำสู่สุขภาพดีและชีวิตที่ยืนยาวของประชาชน”

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้