สกู๊ปและบทความจากงานวิจัย สวรส. ในรูปแบบบทความที่เข้าใจง่าย
พ.ร.บ. ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้ระบุอำนาจหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขใน “การสร้างเสริมสุขภาพอนามัย การป้องกัน ควบคุม และรักษาโรคภัย การฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชนและราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนด” เพื่อให้ประชาชนชาวไทยมีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งกาย จิต และสังคม ไม่เสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร และปลอดจากอุปัทวันตรายต่างๆ
แต่การเปลี่ยนแปลงบริบทของประเทศไทยและของโลก อันได้แก่ ภาวะคุกคามทางการเงิน การกระจายตัวของทรัพยากรที่ไม่เหมาะสม สังคมผู้สูงอายุ พฤติกรรมการดำรงชีวิต สิ่งแวดล้อม ภัยธรรมชาติ โรคระบาด ได้ส่งผลให้กระทรวงสาธารณสุขต้องปรับตัว เพื่อให้การกำหนดนโยบายและกฎระเบียบเป็นไปโดยถูกต้องชอบธรรม การให้บริการและการเงินการคลังของสถานพยาบาลมีความคล่องตัว และสุขภาพของประชาชนไม่ได้รับผลกระทบ
แนวคิดการจัดตั้งเขตสุขภาพจึงถือกำเนิด เพื่อหวังจะให้เกิดการร่วมใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด คือ คน เงิน เครื่องมือแพทย์ ในการจัดสรรบริการที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน เป็นธรรม ใกล้บ้าน และไร้รอยต่อแก่ประชาชน ทั้งยังถือเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากเป็นการกระจายอำนาจการบริหารจัดการสู่ภูมิภาค ขณะที่การกำกับดูแลเป็นหน้าที่ของส่วนกลาง บทบาทของผู้ให้บริการและผู้ควบคุมจึงแยกจากกันชัดเจน
เขตสุขภาพที่กล่าวข้างต้นมีทั้งหมด 12 เขต โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับเขตบริการในส่วนภูมิภาคให้สอดคล้องกับเขตบริการของ สปสช. เพื่อลดความลักลั่นของการแบ่งเขตแต่เดิมที่มี สปสช.เขต 12 เขต และมี เขตตรวจราชการ ของกระทรวงสาธารณสุข 18 เขต ความคาดหวังของการจัดตั้งเขตสุขภาพ ซึ่งแต่ละเขตมีประชากรประมาณ 3-6 ล้านคนนี้ จึงเป็นทั้งการสร้างความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและ สปสช.ในการกระจายและบริหารงบประมาณสู่สถานบริการ และเป็นทั้งการสร้างความร่วมมือในกลุ่มจังหวัดที่จะพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ระบบสร้างเสริมสุขภาพ ระบบควบคุมป้องกันโรค และระบบยาและการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้สะดวก ขณะที่สถานบริการก็ควบคุมค่าใช้จ่ายได้สำเร็จ การช่วยเหลือและวางยุทธศาสตร์ร่วมกันยังเป็นกลไกผลักดันให้โรงพยาบาลแต่ละแห่งมีความเป็นเลิศเฉพาะด้านอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีผู้เชี่ยวชาญครบทุกสาขาในพื้นที่ใกล้เคียงต่อไป
ในระยะสั้น การดำเนินงานจะเริ่มด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานการพัฒนางานสาธารณสุขระดับเขตพื้นที่ (คปสข.) มากำหนดแผนการดำเนินงาน การจัดสรรทรัพยากร การแก้ไขปัญหาการเงินการคลัง และการกำกับและประเมินผล สำหรับการจัดบริการในช่วงแรกจะอาศัยหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ แล้วจึงขยายสู่หน่วยบริการอื่นนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในอนาคต เพื่อให้เกิดเครือข่ายการให้บริการอย่างแท้จริง เมื่อถึงตอนนั้น คปสข.จะทำงานอย่างอิสระ เพื่อให้เกิดการแยกส่วนที่ชัดเจนระหว่างผู้กำหนดนโยบายและผู้ให้บริการ
ที่มาของภาพ: มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง
อนึ่ง รูปแบบการบริหารเขตสุขภาพนี้ไม่ใช่ของใหม่ เพราะมีการดำเนินอยู่แล้วก่อนหน้า เพียงแต่ปรับเปลี่ยนผู้มีบทบาท กล่าวคือ รูปแบบเดิมมีคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพเขต (อปสข.) นำโดยผู้อำนวยการเขตของ สปสช. ทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณสู่โรงพยาบาลโดยตรง ขณะที่รูปแบบใหม่มี คปสข. นำโดยผู้อำนวยการเขตสุขภาพ ซึ่งในระยะต้นคือผู้ตรวจราชการ ทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณจาก สปสช. ผ่านกระทรวงสาธารณสุข
ความคาดหวังของการบริหารจัดการนโยบายและงบประมาณร่วมกันในรูปแบบใหม่นี้ จึงเป็นการที่แต่ละเขตสุขภาพสร้างแผนปฏิบัติการที่ตอบสนองต่อความต้องการของระบบบริการภายในเขตได้ดีขึ้น มันจึงเป็นความน่าสนใจที่จะติดตามว่าการบริหารจัดการรูปแบบใหม่นี้จะช่วยให้ระบบสาธารณสุขดีขึ้นจริงหรือไม่ และจะช่วยให้กระทรวงสาธารณสุขบรรลุรูปธรรมที่คาดหวังได้หรือไม่ กล่าวคือ คนไทยมีสุขภาพดีภายใน 10 ปี มีอายุคาดเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 72 ปี และทุกอำเภอมีตำบลสุขภาพดีอย่างน้อย 2 ตำบล โดยมี รพ.สต. และ อสม. สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน
หมายเหตุ เนื้อหารวบรวมจาก
1) งานวิจัย “โครงการจัดทำข้อเสนอและสนับสนุนการบริหารการเปลี่ยนแปลงกระทรวงสาธารณสุข: ระยะที่ 1 เขตสุขภาพ” โดยคณะวิจัยจากมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ผ่านการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สวรส.
2) การประชุม Monday Conference ของผู้จัดการงานวิจัยและผู้ประสานงานวิชาการของ สวรส. ครั้งที่ 4 วันที่ 25 พฤศจิกายน 2556
3) ปรับโฉมสาธารณสุข เคลื่อนแนวคิด “เขตสุขภาพ” จุลสาร HSRI Forum ปีที่ 2 ฉบับที่ 6 เดือนกันยายน 2556 (http://www.hsri.or.th/media/hsri-forum/2/vol6)
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้