4th Floor, National Health Building 88/39 Tiwanon 14 Road Taradkwan, Muang District Nonthaburi 11000
Font Size
-
+
color contrast
C
C
C
Search
เมนู

สองประเด็นสำคัญที่ควรทราบเกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19

สองประเด็นสำคัญที่ควรทราบเกี่ยวกับวัคซีนโควิด 19

1. วัคซีนไม่ใช่ “ยาครอบจักรวาล” ที่จะจัดการการระบาดใหญ่ของโควิด19 ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ข่าวคราวเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ทำให้คนโดยทั่วไปและทั้งโลกคิดว่า เมื่อการพัฒนาวัคซีนสำเร็จ ซึ่งคาดว่าจะเป็นปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า และเมื่อมีการฉีดวัคซีนแล้ว เราจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติเช่นเดียวกับก่อนการระบาด ความเชื่อเช่นนี้ น่าจะยังไม่เกิดขึ้นจริง อย่างน้อยในระยะเวลาอันสั้น

เรายังมีความรู้ไม่พอ เกี่ยวกับโคโรนาไวรัส ที่ทำให้เกิด โควิด 19 รวมทั้งวัคซีนและยา

แม้จะมีวัคซีนกว่า 10 ตัว ที่กำลังทดสอบในคนในระยะสุดท้ายและคาดว่าจะรู้ผลในปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า แต่ขณะนี้เรายังไม่รู้ว่า

ก. วัคซีนจะได้ผลหรือไม่ ได้ผลอย่างไร และได้ผลแค่ไหน
          วัคซีนที่ได้ผลดีที่สุด คือ ป้องกันไม่ให้ติดเชื้อและแพร่เชื้อโควิด ดีรองลงมา คือแม้จะยังติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ แต่ก็ไม่เป็นโรค ไมมีอาการจากการติดเชื้อ และที่ดีน้อยที่สุด คือ แม้จะติดเชื้อและแพร่เชื้อ รวมทั้งเป็นโรคโควิด แต่อาการจะไม่รุนแรง นอกจากนี้ ที่ว่าได้ผลนั้น จะได้ผลกี่เปอร์เซ็น ขณะนี้ทั่วโลกยอมรับว่า ถ้าได้ผลในการป้องกันการป้องกันการติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ เกินกว่า 50% ก็ถือว่าใช้ได้ ตัวเลข 50% นี้ก็มาจากการคำนวณทางระบาดวิทยา บนสมมุติฐานว่า คนติดเชื้อโควิดหนึ่งคนจะแพร่เชื้อได้สองคน หากพลเมืองร้อยละ 50 มีภูมิคุ้มกัน เช่นจากวัคซีน การระบาดใหญ่ของโรคโควิดจะไม่เกิดขึ้น และโรคโควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เกิดการระบาดในวงแคบ และควบคุมได้ 
          หากวัคซีนได้ผลเพียง 50-70% แม้จะสามารถป้องกันการระบาดใหญ่ได้ แต่เราก็ยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพราะจะยังมีคนที่ติดเชื้อ และยังมีเชื้อโควิดอยู่อีกมาก
          สุดท้ายวัคซีนที่ได้ผล จะได้ผลอยู่นานเท่าใด ถ้าได้ผลไม่เกิน 6 เดือน เหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ก็ต้องมีการฉีดวัคซีนเป็นระยะๆ อาจจะทุกปี

          สถานการณ์ทีดีที่สุด ที่เราอยากได้ คือวัคซีนโควิด ที่มีคุณสมบัติเหมือนวัคซีนไข้เหลือง  ซึ่งเป็นไวรัสเหมือนกัน วัคซีนไข้เหลือง ได้ผลในการป้องกันการคิดเชื้อและแพร่เชื้อถึง 99-100% และฉีดเข็มเดียวอยู่ได้ตลอดชีวิต ทำให้ผู้คนสามารถเดินทางไปได้ทั่วโลก แม้ไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของไวรัสไข้เหลือง ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะติดและแพร่เชื้อได้ เช่น หากเราเดินทางไปประเทศบางประเทศในทวีปอาฟริกา และอเมริกาใต้ เราก็ฉีดวัคซีนไข้เหลืองหนึ่งเข็ม และได้สมุดเล่มสีเหลืองมา เป็นหลักฐานว่าฉีดวัคซีนไข้เหลืองแล้ว ก็สามารถใช้ประกอบกับพาสปอร์ตในการเดินทางได้

          สถานการณ์ที่แย่ที่สุด คือวัคซีนป้องกันป้องกันได้เพียง ไม่ให้เกิดโรคที่มีอาการรุนแรง แต่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อและการแพร่เชื้อได้ อย่างเช่น วัคซีนไข้เลือดออก เป็นต้น
หากเป็นเช่นนี้ การกลับไปใช้ชีวิตปกติ ก็ยังต้องพึ่งพาวัคซีนทางสังคมอย่างมาก

ข. วัคซีนปลอดภัยแค่ไหน
          การทดสอบวัคซีน แม้จะทดสอบในคนจำนวนมาก แต่ก็เป็นตัวเลขหลักหมื่น แต่เวลาใช้จริง ใช้กับคนเป็นร้อยเป็นพันล้าน ดังนั้นแม้การทดสอบพบว่าวัคซีนปลอดภัย แต่เวลาใช้จริงในคนจำนวนมาก อาจพบอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง จนถึงแก่ชีวิตได้

ค. เมื่อไหร่จะมีวัคซีนจำนวนเพียงพอ และจะรับภาระค่าใช้จ่ายได้หรือไม่
          แม้จะมีวัคซีนที่ได้ผล ก็ต้องใช้เวลาในการผลิตให้เพียงพอแก่ประชากรโลก เกือบ 8 พันล้านคน ซึ่งแนวโน้มจะเป็นคนละสองโดส ก็ต้องการวัคซีนเกือบหมื่นหกพันล้านโดส ซึ่งคาดว่า อาจต้องใช้เวลาผลิตถึงอย่างน้อยสองปี นอกจากนี้ ราคาวัคซีนเท่าที่มีการพูดถึงกัน ก็อาจมีราคาตั้งแต่ 6-30 เหรียญสหรัฐ ต่อโดส หากวัคซีน มีราคา 300 บาทต่อโดส ถ้าจะให้แก่คนไทยทุกคน ก็ต้องใช้ถึงราวสี่หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมค่าขนส่ง ค่าฉีด และค่าใช้จ่ายอื่นๆ
          สรปุฟันธงได้ว่า ไม่ว่าผลการพัฒนาวัคซีนจะเป็นเช่นไร เรายังคงไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ในระยะเวลาอันสั้น

ในกรณีทีดีที่สุด วัคซีนได้ผลดีที่สุด ก็ยังคงต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าสองปี
ความคาดหวังว่า วัคซีนจะทำให้สามารถกวาดล้างไวรัสโควิดให้หมดไปจากโลกนี้ เช่นเดียวกับการกวาดล้างไข้ทรพิษ ยังคงห่างไกลจากความเป็นจริง ดูตัวอย่างได้จากความพยายามในการกวาดล้างโรคโปลิโอ ซึ่งใช้ความพยายามกว่าสองทศวรรษแล้ว ก็ยังไม่สำเร็จ

2. แนวคิด “เอาตัวรอด” หรือที่มักเรียกกันว่า “ชาตินิยมวัคซีน” “Vaccine Nationalism” คือ ทำยังไงก็ได้ให้คนของประเทศฉันได้วัคซีนก่อน หรืออย่างน้อยพร้อมๆ กับคนอื่น
- กว้านจองซื้อวัคซีนจากบริษัทที่อยู่แถวหน้าสุด 2-3 เท่าของจำนวนประชากรของประเทศ
- กว้านซื้อวัคซีนที่ดีที่สุด เมื่อมีวัคซีนในตลาด
- ห้ามการส่งออกวัคซีนที่ผลิตในประเทศ แม้จะเป็นบริษัทข้ามชาติ
- ใช้อำนาจทางการทูต การทหาร ยึด อายัด วัคซีน ระหว่างการขนส่ง

          แนวคิดนี้ จะมีการทำความตกลงทวิภาคี ระหว่างรัฐกับบริษัทวัคซีน เป็นรายๆ ซึ่งรัฐมักจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ และต้องยอมรับความเสี่ยงสูง เนื่องจากเป็นการตกลงในวัคซีนเป็นตัวๆ เพราะอยากได้วัคซีนก่อนหรือพร้อมๆ กับคนอื่น
ความพยายามให้มีการรวมกลุ่มเพื่อเฉลี่ยความเสี่ยง ที่ GAVI และ WHO กำลังดำเนินการ จึงเป็นการลดทอนแนวคิดชาตินิยมวัคซีน และเปิดโอกาสให้ประเทศที่มีรายได้ปานกลางและต่ำ สามารถได้รับวัคซีนที่ดีในเวลาอันเหมาะสม
ประเทศไทยเป็น “ชาตินิยมวัคซีน” อย่างอ่อนๆ
- ตั้งเป้าจองซื้อวัคซีน เพียงร้อยละ 50 ของประชากรไทย มุ่งเน้นกลุ่มเสี่ยงสูง และบุคลากรที่เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรค
- เข้าร่วมกับ Covax Facilities ซึ่งเป็นการเฉลี่ยความเสี่ยงร่วมกับประเทศต่างๆ อีกกว่า 100 ประเทศ โดยตั้งเป้าจองซื้อวัคซีน ร้อยละ 20 ของประชากร
- เจรจาทวิภาคีกับบริษัท AstraZeneca เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนในประเทศไทย โดยรัฐบาลไทยลงทุน ปรับปรุงโรงงานบริษัทสยามไบโอซายน์ 600 ล้านบาท และจองซื้อวัคซีนที่ผลิตได้อีก 26 ล้านโดส สำหรับประชากร ร้อยละ 20
และที่สำคัญคือ อนุญาตให้ส่งออกวัคซีนไปยังประเทศอื่น โดยเฉพาะอาเซียนได้
- เตรียมการเจรจาทวิภาคีกับรัฐบาลและบริษัทวัคซีนอื่น เช่น จีน รัสเซีย เป็นต้น เพื่อการจอง/ซื้อวัคซีน อกร้อยละ 10

สรุป
          1. วัคซีนไม่ใช่ “ยาครอบจักรวาล” ที่จะกวาดล้างไวรัสโควิด-19 ได้ในเวลาอันสั้น แม้จะมีวัคซีนที่ได้ผลดี ป้องกันการติดและแพร่เชื้อได้ดี ก็ยังต้องใช้เวลาอีกเป็นปีกว่าที่จะกลับสู่ภาวะใกล้ปกติได้ ซึ่งหากจะกลับสู่ภาวะใกล้ปกติได้ ก็ต้องใช้ทั้งวัคซีนทางการแพทย์และวัคซีนทางสังคมพร้อมๆ กัน และทุกคนต้องรู้จักและไม่กลัวโรคโควิด
          2. ประเทศไทยมาถูกทางแล้ว คือเป็น “ชาตินิยมวัคซีน” อย่างอ่อนๆ และมุ่งเน้นการใช้วัคซีนทางสังคมเป็นหลัก ร่วมกับการเตรียมการในการให้ได้วัคซีนทางการแพทย์ มาใช้ในคนไทย และยังเตรียมการผลิตเพื่อเผื่อแผ่ให้ประเทศอื่นด้วย 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้