สกู๊ปและบทความจากงานวิจัย สวรส. ในรูปแบบบทความที่เข้าใจง่าย
โรคพิธิโอซิสในมนุษย์ (human pythiosis) เกิดจากการติดเชื้อพิเธียม อินซิดิโอซุ่ม (Pythium insidiosum) โดยที่เชื้อพิเธียมนี้ถึงแม้จะมีลักษณะคล้ายรา แต่เมื่อวิเคราะห์ในระดับสารพันธุกรรมแล้ว เชื้อพิเธียมมีความใกล้เคียงกับสิ่งมีชีวิตจำพวกสาหร่ายและไดอะตอมมากกว่า การติดเชื้อพิเธียมในมนุษย์ พบการรายงานผู้ป่วยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2528 และประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการรายงานโรคพิธิโอซิสในมนุษย์ ซึ่งโรคพิธิโอซิสในมนุษย์ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) การติดเชื้อในหลอดเลือด (vascular pythiosis) 2) การติดเชื้อในลูกตา (ocular pythiosis) 3) การติดเชื้อที่ผิวหนัง (cutaneous pythiosis) และ 4) การติดเชื้อแบบแพร่กระจาย (disseminated pythiosis)
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อโรคพิธิโอซิสมากเป็นลำดับแรกของโลกร่วมกับประเทศอินเดีย โดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 94.3 ของรายงานผู้ป่วยทั้งหมดทั่วโลกนับจนถึงปี พ.ศ. 2564 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรคพิธิโอซิสเป็นโรคที่มีอุบัติการณ์ต่ำมาก และจัดเป็นกลุ่มโรคติดเชื้อหายาก (rare disease) โดยพบว่า มีรายงานการติดเชื้อทั่วโลกรวมทุกอวัยวะเฉลี่ยเพียงปีละ 100 รายเท่านั้น ซึ่งในประเทศไทยพบการติดเชื้อที่หลอดเลือดมากที่สุด ประมาณร้อยละ 65 รองลงมาคือการติดเชื้อที่ดวงตา ร้อยละ 30 ส่วนการติดเชื้อที่ผิวหนังและการติดเชื้อชนิดกระจายทั่วร่าง พบน้อยกว่าร้อยละ 5
ถึงแม้ประเทศไทยจะมีการรายงานการติดเชื้อผู้ป่วยโรคนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 และเป็นประเทศที่มีการรายงานการติดเชื้อในมนุษย์มากที่สุดในโลก แต่ข้อมูลทางวิชาการส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับการรายงานกรณีผู้ป่วย (case report และ case series) รวมไปถึงอุบัติการณ์การเกิดโรคอยู่ที่ประมาณ 8-9 รายต่อปี ทำให้ยังไม่มีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน (standard treatment guidelines) ซึ่งจำนวนผู้ป่วยที่รายงานนี้ อาจต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากไม่มีการรวบรวมข้อมูลและการวิจัยตรวจสอบอย่างเป็นระบบ
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงได้สนับสนุนการวิจัย “โครงการการรักษาโรคพิธิโอซิสแบบผสมผสานโดยมีการผ่าตัด และการให้ยาต้านเชื้อราและยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย” ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 โดยโครงการวิจัยมีระยะเวลา 3 ปี และเป็นการศึกษาวิจัยประเภท clinical trial โดยทำการเก็บข้อมูลผู้ป่วยโรคพิธิโอซิสที่ได้รับการวินิจฉัยตามเกณฑ์คัดเลือกผู้ป่วย (inclusion criteria) จากแพทย์ประจำโรงพยาบาลต่างๆ ในประเทศไทย ได้แก่ โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น, โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์, โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา, โรงพยาบาลพุทธชินราช, โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์, โรงพยาบาลนครปฐม, โรงพยาบาลอุดรธานี, โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์, โรงพยาบาลน่าน, โรงพยาบาลสุรินทร์ และโรงพยาบาลราชวิถี ทั้งนี้การศึกษาวิจัยปีที่ 1 มีผู้ป่วยในการศึกษาจำนวน 10 ราย สำหรับปีที่ 2 และ 3 มีเป้าหมายในการเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง อย่างน้อยปีละ 20 ราย โดยมีเป้าหมายในการศึกษาข้อมูลทั้ง 3 ปี รวมทั้งหมด จำนวน 50 ราย
การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคพิธิโอซิสในหลอดเลือดหลังจากได้รับการรักษาด้วยแผนการรักษาแบบใหม่ โดยมียาต้านแบคทีเรียร่วมด้วย 2) ตรวจวัดระดับ CRP และ ESR ในเลือดของผู้ป่วยโรคพิธิโอซิส ตั้งแต่แรกเริ่มวินิจฉัยและติดตามระหว่าง/ภายหลังได้รับการรักษา เพื่อดูแนวโน้มและความสัมพันธ์กับอาการทางคลินิก, ระดับ (1,3)-beta-d-glucan และ P. insidiosum antibody ในเลือด 3) ศึกษาความไวของเชื้อพิเธียมต่อยาฆ่าเชื้อราและยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียในกรณีที่สามารถเพาะเชื้อได้ 4) ตรวจติดตามระดับยา itraconazole เพื่อดูความสัมพันธ์ระหว่างค่าความไวของเชื้อโรคและการตอบสนองทางคลินิกของผู้ป่วย และ 5) การขยายความรู้ความเข้าใจโรคพิธิโอซิสให้แก่แพทย์ใช้ทุนผ่านการประชาสัมพันธ์โครงการวิจัยให้แก่โรงพยาบาลที่เข้าร่วมการศึกษาวิจัย
ผลลัพธ์ที่คาดหวังจากการศึกษาวิจัยคือ ทราบผลการรักษาที่เกิดจากการรักษาแบบผสมผสานโดยมีการใช้ยาต้านแบคทีเรียร่วมด้วย ทราบความสัมพันธ์ของระดับ CRP, ESR, (1,3)-beta-d-glucan, Pythium antibody และความสัมพันธ์กับอาการทางคลินิกของผู้ป่วยโรคพิธิโอซิสในหลอดเลือด ซึ่งหากผลการศึกษาเสร็จสิ้น จะช่วยให้ทราบว่า ESR และ CRP สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือตรวจติดตามการรักษาแทน beta-d-glucan ได้หรือไม่ รวมทั้งถ้ามีความไวและความจำเพาะเพียงพอ จะสามารถใช้ ESR และ CRP เป็นตัวติดตามผลการรักษาที่มีราคาถูกกว่าการตรวจระดับ beta-d-glucan ซึ่งสามารถนำไปสู่การพัฒนาเพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการตรวจรักษาได้ รวมทั้งได้ขยายความรู้ความเข้าใจโรคพิธิโอซิสให้แก่แพทย์ใช้ทุนจากโรงพยาบาลที่เข้าร่วมการศึกษาวิจัย
จากการศึกษาวิจัยช่วงระยะเวลา 2 ปี เกี่ยวกับการรักษาโรคพิธิโอซิสแบบผสมผสานด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะหลายกลุ่มร่วมกับการผ่าตัด ได้แก่ azithromycin, doxycycline และ itraconazole พบว่า
มีผลลัพธ์เบื้องต้นที่ดี หากผู้ป่วยมาพบแพทย์ในระยะเริ่มต้นและได้รับการรักษาที่เหมาะสม การศึกษาวิจัยเรื่องดังกล่าว แม้เป็นกลุ่มโรคหายาก รวมถึงมีอัตราการป่วยและเสียชีวิตน้อย เมื่อเทียบกับโรคอื่นๆ แต่หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยล่าช้า พบว่าผู้ป่วยจะมีการกระจายของโรคพิธิโอซิสไปยังหลอดเลือดขนาดใหญ่และอวัยวะสำคัญอื่น ซึ่งทำให้ผลการรักษาไม่ได้ประสิทธิภาพตามที่ควรจะเป็น และนำไปสู่การเสียชีวิตได้ หรือหากได้รับการวินิจฉัยแล้ว ต้องมีการผ่าตัด เนื่องจากมีการลุกลามของโรคที่รุนแรง ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพจากการถูกตัดอวัยวะ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว
การศึกษาวิจัยเรื่องดังกล่าว มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการวิจัยปีที่ 2 โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จ และสามารถนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ต่อไป ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้