รวมรวมแสดงข่าวสารประชาสัมพันธ์ของสถานับที่น่าสนใจ
โครงการวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนสถานการณ์ปัญหาด้านสุขภาพและการเข้าถึงระบบสุขภาพของประชากรกลุ่มเปราะบางในเมืองในประเทศไทย และเพื่อศึกษาพัฒนาโจทย์วิจัยทางด้านสุขภาพ และการเข้าถึงระบบสุขภาพของประชากรกลุ่มเปราะบางในเมืองในประเทศไทย อันจะนำไปสู่ข้อเสนอการพัฒนานโยบายในอนาคต โดยใช้วิธีวิจัยแบบผสม (Mixed Method) คือ 1) การศึกษาจากเอกสาร บทความและงานวิชาการที่เกี่ยวข้อง 2) การวิจัยเชิงคุณภาพเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกร่วมกับกลุ่มคนขับรถแท็กซี่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 3) การวิจัยเชิงปริมาณจากแบบสอบถาม จำนวน 300 ชุด กับคนขับรถแท็กซี่ตามจุดบริการจอดรถแท็กซี่, อู่รถแท็กซี่และจุดพักรถสำหรับรอผู้โดยสารต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และ 4) การจัดเวทีเสวนาเสียงสะท้อนจากกลุ่มคนขับแท็กซี่ เพื่อการผลักดันงานเชิงนโยบาย ผลการวิจัยพบว่า ในจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 300 คน เป็นผู้ชายร้อยละ 97.7 และประมาณ 1 ใน 3 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยมีภูมิหลังแบ่งได้ 4 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มผู้ย้ายถิ่นส่วนใหญ่ร้อยละ 80 มาจากต่างจังหวัดแถบภาคอีสานเป็นหลัก เดินทางย้ายถิ่นเข้ามาขับรถแท็กซี่สืบต่อกันหลายรุ่น 2) กลุ่มอาชีพรับจ้างอื่นๆ ที่เปลี่ยนงานเข้าสู่อาชีพแท็กซี่ 3) กลุ่มคนขับรถแท็กซี่เป็นอาชีพเสริม และ 4) กลุ่มข้าราชการเกษียณที่เพิ่มมากขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา ด้วยวัยและลักษณะงานที่ต้องนั่งขับรถนานเฉลี่ย 10-12 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้คนขับรถแท็กซี่ส่วนใหญ่มีปัญหาสุขภาพ โดยส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง เบาหวานและไขมันในเลือดสูง ตามลำดับ มากกว่าครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างไม่เคยตรวจสุขภาพประจำปี และมีอาการเจ็บป่วยจากการขับรถ คือ อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดข้อเข่าหรือหลัง ทางเดินปัสสาวะอักเสบและความเครียดอันเนื่องมาจากปัญหาการจราจร รายได้ที่ลดลงไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายและการต้องเผชิญกับพฤติกรรมผู้โดยสาร ขณะที่การเข้าถึงบริการสุขภาพและสิทธิประโยชน์อื่นๆ พบว่า ส่วนใหญ่ใช้สิทธิบัตรทอง ซึ่งมีข้อจำกัดในการเข้ารับบริการนอกเขตพื้นที่สิทธิเดิมของตนเองและคนขับรถแท็กซี่ส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจเรื่องการใช้สิทธิการรักษาพยาบาล อีกทั้งยังไม่ได้รับสวัสดิการอื่นๆ เช่น ประกันการว่างงาน ประกันการเสียชีวิต กองทุนสำรอง สินเชื่อ เป็นต้น นอกจากนี้ด้วยการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น จากการเข้ามาของแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชัน และการระบาดของโควิด 19 ยิ่งทำให้เกิดภาวะไม่คุ้มค่าเช่า ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการขับรถที่เป็นปัญหาร้องเรียน รวมถึงปัญหาเชิงระบบแท็กซี่ที่มีอยู่หลากหลาย ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ระเบียบกฎเกณฑ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นไปในลักษณะของการควบคุมรายได้แต่ไม่ควบคุมรายจ่าย ปัญหาการคัดกรองคนเข้าสู่อาชีพแท็กซี่ ทำให้เกิดการแบ่งแท็กซี่หลายกลุ่มและเกิดปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างกัน จนเป็นช่องว่างของปัญหาอาชญากรรมและปัญหาคุณภาพของบริการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนขับแท็กซี่รายย่อยและผู้โดยสารที่ไม่ได้รับคุณภาพด้านการบริการที่ดีในปัจจุบัน การวิจัยนี้จึงมีบทสรุปและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำคัญ คือ ในระยะสั้นเสนอให้ 1) มีการเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงบริการสุขภาพและการตรวจคัดกรองสุขภาพของคนขับแท็กซี่ 2) กำหนดให้คนขับรถแท็กซี่ทุกคนได้รับหลักประกันเทียบเท่ากับสิทธิประกันสังคมในมาตรา 33 3) ควรให้มีการจัดตั้งกองทุนกลางขึ้นเพื่อขึ้นทะเบียนคนขับรถแท็กซี่ และจัดสร้างสวัสดิการให้แก่คนขับ โดยสนับสนุนให้คนขับรถเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการนั้นๆ ด้วย และ 4) ควรจัดให้มีการพัฒนาศักยภาพของคนขับรถแท็กซี่ ด้วยการเพิ่มพูนทักษะความรู้ต่างๆ ที่จะทำให้สามารถปรับตัวแข่งขันด้านการให้บริการให้ดียิ่งขึ้น ส่วนในระยะยาวเสนอให้ 1) มีนโยบายในการพัฒนาระบบแท็กซี่ในประเทศให้เป็นมาตรฐาน ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น กำหนดคุณสมบัติของคนขับรถแท็กซี่ มีใบอนุญาตขับขี่รถสาธารณะ ตรวจสภาพรถและทดสอบสมรรถภาพผู้ขับเป็นประจำ และกำหนดให้มีใบประกอบวิชาชีพหรือเพิ่มเงื่อนไขทางกฎหมายในการทำใบขับขี่ เป็นต้น เพื่อคัดกรองและตรวจสอบคนขับเข้าสู่อาชีพ และ 2) เสนอให้สร้างระบบแท็กซี่ทางเลือกใหม่สำหรับรัฐบาลกลางหรือกรุงเทพมหานคร เช่น แท็กซี่สำหรับผู้สูงอายุ คนพิการและกลุ่มเป้าหมายเฉพาะอื่นๆ โดยอาจพัฒนาจากแท็กซี่มิเตอร์แบบเดิม ที่ยังใช้เทคโนโลยีล้าหลัง เป็นผู้สูงอายุและขาดการศึกษาฝึกอบรมที่พอเพียง เพื่อให้เกิดการสร้างรายได้แก่กลุ่มคนเหล่านี้มากขึ้น
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้