ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู
จำนวนผู้อ่าน : 257 คน
จำนวนดาวน์โหลด :22ครั้้ง
การศึกษาสถานการณ์การใช้กัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทย
นักวิจัย :
สาวิตรี อัษณางค์กรชัย , กนิษฐา ไทยกล้า , มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ , สุชาดา ภัยหลีกลี้ , ศยามล เจริญรัตน์ , ดาริกา ใสงาม
ปีพิมพ์ :
2564
สนับสนุนโดย :
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
วันที่เผยแพร่ :
28 เมษายน 2564

นับตั้งแต่การออกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 และการนิรโทษการครอบครองกัญชา ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ต่อมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มนำร่องเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาล 12 แห่งทั่วประเทศ และสำหรับแพทย์แผนไทยเริ่มให้บริการนำร่องในโรงพยาบาล 13 แห่ง วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2562 จนกระทั่ง ณ เวลาที่เขียนรายงานนี้ (มิถุนายน 2563) มีโรงพยาบาลที่ให้บริการทางแพทย์แผนปัจจุบันในทุกเขตสุขภาพทั้งสิ้น 255 แห่ง โรงพยาบาลในโครงการศึกษาวิจัยสารสกัดน้ำมันกัญชาใน 4 โรค และคลินิกกัญชาการแพทย์แผนไทย 24 แห่ง ถึงแม้ว่าจะมีการให้บริการสารสกัดน้ำมันกัญชาในโรงพยาบาลต่างๆ ดังกล่าว ก็ยังมีผู้ใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์อีกจำนวนมากที่ไม่ได้มาแจ้งขอครอบครองฯ หรือไม่สามารถเข้าถึงยากัญชาจากโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขและยังมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความคิดเห็นความรู้และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างหลากหลาย รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์กัญชาที่มีคุณภาพหลายระดับ การศึกษาสถานการณ์จริงในประเทศไทยเกี่ยวกับกลุ่มผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์ รวมทั้งผู้ผลิตและผู้เกี่ยวข้องในบทบาทต่างๆ จึงมีความจำเป็นเพื่อจะได้ทราบจำนวนความต้องการหรือความจำเป็นของผู้ใช้กัญชาทางแพทย์ โครงการวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับการใช้กัญชาทางการแพทย์ของประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์ด้านอุปสงค์และอุปทานของกัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ในประเทศไทย วิธีการศึกษา โครงการนี้ประกอบด้วยงานสองขั้นตอนหลัก ได้แก่ การศึกษาเชิงคุณภาพ โดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลหลัก (key informant in-depth interviews) และการสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เก็บข้อมูลจาก กลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ จำนวน 36 คนทั่วประเทศ ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยจากโรงพยาบาลของรัฐที่เปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ หมอพื้นบ้าน แพทย์ทางเลือก ผู้ให้บริการน้ำมันกัญชาใต้ดิน ผู้บริหาร นักการเมือง ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย และการศึกษาเชิงปริมาณ โดยใช้การสำรวจภาคตัดขวาง (cross-sectional survey) โดยการสุ่มตัวอย่างแบบ respondent-driven sampling (RDS) เก็บข้อมูลจากกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้กัญชาหรือสารสกัดจากกัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ ซึ่งประกอบด้วย ผู้ที่มาแจ้งขอครอบครองกัญชาฯ ผู้ป่วยที่ได้รับยากัญชาจากโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจากแพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้านหรือแพทย์ทางเลือก และผู้ใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรคที่ยังไม่เปิดเผยตน (ผู้ใช้ซ่อนเร้น หรือ ใต้ดิน) รวม 485 คน (ภาคเหนือ 125 คน ภาคกลาง 120 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 120 คน และภาคใต้ 120 คน) เก็บข้อมูลในช่วงปลายเดือนกันยายน 2562 ถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ผลการศึกษา ผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์มีสัดส่วนเพศชายมากกว่าเพศหญิงเล็กน้อย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุวัยผู้ใหญ่ตอนปลายหรือ 45-65 ปี (ร้อยละ 61.5) ผู้ให้ข้อมูลประมาณหนึ่งในสามจบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป อาชีพที่พบเป็นสัดส่วนสูงสุด ได้แก่ การเป็นเจ้าของกิจการ (ร้อยละ 16.5) รองลงมาได้แก่ การรับราชการ (ร้อยละ 14.2) ผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์ในการศึกษานี้เริ่มใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์มานาน 10.5 เดือนโดยเฉลี่ย (พิสัย 7 วัน ถึง 828 วัน) โดยใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคมะเร็งเป็นสัดส่วนสูงที่สุด (ร้อยละ 22.5, 95% CI: 15.6, 29.4 ได้แก่ มะเร็งเต้านม ต่อมลูกหมาก ต่อมน้ำเหลือง ตับ ปอด ลำไส้ ท่อไตและกระเพาะปัสสาวะ) รองลงมาคือโรคของระบบกล้ามเนื้อและกระดูก (ร้อยละ 21.7, 95% CI: 16.3, 27.0 ได้แก่ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเข่า ปวดหลัง ปวดประจำเดือน ข้อเข่า ข้อสะโพกเสื่อม ออฟฟิศซินโดรม ไมเกรน กล้ามเนื้ออักเสบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง กระตุก หดตัวผิดปกติ อัมพาตครึ่งซีก กระดูกทับเส้นประสาทและเส้นเอ็นแขนขาตึง) โรคทางจิตประสาท (ร้อยละ 20.8, 95% CI: 15.4, 26.0 ได้แก่ เครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล ไบโพลาร์ นอนไม่หลับ นอนหลับผิดปกติ ใกล้หมดประจำเดือน โรคหัวใจอ่อนๆ อัลไซเมอร์และพาร์กินสัน) และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (ร้อยละ 20.5, 95% CI: 15.2, 25.9 ได้แก่ เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูงและเก๊าท์) เมื่อแบ่งตามกลุ่มโรคหรืออาการเจ็บป่วยตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจำแนกตามตามระดับหลักฐานทางวิชาการ พบว่าสัดส่วนของผู้ใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วยทั้งสามกลุ่มมีพอๆ กัน (กลุ่ม ก. ข. และ ค. ร้อยละ 21.5, 20.6, และ 21.7 ตามลำดับ) แต่มีสัดส่วนของผู้ที่ใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคอื่นๆ ที่อยู่นอกประกาศฯ นี้มากที่สุด (ร้อยละ 36.3, 95% CI: 29.8, 42.8) ผู้ใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคส่วนใหญ่ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาในรูปแบบน้ำมันสกัดสำหรับกินหรือหยดใต้ลิ้น (ร้อยละ 84.7, 95% CI: 78.9, 90.5) แต่มีประมาณร้อยละ 9.2 ระบุว่าใช้ดอก ใบ ต้น หรือรากกัญชาสดหรือแห้งโดยไม่ผ่านการสกัดแปรรูปและมีผู้ให้ข้อมูลเพียงหกคนที่ใช้ในรูปแบบขนมหรือชากัญชา ผู้ให้ข้อมูลมากกว่าร้อยละ 90 ระบุว่า หลังใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้สำหรับรักษากลุ่มโรคใดก็ตาม เขามีอาการดีขึ้นหรือดีขึ้นมาก วิธีการเข้าถึงผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์มีความแตกต่างกันมากในแต่ละภาค ผู้ให้ข้อมูลในภาคกลางและภาคใต้ระบุว่าได้ผลิตภัณฑ์กัญชามาจากผู้ค้ายาในตลาดมืดเป็นสัดส่วนสูงสุด (ร้อยละ 77.8 และร้อยละ 80.4) ในขณะที่ผู้ให้ข้อมูลในภาคเหนือจำนวนมากได้จากแพทย์พื้นบ้านนอกระบบสาธารณสุขและได้ฟรีจากเพื่อนหรือญาติพี่น้องให้มาและผู้ให้ข้อมูลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้จากแพทย์แผนปัจจุบันที่เปิดคลินิกส่วนตัวที่มีการรักษาด้วยกัญชาสูงที่สุด (ร้อยละ 45.2) สัดส่วนของการได้รับจากโรงพยาบาลหรือหน่วยงานในระบบสาธารณสุขต่ำมากในทุกภาค (น้อยกว่าร้อยละ 1 ในภาคเหนือถึงร้อยละ 3 ในภาคใต้) ผู้ใช้กัญชาทางแพทย์ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการอนุญาตให้ใช้ จำหน่ายหรือปลูกกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ แต่ไม่เห็นด้วยกับการอนุญาตสำหรับการจำหน่ายหรือปลูกเพื่อการผ่อนคลาย ส่วนใหญ่ต้องการให้กัญชามีสถานะทางกฎหมายในระดับเดียวกันกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบและบุหรี่ แต่ก็ไม่ควรควบคุมในระดับเดียวกันกับสารเสพติดชนิดอื่น จากการประมาณการจำนวนผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์แบบวิธีพหุคูณ (multiplier) โดยใช้จำนวนของผู้ลงทะเบียนขอนิรโทษกรรมฯ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึง พฤษภาคม พ.ศ. 2562 และผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่คลินิกกัญชาทางการแพทย์ของโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขเป็นฐานเทียบ จะได้จำนวนประชากรผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์ประมาณ 560,031 และ 606,153 คน หรือคิดเป็นความชุก 10.93 และ 11.83 ต่อประชากรหนึ่งพันคน ตามลำดับ ผลการศึกษาเชิงคุณภาพระบุว่า ผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์ใช้เพื่อรักษาโรคเรื้อรังตามความเชื่อของตนเอง ส่วนใหญ่อยู่นอกเหนือกลุ่มโรคตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนใหญ่เชื่อว่ากัญชารักษาได้ทุกโรคและมีผลเสียน้อย ผู้ใช้ฯ ส่วนใหญ่ได้รับกัญชาจากแหล่งนอกระบบ เนื่องจากเข้าถึงยาจากแหล่งนอกระบบมาก่อน มีความเชื่อถือและไว้วางใจผู้ให้บริการนอกระบบ เข้าถึงคลินิกกัญชาในระบบยาก โรคที่เป็นไม่ตรงกับข้อบ่งใช้ทางการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข ผู้ใช้ฯ ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการทำให้กัญชาทางการแพทย์เป็นสิ่งถูกกฎหมาย ให้ควบคุมเหมือนสุรา ยาสูบ แต่ไม่เห็นด้วยกับการให้ใช้เพื่อผ่อนคลาย การติดต่อสื่อสารของเครือข่ายการใช้กัญชาใต้ดิน มักไม่เปิดเผยตัวตน มีการเรียนรู้กันผ่านตำราและการฝึกอบรม การบอกต่อและสื่อสารผ่านวิทยุ หรือนัดประชุมกันผ่านกลุ่มไลน์ ซึ่งตรวจสอบได้ยาก กัญชาที่ซื้อขายโดยทั่วไปจากประเทศเพื่อนบ้านหรือในตลาดทั่วไปมักมีการปนเปื้อนของสารเคมี โดยเฉพาะสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ปัจจุบันมีการลักลอบปลูกกัญชาไว้ใช้เองเป็นจำนวนมาก กลุ่มที่ครอบครองและผลิตหรือแปรรูปกัญชาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักธุรกิจหรือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ดังนั้น กัญชาใต้ดินส่วนใหญ่จึงเป็นการซื้อขายกันในเชิงพาณิชย์มากกว่านำไปใช้เพื่อรักษาอาการป่วยเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นของการเข้าไปให้บริการกัญชานั้นมักมีสาเหตุมาจากการเจ็บป่วยของตนเองเป็นหลัก โดยสรุป ผลการศึกษานี้แสดงภาพสถานการณ์เกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ในประเทศไทยในระยะเกือบหนึ่งปีแรกของการประกาศใช้กัญชาทางการแพทย์แบบถูกกฎหมาย ผู้ใช้ส่วนใหญ่ก็ยังได้รับผลิตภัณฑ์กัญชาจากแหล่งนอกระบบสาธารณสุขและใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคหรืออาการเจ็บป่วยหลายชนิดที่อยู่นอกเหนือข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขหรือไม่มีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนประสิทธิผล แต่ผู้ใช้ส่วนใหญ่กลับมองเห็นเฉพาะด้านบวกของกัญชาและผลของการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค เนื่องจากประชาชนจำนวนมากก็ใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคอยู่แล้ว การช่วยให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ การเพิ่มการเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ในระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะจากคลินิกกัญชาทางการแพทย์ทั้งแผนไทยและแผนปัจจุบันในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข และการทบทวนข้อบ่งชี้ของการสั่งใช้ยากัญชาให้ทันสมัยตามหลักฐานวิชาการ โดยคำนึงถึงความจำเป็นของผู้ป่วย จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและเร่งด่วน ข้อค้นพบจากการศึกษานี้ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายทางนโยบายอันต่อเนื่องของประเทศไทยในเรื่องกัญชาทางการแพทย์


ลิงก์ต้นฉบับ : https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/5346

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้