งานวิจัยมาใหม่แนะนำ
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาวิจัยแบบผสมผสาน (mixed methods research) โดยใช้รูปแบบความสอดคล้องคู่ขนาน (convergent parallel design) วัตถุประสงค์เพื่อติดตามประเมินผลการจัดระบบบริการสุขภาพของผู้สูงอายุติดเตียงและพึ่งพิง ระดับปฐมภูมิ ภายหลังถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) มีการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพคู่ขนานไปพร้อมกัน ระหว่าง เดือนมีนาคม-ธันวาคม พ.ศ. 2567 โดยการลงพื้นที่ภาคสนามในการเก็บข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยการเยี่ยมบ้านเพื่อสัมภาษณ์เชิงลึก (In-dept interview) และสนทนากลุ่ม (Focus group discussion) พื้นที่ในการเก็บรวบรวมข้อมูล 9 จังหวัดของเขตสุขภาพที่ 2 เขตสุขภาพที่ 3 เขตสุขภาพที่ 4 เขตสุขภาพที่ 5 เขตสุขภาพที่ 6 และเขตสุขภาพที่ 12 กลุ่มตัวอย่างเชิงปริมาณ ได้แก่ ผู้สูงอายุติดเตียงและพึ่งพิงที่ความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน (ADL) น้อยกว่าหรือเท่ากับ 11 คะแนน และผู้ดูแลในครอบครัวของผู้สูงอายุติดเตียงและพึ่งพิง จำนวน 576 คน และกลุ่มตัวอย่างผู้บริหารในระดับนโยบาย ในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และผู้จัดการในการดูแลผู้สูงอายุ (Care manger) โดยกำหนดสัดส่วนตามโควตา (Quota sampling) จำนวน 153 คน เก็บได้จริง 125 คน เนื่องจากข้อมูลไม่ครบถ้วน ร้อยละ 5.2 เครื่องมือในการวิจัย 1) แบบสอบถามความคิดเห็นในการจัดระบบบริการสุขภาพผู้สูงอายุติดเตียงและพึ่งพิงของผู้บริหารและบุคลากรสาธารณสุข โดยตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน ตรวจสอบความเที่ยง (Reliability) โดยทดลองใช้กับบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ รพ.สต ถ่ายโอนปี พ.ศ. 2567 จำนวน 30 ราย และวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์ครอนบาคแอลฟ่า ได้ค่าความเที่ยง = .951 2) แบบสอบถามความพึงพอใจการบริการสุขภาพผู้สูงอายุติดเตียงและพึ่งพิง และผู้ดูแลในครอบครัว โดยตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 5 ท่าน ตรวจสอบความเที่ยง (Reliability) โดยนำไปทดลองใช้กับผู้สูงอายุติดเตียงและพึ่งพิงและผู้ดูแล ในพื้นที่ รพ.สต ถ่ายโอนปี พ.ศ. 2567 จำนวน 30 ราย และวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์ครอนบาคแอลฟ่า ได้ค่าความเที่ยง = .957 3) แบบประเมินคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุติดเตียงและพึ่งพิง เป็นเครื่องมือขององค์การอนามัยโลก ฉบับภาษาไทย (Thai Brief Thai จำนวน 26 ข้อ) ข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยการสนทนากลุ่มบุคลากรสาธารณสุข ผู้ดูแลผู้สูงอายุของ รพ.สต. ทั้งที่ถ่ายโอนและไม่ถ่ายโอนไปยัง อบจ. จำนวน 12 แห่ง แห่งละ 12 คน รวม 124 คน สัมภาษณ์เชิงลึกผู้สูงอายุติดเตียงและพึ่งพิงที่มีความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวัน (ADL) น้อยกว่า หรือเท่ากับ 11 คะแนน กำหนดโควตาตำบลละ 2 คน จำนวน 36 แห่ง รวม 72 คน และสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ดูแลในครอบครัว กำหนดโควตาตำบลละ 2 คน จำนวน 36 แห่ง รวม 72 คน รวมจำนวนกลุ่มตัวอย่างผู้สูงอายุติดเตียงและพึ่งพิงและผู้ดูแลในครอบครัว จำนวน 288 คน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบความแตกต่างของความพึงพอใจของผู้สูงอายุติดเตียงและพึ่งพิงและผู้ดูแล และคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุระหว่าง รพ.สต. ที่ถ่ายโอนและยังไม่ถ่ายโอนไป อบจ. โดยใช้สถิติ Paired t-test และวิเคราะห์เชิงคุณภาพเพื่อหาประเด็นสำคัญ (thematic analysis) ผลการศึกษาความคิดเห็นของผู้บริหาร บุคลากรสาธารณสุข และผู้จัดการในการดูแลผู้สูงอายุต่อการจัดบริการสุขภาพผู้สูงอายุติดเตียงและพึ่งพิง พบว่า กลุ่มจังหวัดที่มีการถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อบจ. 100% กลุ่มถ่ายโอน 50-99% และกลุ่มถ่ายโอนน้อยกว่า 50% มีความคิดเห็นโดยรวมอยู่ในระดับมาก (Mean = 3.90, 4.15, 4.10; SD = .67, .66, .56 ตามลำดับ) ทุกกลุ่มมีค่าเฉลี่ยสูงสุดในด้านภาวะผู้นำและการอภิบาลระบบ ในระดับมาก (Mean = 4.20, 4.40; 4.39; SD = .64, .50, .43 ตามลำดับ) โดยสูงสุดในรายด้านความรู้สึกมีคุณค่าที่ได้ทำงานในการดูแลผู้สูงอายุติดเตียงและพึ่งพิง (Mean = 4.41, 4.59, 4.60; SD = .73, .70, .53 ตามลำดับ) มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ในการจัดระบบการเงินการคลังและการแบ่งปันทรัพยากรของผู้สูงอายุติดเตียงและพึ่งพิง กลุ่มถ่ายโอน 100% มีค่าเฉลี่ยความคิดเห็นอยู่ในระดับปานกลาง (Mean = 3.21, SD = .95) กลุ่มถ่ายโอน 50-99% และถ่ายโอนน้อยกว่า 50% ค่าเฉลี่ยความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก (Mean = 3.66, 3.61; SD = .81, .79 ตามลำดับ) เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของการจัดบริการสุขภาพผู้สูงอายุติดเตียงและพึ่งพิง พบว่า ความคิดเห็นในภาพรวม ทั้ง 3 กลุ่ม ไม่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม พบว่า ด้านระบบสารสนเทศและการสื่อสารด้านสุขภาพ และด้านการจัดระบบการเงินการคลังและการแบ่งปันทรัพยากร พบว่า กลุ่มถ่ายโอน <50% มีค่าเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มถ่ายโอน 100% และแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 กลุ่มถ่ายโอน 50-99% ค่าเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มถ่ายโอน 100% และแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และด้านการเข้าถึงยาและเทคโนโลยีการแพทย์ที่จำเป็น และการจัดระบบบริการสุขภาพ พบว่า กลุ่มถ่ายโอน 50-99% มีค่าเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มถ่ายโอน 100% และแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในขณะที่ระหว่างกลุ่มถ่ายโอน <50% และกลุ่มถ่ายโอน 50-99% รวมทั้ง ระหว่างกลุ่มถ่ายโอน <50% และกลุ่มถ่ายโอน 100% มีค่าเฉลี่ยไม่แตกต่างกัน ความพึงพอใจของผู้ดูแลในครอบครัวและผู้สูงอายุติดเตียงและพึ่งพิง พบว่า ในกลุ่ม รพ.สต. ที่มีการถ่ายโอนไปยัง อบจ. พบว่า มีความพึงพอใจโดยรวมอยู่ในระดับมาก (Mean = 4.19, SD = .86; Mean = 4.20, SD = .89 ตามลำดับ) เมื่อเปรียบเทียบความพึงพอใจของผู้ดูแลในครอบครัวและผู้สูงอายุติดเตียงและพึ่งพิงระหว่าง รพ.สต. ที่มีการถ่ายโอนและไม่ถ่ายโอนไปยัง อบจ. พบว่า ไม่มีความแตกต่างกัน คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุติดเตียงและพึ่งพิง ผลการวิจัย พบว่า คุณภาพชีวิตโดยรวม และความพอใจกับสุขภาพโดยรวม ในกลุ่ม รพ.สต. ถ่ายโอนไปยัง อบจ. และไม่ถ่ายโอน อยู่ในระดับปานกลาง (Mean = 3.26, 3.03; SD = .79, .84; Mean = 3.44, 3.11; SD = .86, 1.04 ตามลำดับ) เมื่อเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุติดเตียงและพึ่งพิงระหว่าง รพ.สต. โอน และกลุ่ม รพ.สต. ที่ยังไม่ถ่ายโอนไปยัง อบจ. พบว่า ไม่มีความแตกต่างกันในคุณภาพชีวิตโดยรวม และความพอใจกับสุขภาพโดยรวม แต่รายด้าน แต่มีความแตกต่างกัน ด้านความจำเป็นต้องรับการรักษาพยาบาลเพื่อที่จะทำงานหรือมีชีวิตอยู่ไปได้ในแต่ละวัน และ การมีสมาธิในการทำงาน ซึ่งผู้สูงอายุติดเตียงและพึ่งพิง กลุ่ม รพ.สต. ถ่ายโอนมีค่าเฉลี่ยสูงกว่า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .05 (t = 2.25, 2.38; p =.03, .02 ตามลำดับ) ในขณะที่ความพอใจกับการช่วยเหลือที่เคยได้รับจากเพื่อน พบว่า กลุ่ม รพ.สต. ถ่ายโอนมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (t = -2.34, p = .02) ผลการวิจัยเชิงคุณภาพ ในการจัดระบบบริการสุขภาพของผู้สูงอายุติดเตียงและพึ่งพิง ระดับปฐมภูมิ ภายหลังถ่ายโอน รพ.สต. ไป อบจ. พบว่า 1) ด้านกำลังคนด้านสุขภาพ (Health workforce) ต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงระบบ แต่บทบาทและการทำหน้าที่ยังเหมือนเดิม ถ่ายโอนไปเฉพาะระบบแต่คนไม่ได้ถ่ายโอนตาม บทบาทสาธารณสุขอำเภอที่เป็นฟันเฟืองระดับอำเภอขาดหายไป และภาระงานของบุคลากรล้นมือ 2) ระบบสารสนเทศด้านสุขภาพ (Health information system) ขาดระบบการเชื่อมต่อฐานข้อมูลที่ใช้ร่วมกัน 3) การเข้าถึงยาและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่จำเป็น (Access to essential medicines and health technology) ผู้สูงอายุมีความยากลำบากในการไปรับบริการ ต้องหาข้อตกลงร่วมกันในการจัดสรรการซื้อยาและเวชภัณฑ์ 4) การจัดการระบบการเงินการคลังและการแบ่งปันทรัพยากร (Financing system) หาข้อตกลงร่วมกันในการแบ่งปันทรัพยากร การดำเนินงานต่าง ๆ อิงตามระเบียบและกฎหมายในการบริหารจัดการงบประมาณ 5) ภาวะผู้นำและการอภิบาลระบบ (Leadership and governance) การสร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน สานต่อสัมพันธภาพที่ดีต่อกันเพื่อร่วมกันทำงานเหมือนเดิม 6. ระบบสุขภาพชุมชน (Community health system) มีต้นทุนเดิมที่เป็นเป้าหมายเดียวกันในการดูแลผู้สูงอายุที่ติดเตียงและพึ่งพิง 7) การจัดระบบบริการผู้สูงอายุ (Service delivery) พบว่า มีอุปสรรคที่สำคัญ ได้แก่ การเข้าถึงระบบบริการ Long term care ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละท้องถิ่นซึ่งขาดบุคลากรที่รับผิดชอบในการจัดระบบการดูแลผู้สูงอายุ (Care manager) รวมถึงระบบ Long term care ที่มีรอยต่อที่ต้องรอเวลาในการคัดกรองตามวงรอบเพื่อขึ้นทะเบียนในระบบ Long term care และสัดส่วนผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) ไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้สูงอายุติดเตียงที่เพิ่มขึ้นในแต่ละพื้นที่
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้