งานวิจัยมาใหม่แนะนำ
โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน จะต้องมีการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาลดน้ำตาลในเลือด และจากนโยบายให้มีการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ โดยผู้ป่วยหวังผลว่าการใช้กัญชาร่วมกับยารักษาแผนปัจจุบันจะทำให้โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทุเลาหรือหายได้ จึงมีโอกาสเกิดอันตรกิริยาของยารักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังกับกัญชาได้ ทั้งนี้ กัญชาเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะใช้วิถีแปรรูปยาชนิดเดียวกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือยาลดน้ำตาลในเลือด ดังนั้น หากให้ยาดังกล่าวร่วมกับการใช้กัญชา จึงมีโอกาสทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาได้ หรือในทางกลับกันหากยาสามารถใช้เอนไซม์หรือวิถีแปรรูปยาได้มากกว่ากัญชา ก็อาจจะทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากกัญชาได้ การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบจากอันตรกิริยาของการใช้กัญชาร่วมกับยารักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยมีวิธีการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับการใช้กัญชาร่วมกับยารักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และวิธีการรวบรวมกรณีรายงานผู้ป่วยที่ใช้กัญชาร่วมกับยา warfarin หรือ glipizide ผลการศึกษาในส่วนของการทบทวนวรรณกรรมพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยา warfarin ร่วมกับกัญชาในรูปแบบของการสูบ หรือรับประทานเป็นรูปของยาหรือผลิตภัณฑ์ ได้รับผลกระทบคือ ทำให้ค่า International Normalize Ratio (INR) เพิ่มขึ้นจาก 2.5-3.5 เป็น 4.6-5.2 ซึ่งคาดว่าเป็นผลจากการยับยั้งเอนไซม์ CYP2C9 ของสารสำคัญในกัญชาคือ Cannabidiol (CBD) ทำให้การกำจัดยา warfarin ช้าลง ส่งผลให้ระดับยา warfarin ในเลือดสูงและเป็นสาเหตุทำให้ค่า INR เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังพบยาที่น่าจะเกิดผลกระทบจากการใช้กัญชาหรือผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1) Brivaracetam (CBD→CYP2C19 inhibition) → เพิ่มระดับยาในเลือด 2) Tacrolimus (CBD→CYP3A4 inhibition) → เพิ่มระดับยาในเลือด 3) Everolimus (CBD→CYP3A4 inhibition) → เพิ่มระดับยาในเลือด และ 4) Carbamazepine (CBD→CYP3A4 inhibition) → เพิ่มระดับยาในเลือด ผลการศึกษาในส่วนของกรณีรายงานพบว่า สำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยา warfarin สามารถรวบรวมได้จำนวน 3 ราย โดยผู้ป่วยทั้ง 3 ราย ได้เข้ารับการรักษาที่คลินิก warfarin มาตลอดและสม่ำเสมอมาตลอด ระดับ INR อยู่ในช่วงที่แพทย์กำหนดโดยตลอด ต่อมาเมื่อผู้ป่วยเริ่มใช้กัญชาหรือผลิตภัณฑ์กัญชาในรูปแบบของน้ำต้มใบ หรือชงชา หรือน้ำมันช่อดอกหยดใต้ลิ้น เพื่อจุดประสงค์ให้นอนหลับดี คลายเครียด โดยส่วนใหญ่พบว่าระดับ INR มีระดับที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ยังไม่มีอาการแสดง เมื่อเภสัชกรแนะนำให้หยุดใช้ และนัดมาติดตาม หลังจากหยุดใช้กัญชาพบว่าระดับ INR มีระดับลดลงกลับไปอยู่ในช่วงที่แพทย์กำหนดไว้ ส่วนกรณีรายงานสำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยา glipizide สามารถรวบรวมได้จำนวน 2 ราย โดยผู้ป่วยทั้ง 2 ราย เข้ารับการรักษาโรคเบาหวานอย่างสม่ำเสมอมาตลอด และสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้บ้างไม่ได้บ้าง หลังจากผู้ป่วยเริ่มใช้กัญชา ทั้งรูปแบบชาชง สูดดม หรือน้ำมันช่อดอกแบบหยดใต้ลิ้น เพื่อจุดประสงค์รักษาโรคที่เป็นอยู่ หรือทำให้นอนหลับดี คลายเครียด หรือลดน้ำตาลในเลือด เป็นเวลา 1 เดือน เมื่อมาตรวจติดตามพบว่าระดับน้ำตาลในเลือด Fasting Blood Sugar (FBS) ไม่เปลี่ยนแปลงมาก แต่ผู้ป่วยให้ข้อมูลว่ามักจะมีอาการใจสั่น หวิวๆ เหงื่อแตก คล้ายจะเป็นลม หลังจากดื่มน้ำหวาน จะมีอาการดีขึ้น แต่ไม่ได้วัดระดับน้ำตาลที่ปลายนิ้วมือ ณ ขณะที่มีอาการ ดังนั้น จากผลการศึกษาทำให้สรุปได้ว่าการที่ผู้ป่วยไปใช้กัญชาร่วมกับการรับประทานยารักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จะมีโอกาสเกิดอันตรกิริยาที่กระบวนการเภสัชจลนศาสตร์ โดยเฉพาะกระบวนการแปรรูปยา โดยยาที่มีวิถีแปรรูปชนิดเดียวกับกัญชาจะมีโอกาสเกิดผลกระทบจากอันตรกิริยามาก เช่น ยา warfarin ยา glipizide เป็นต้น โดยยาทั้ง 2 ชนิดนี้ใช้วิถีแปรรูปยาโดยใช้เอนไซม์ CYP2C9 ซึ่งเป็นเอนไซม์ชนิดเดียวกันกับวิถีแปรรูปของกัญชาหรือสารสำคัญในกัญชา ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์ควรเลือกใช้ยาอย่างระมัดระวัง โดยพิจารณาถึงการใช้กัญชาในผู้ป่วย รวมทั้งให้ความรู้แก่ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มที่มีวิถีแปรรูปยาชนิดเดียวกับกัญชาว่าควรหลีกเลี่ยงการใช้กัญชา เพื่อให้มีการป้องกันอันตรกิริยาจากการใช้กัญชาร่วมกับยารักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้