ชั้น 4 อาคารสุขภาพแห่งชาติ เลขที่ 88/39 ถ.ติวานนท์ 14 ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
ขนาดตัวอักษร
-
+
ความตัดกันของสี
C
C
C
icon-lang-thภาษาไทย
ค้นหา
เมนู
จำนวนผู้อ่าน : 997 คน
การประเมินความเป็นไปได้และความคุ้มค่าในการให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ผ่านสายด่วนตั้งครรภ์ไม่พร้อม ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
นักวิจัย :
กุมารี พัชนี , ภิชารีย์ กรุณายาวงศ์ , ธนายุต เศรณีโสภณ , มันตา กรกฎ , อธิพร เรืองทวีป , นภดล พิมสาร ,
ปีพิมพ์ :
2567
สนับสนุนโดย :
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
วันที่เผยแพร่ :
26 สิงหาคม 2567

การยุติการตั้งครรภ์ หรือการทำแท้งในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2554-2563 มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น โดยปัจจัยสำคัญของการยุติการตั้งครรภ์ คือ สภาพเศรษฐกิจและสังคม และปัจจัยด้านสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐได้มีการพัฒนาระบบและกลไกในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย เช่น การปรับแก้ไขกฎหมายเพื่อให้รองรับการยุติการตั้งครรภ์ช่วงอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ และมีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการยุติการตั้งครรภ์ผ่านสิทธิประโยชน์ทั้งประกันสังคม กรมบัญชีกลาง และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ยังคงมีข้อจำกัดด้านการเข้าถึงสถานพยาบาลที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ เนื่องจากการให้บริการเป็นไปตามความสมัครใจของบุคลากรทางการแพทย์และสถานพยาบาล สายด่วนการตั้งครรภ์ไม่พร้อม (1663) โดยมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เปิดให้บริการปรึกษาปัญหาท้องไม่พร้อมและส่งต่อผู้เข้ารับบริการไปยังสถานพยาบาลเครือข่ายตามความเหมาะสมของผู้เข้ารับบริการแต่ละราย เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณที่ไม่ต่อเนื่องและเพียงพอ ทำให้สายด่วนการตั้งครรภ์ไม่พร้อม (1663) ต้องปรับลดจำนวนคู่สายการให้บริการจาก 10 คู่สาย เหลือเพียง 5 คู่สาย จึงไม่สามารถให้บริการได้เพียงพอกับจำนวนผู้เข้ารับบริการ ส่งผลต่อจำนวนสายที่โทรเข้าและไม่ได้รับบริการ หรือ missed call มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี ดังนั้นเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของการดำเนินการและเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการมากขึ้น คณะผู้วิจัยจึงดำเนินการศึกษาวิจัย “การประเมินความเป็นไปได้และความคุ้มค่าในการให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ผ่านสายด่วนการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการให้บริการให้คำปรึกษาสายด่วนการตั้งครรภ์ไม่พร้อม (1663) 2) เพื่อศึกษาต้นทุนต่อหน่วยของการให้บริการสายด่วนการตั้งครรภ์ไม่พร้อม (1663) 3) เพื่อศึกษาความคุ้มค่าการให้บริการสายด่วนการตั้งครรภ์ไม่พร้อม (1663) และ 4) เพื่อศึกษาความเหมาะสมของรูปแบบการให้บริการปัจจุบัน และความเป็นไปได้ในการขยายบริการให้คำปรึกษาสายด่วนการตั้งครรภ์ไม่พร้อม (1663) การศึกษานี้มีรูปแบบการศึกษาเป็นแบบผสมวิธี (mixed methods) ทั้งการศึกษาเชิงปริมาณ (quantitative methods) และเชิงคุณภาพ (qualitative methods) ของแต่ละวัตถุประสงค์ และวิเคราะห์จากฐานข้อมูลการเข้ารับบริการของสายด่วนการตั้งครรภ์ไม่พร้อม (1663) ระหว่าง พ.ศ. 2559-2565 และรายงานงบประมาณประจำปีของสายด่วนการตั้งครรภ์ไม่พร้อม (1663) ซึ่งวิธีการศึกษาประกอบด้วย 1) การศึกษาต้นทุนต่อหน่วยของการให้บริการในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ โดยคำนวณต้นทุนทุกอย่างที่เกิดขึ้นในการให้บริการ 1 ครั้ง 2) การวิเคราะห์ต้นทุนผลได้ (cost-benefit analysis หรือ CBA) ซึ่งเปรียบเทียบระหว่างต้นทุน (cost) และผลลัพธ์ (benefit) ของการให้บริการ และ 3) การสัมภาษณ์เชิงลึก (in-depth interview) และการสัมภาษณ์กลุ่ม (group interview) ในมุมมองบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีต่อการให้บริการของสายด่วนการตั้งครรภ์ไม่พร้อม (1663) และมุมมองของเจ้าหน้าที่สายด่วนการตั้งครรภ์ไม่พร้อม (1663) ผลการศึกษาพบว่า 1) จำนวนผู้โทรเข้ามารับบริการให้คำปรึกษาในแต่ละปีมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจาก 12,144 คนใน พ.ศ. 2558 เป็น 43,997 คนใน พ.ศ. 2565 ส่วนจำนวนสายที่ได้รับบริการมีแนวโน้มลดลงตามจำนวนคู่สายที่ปรับลดจาก 7 คู่สายเหลือ 5 คู่สาย ซึ่งความสามารถในการรองรับผู้เข้ารับบริการให้คำปรึกษาจะยังไม่เพียงพอกับความต้องการของจำนวนผู้โทรเข้ารับบริการในแต่ละปี และสถานพยาบาลเครือข่ายในปัจจุบันเพียงพอต่อจำนวนผู้ประสงค์จะยุติการตั้งครรภ์ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี 2) ต้นทุนเฉลี่ยของการให้บริการที่ 153 บาทต่อครั้ง โดยมีภาระงบประมาณของการให้บริการในช่วง 4 ปี คือ 50.8 ล้านบาท 3) บริการสายด่วนการตั้งครรภ์ไม่พร้อม (1663) มีความคุ้มค่าในการบริการ เนื่องจากสามารถช่วยลดจำนวนการเสียชีวิตและการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย และ 4) รูปแบบการให้บริการในปัจจุบันของสายด่วนการตั้งครรภ์ไม่พร้อม (1663) มีความเหมาะสม สามารถให้บริการปรึกษา การส่งต่อผู้รับบริการไปยังสถานพยาบาลเครือข่ายทั่วประเทศ ทำให้ผู้รับบริการสามารถเข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้ถูกต้องตามกฎหมาย และมีความเป็นไปได้ในการขยายการให้บริการในอนาคต เนื่องจากสายด่วนการตั้งครรภ์ไม่พร้อม (1663) และสถานพยาบาลเครือข่ายมีความพร้อมในการรองรับผู้รับบริการที่เพิ่มมากขึ้น ข้อจำกัดของการศึกษาด้านการวิเคราะห์ข้อมูลประสิทธิผลของการให้บริการ เนื่องจากไม่มีระบบการติดตามผลของผู้เข้ารับบริการที่ส่งต่อเพื่อยุติการตั้งครรภ์ ระหว่างสายด่วนการตั้งครรภ์ไม่พร้อม (1663) กับสถานพยาบาลเครือข่าย ดังนั้นประสิทธิผลของการให้บริการจึงเน้นที่ผลลัพธ์ของการส่งต่อเพื่อยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อสายด่วนการตั้งครรภ์ไม่พร้อม (1663) 1) ควรพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น 2) ควรบูรณาการและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับสถานพยาบาลเครือข่ายเพื่อใช้ในการติดตามและประเมินผลการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ของผู้รับบริการ 3) ควรเพิ่มช่องทางในการรับการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อสร้างความยั่งยืนและลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อผู้กำหนดนโยบาย คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ควรพิจารณาให้ทุนสนับสนุนสายด่วนการตั้งครรภ์ไม่พร้อม (1663) โดยจัดสรรงบประมาณปีละ 10.5 ล้านบาท โดยให้บริการ 70,000 ครั้งต่อปี และให้มีการติดตามประเมินผลภายใน 5 ปี


ลิงก์ต้นฉบับ : https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/6142

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบนเว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

จัดการความเป็นส่วนตัว
คุกกี้ที่มีความจำเป็น
(Strictly Necessary Cookies) เปิดใช้งานตลอด

คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้