ข่าว/ความเคลื่อนไหว
สวรส. จัดเวทีเสวนาวิชาการ เคลื่อนขยายผลต่อยอดงานวิจัย พร้อมจับมือเครือข่าย แก้ปัญหา “สารปรอท-มลพิษ” อย่างเป็นรูปธรรม
จากที่ประเทศไทยได้ร่วมเป็นสมาชิกของอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยสารปรอท (The Minamata Convention on Mercury) เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 เพื่อร่วมสนับสนุนการปกป้องสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากการปลดปล่อยสารปรอท และสารประกอบปรอทจากกิจกรรมของมนุษย์สู่อากาศ แหล่งน้ำ และดิน โดยรัฐบาลไทยได้มีพันธกรณีตามอนุสัญญาฯ ซึ่งได้จัดทำแผนการระดับชาติเพื่อควบคุมการปลดปล่อยปรอทสู่อากาศจากแหล่งกำเนิดให้ครอบคลุมการปลดปล่อยให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75
ทั้งนี้ในด้านการศึกษาวิจัย ประเด็นปัญหาดังกล่าวมีงานวิจัยเกี่ยวกับการปนเปื้อนของสารปรอทในสิ่งแวดล้อมและการสะสมในสิ่งมีชีวิต อยู่จำนวนมากซึ่งมีข้อมูลที่สอดคล้องกันถึงอันตรายและผลกระทบของสารปรอท โดย “โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการพัฒนาระบบเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน กรณี มลพิษข้ามแดนจากโรงไฟฟ้าหงสา สปป.ลาว ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นโครงการหนึ่งที่พบข้อมูลและร่วมสนับสนุนการแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าว โดยงานวิจัยได้พบข้อมูลจากการวิจัยโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยจากหลากหลายวิชาชีพ ถึงอันตรายและผลกระทบของสารปรอทในสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต โดยทีมวิจัยได้ตรวจพบการปนเปื้อนสารปรอทในปลาและเส้นผมของหญิงวัยเจริญพันธุ์ ในพื้นที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ซึ่งถึงแม้ไม่เกินค่ามาตรฐานแต่ก็เป็นสัญญานเตือนว่า ควรจะต้องเริ่มมีการเฝ้าระวังพื้นที่นี้อย่างต่อเนื่อง
ซึ่งนำมาสู่เวทีเสวนาวิชาการ “จากอนุสัญญามินามาตะสู่การควบคุมปรอทในประเทศไทย” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นเวทีความร่วมมือของภาคีเครือข่ายสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ ทั้งสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.), ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), สถาบันพัฒนาระบบประเมินผลกระทบทางสุขภาพโดยชุมชน (Community Health Impact Assessment Platform), วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีอุตรธานี คณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันพระบรมราชชนก กระทระทรวงสาธารณสุข, องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส และมูลนิธิบูรณะนิเวศ
ทั้งนี้ในเวทีมีประเด็นสำคัญๆ อาทิ ผลการศึกษาวิจัยการปนเปื้อนของสารปรอทในสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่อุตสาหกรรมของประเทศไทย , สาระสำคัญของอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยสารปรอท (The Minamata Convention on Mercury) และโรคจากพิษปรอท การเฝ้าระวัง และการควบคุมโรค , แนวทางการเฝ้าระวังและป้องกันความเสี่ยงทางสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์และเด็กปฐมวัยจากมลพิษปรอท รวมทั้งสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีในกลไกด้านสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและอาเซียน-วิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองกับการเฝ้าระวังปรอท ฯลฯ ซึ่งในการเสวนามีการนำเสนอการศึกษาวิจัยต่างๆ ที่ระบุถึงอันตรายและผลกระทบของสารปรอท การมีส่วนร่วมเรียนรู้และตระหนักถึงผลกระทบ ตลอดจนการสามารถเฝ้าระวังมลพิษจากแหล่งกำเนิดต่างๆได้ด้วยตัวเอง ตลอดจนการขับเคลื่อนเรื่องนี้ทั้งในเชิงป้องกันและแก้ปัญหา ด้วยแง่มุมของงานวิจัยและการใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เป็นฐานสำคัญ การพัฒนากฏหมาย ตลอดจนนำเสนอต่อผู้กำหนดนโยบายเพื่อให้เห็นความสำคัญของเรื่องดังกล่าวซึ่งเป็นผลกระทบที่ใกล้ตัวและรุนแรง โดยที่ทุกคนไม่อาจรอดพ้นจากอันตรายนี้ไปได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ความสำคัญของผลสรุปสุดท้ายจากเวทีนี้ จะนำไปสู่การสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบายในการกำหนดมาตรการเพื่อปกป้องสุขภาพของกลุ่มเปราะบาง ให้เป็นรูปธรรมต่อไป
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้