ข่าว/ความเคลื่อนไหว
คณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) เป็นคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นในองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในจังหวัดที่มีการรับถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยโครงสร้างของ กสพ. ประกอบด้วย นายก อบจ. เป็นประธานกรรมการฯ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด เป็นรองประธานกรรมการฯ พร้อมมีกรรมการประกอบด้วย ท้องถิ่นจังหวัด ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สาขาเขต ผู้แทนสถานพยาบาลของรัฐ สาธารณสุขอำเภอ ผู้แทน สอน. และ รพ.สต. ที่ได้รับการถ่ายโอน ผู้แทนวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข ผู้แทนภาคประชาชน ผู้ทรงคุณวุฒิหรือนักวิชาการด้านการบริหารงานสาธารณสุข และประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านระดับจังหวัด โดยมีปลัด อบจ. เป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุข เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นที่ปรึกษา ดังนั้น กสพ. จึงนับเป็นกลไกที่มีส่วนร่วมของทั้งด้านกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และภาคประชาชน ซึ่งควรได้รับการเสริมพลังให้มีองค์ความรู้และมีความเข้มแข็ง เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์กับประชาชน
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงร่วมกับสถาบันพระบรมราชชนก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดการสัมมนาวิชาการ “การพัฒนาศักยภาพของคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) ภายหลังการถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด” เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินงานของ กสพ. แต่ละพื้นที่ และนำเสนอข้อมูลงานวิจัยเรื่องการศึกษาบทบาทหน้าที่ของ กสพ. ภายหลังการถ่ายโอน รพ.สต. ใน อบจ. : กรณีศึกษาจังหวัดน่าน ระยอง ปราจีนบุรี นครราชสีมา สงขลา และภูเก็ต ตลอดจนการพัฒนาเครือข่ายผู้ปฏิบัติหน้าที่ กสพ. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ควบคู่กับการเสริมองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ไปในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ในเวทีสัมมนาฯ ได้รับเกียรติจาก นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นประธานในพิธีเปิดและปาฐกถาพิเศษหัวข้อ กสพ. ข้อต่อสำคัญ เพื่อการถ่ายโอนอย่างไร้รอยต่อ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่มีส่วนในการขับเคลื่อนการกระจายอำนาจด้านสุขภาพของประเทศ อาทิ นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ อดีตประธานคณะอนุกรรมการบริหารภารกิจถ่ายโอนด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วยท้องถิ่น (อปท.) นางสาวภัชร์จิรัสม์ ธัชเมฆรัตน์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานป้องกันโรค กองสาธารณสุขท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สวรส. ฯลฯ รวมทั้งมี นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นายก อบจ. ปลัด อบจ. ผู้อำนวยการกองสาธารณสุข อบจ. ผู้อำนวยการ รพ.สต. จาก 64 จังหวัดที่มีการถ่ายโอน รพ.สต. ร่วมสัมมนา onsite กว่า 300 คน และ online กว่า 1,000 คน เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2567 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต
ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า ภายหลังการถ่ายโอน รพ.สต. ทำให้ กสพ. เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการถ่ายโอน รพ.สต. ให้เดินไปในทิศทางที่เหมาะสม และมีการดำเนินงานที่เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด โดย กสพ. แต่ละพื้นที่จำเป็นต้องมีข้อมูลเชิงประจักษ์เป็นฐานในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาสุขภาพระดับพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น สถานการณ์และปัญหาของพื้นที่ และการจัดลำดับความสำคัญของปัญหาสุขภาพในพื้นที่ ซึ่งแต่ละพื้นที่ย่อมมีปัญหาที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ข้อมูลเชิงประจักษ์จะเป็นพลังความรู้ที่จะทำให้อำนาจหน้าที่มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลจากงานวิจัย และจาก Dashboard ต่างๆ เช่น Dashboard HSIU เพื่อนำข้อมูลมาวางแผน กำหนดเป้าหมายและแนวทางในการพัฒนาบุคลากร การบริหารงบประมาณ การจัดบริการสุขภาพให้สอดคล้องกับมาตรฐานต่างๆ ตามเป้าหมายของงานด้านสาธารณสุข และเกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพปฐมภูมิที่ส่งผลให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี ตลอดจนการกำกับดูแลและประเมินผล โดยบทบาทหน้าที่ที่ กสพ. ควรดำเนินการคือการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการถ่ายโอน โดยมีการจัดทำแนวทางการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้การบูรณาการการทำงานร่วมกันกับกลไกอื่นๆ
ในพื้นที่ เช่น คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) คณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับจังหวัด (คปสจ.) ฯลฯ เพื่อนำไปสู่ภาพที่พึงประสงค์คือ ประชาชนเจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้ลดลง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต ฯลฯ เกิดธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ รวมถึงเน้นการสร้างเสริมสุขภาพและการควบคุมป้องกันโรคที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพื่อการสร้างระบบที่เข้มแข็งและยั่งยืนในอนาคต
ดร.นภชา สิงห์วีรธรรม ทีมวิจัยการศึกษาบทบาทหน้าที่ของ กสพ. ภายหลังการถ่ายโอน รพ.สต. ใน อบจ. : กรณีศึกษาจังหวัดน่าน ระยอง ปราจีนบุรี นครราชสีมา สงขลา และภูเก็ต เครือข่ายนักวิจัย สวรส. จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอว่า งานวิจัยเน้นศึกษาบทบาทหน้าที่ที่ดำเนินการอยู่ และบทบาทหน้าที่ที่พึงประสงค์ของ กสพ. ในพื้นที่กรณีศึกษาฯ เพื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์เป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยพบข้อมูลเบื้องต้นว่า หลายพื้นที่มีการดำเนินงานที่เป็น Best Practice หลายเรื่อง เช่น มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อให้เกิดการบริหารงานที่มีคุณภาพเฉพาะเรื่อง อาทิ อนุกรรมการด้านบริหารจัดการยาเวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยา อนุกรรมการด้านทันตสุขภาพ เป็นต้น มีการสร้างนวัตกรรมด้านสุขภาพในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ มีการนำ Dashboard มาใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนเรื่องต่างๆ ฯลฯ ส่วนบทบาทที่ยังไม่ได้ดำเนินการ อาทิ การส่งเสริม สนับสนุน กำกับ ดูแล และประเมินผลการปฏิบัติราชการของ สอน. และ รพ.สต. ที่ได้รับการถ่ายโอน เพื่อรายงานผลต่อสภา อบจ. การกำหนดเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ การจัดให้มีคณะกรรมการนโยบายบริหารสถานบริการสาธารณสุข การให้ความเห็นชอบต่อ อบจ. เกี่ยวกับงบประมาณที่จะสมทบโครงการและกิจกรรมของกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับพื้นที่ ฯลฯ ด้านโครงสร้าง กสพ. ที่ควรปรับปรุง ควรกำหนดคุณสมบัติของตัวแทนภาคประชาชนให้ชัดเจน เช่น เป็นผู้ที่ใกล้ชิดประชาชน สามารถเป็นตัวแทนเสนอความต้องการของประชาชน และเป็นผู้ที่มีความรู้หรือประสบการณ์ด้านสาธารณสุข เพื่อพิจารณาเรื่องต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม ควรเพิ่มสัดส่วนของคณะกรรมการ กสพ. ที่มาจากผู้อำนวยการ รพ.สต. ให้มีจำนวนที่สอดคล้องกับจำนวน รพ.สต. ที่ถ่ายโอน ฯลฯ นอกจากนี้ งานวิจัยได้มีการจัดทำร่างแนวทางปฏิบัติคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2567 เพื่อเป็นคู่มือให้กับ กสพ. นำไปเป็นแนวทางในการดำเนินงานส่งเสริมและสนับสนุนการจัดบริการปฐมภูมิให้มีคุณภาพ มีความคล่องตัว และเกิดประสิทธิผล
ทั้งนี้ในการสัมมนาดังกล่าวได้มีการเสวนาห้องย่อย เพื่อนำเสนอตัวอย่างการดำเนินงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน 3 เรื่องได้แก่ 1) การบริหารแผนและงบประมาณ : กสพ. ควรทำหน้าที่ในการสนับสนุนให้การดำเนินงานของหน่วยบริการปฐมภูมิส่งผลให้เกิดประชาชนมีสุขภาพที่ดี และต้องมีการจัดสรรงบประมาณให้กับ รพ.สต. อย่างชัดเจนและเหมาะสม โดยเฉพาะเงินบำรุง เพื่อไม่ให้งบขาดดุลไปกับการจ้างบุคลากร ทั้งนี้ภายหลังการถ่ายโอนฯ ทำให้บางพื้นที่สามารถบริหารจัดการงบประมาณได้คล่องตัวมากขึ้น ควรเลี่ยงการจัดสรรงบประมาณแบบเหมาจ่ายหัว แต่ควรจ่ายตามผลงานที่ดำเนินการจริง ควรใช้แนวคิดการจัดสรรงบประมาณแบบร่วมกันคิดในระดับพื้นที่ โดยให้พื้นที่ปรึกษาหารือร่วมกันในระดับจังหวัดแล้วนำเสนอผ่านมติ กสพ. การจัดสรรงบประมาณควรสอดคล้องกับแนวทางการคำนวณวงเงินของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 2) การบริหารทรัพยากรบุคคลและการพัฒนาระบบบริการ : ควรใช้ระบบฐานข้อมูลร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวทั้งจังหวัด เพื่อการบริหารอัตรากำลังคนและการพัฒนาระบบบริการ 3) การกำกับและประเมินผลตัวชี้วัดโดยใช้เทคโนโลยีในการจัดการสุขภาพ : มีการใช้ข้อมูลในการกำกับติดตามและประเมินผลด้านการบริหารเงินบำรุงและทรัพยากรบุคคล และการประเมินผลการปฏิบัติงาน มีการเลือกใช้โปรแกรมในการนำเสนอ Dashboard ที่มีความเหมาะสม เช่น Looker studio มีการนำ Dashboard มาใช้ในการควบคุมกำกับติดตามอย่างเป็นรูปธรรม และมีการคืนข้อมูลให้กับผู้ปฏิบัติงานอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ ส่วนประเด็นความท้าทายจะเป็นในเรื่องของการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลที่ต้องเชื่อมต่อกับระบบฐานข้อมูล HDC/PPC on cloud การบูรณาการการใช้ข้อมูลในระดับประเทศ การนำระบบการกำกับติดตามโดยใช้ Dashboard ไปสู่การปฏิบัติในหลายๆ อบจ. การนำข้อมูลไปเผยแพร่ให้กับสาธารณะได้นำไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน ความยั่งยืนของระบบบริหารจัดการข้อมูล ฯลฯ
1
20
1
20
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้