ข่าว/ความเคลื่อนไหว
โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เป็นโรคเบาหวานที่พบได้ในทุกอายุ และพบบ่อยในเด็กวัยเรียน วัยรุ่น และวัยทำงาน มีสาเหตุเฉพาะต่างจากเบาหวานชนิดที่ 2 คือ เกิดจากเซลที่ผลิตฮอร์โมนอินซูลินเสื่อมสภาพไป ทำให้ร่างกายไม่มีฮอร์โมนอินซูลิน หรือมีไม่เพียงพอต่อกระบวนการทำงานในระบบสมดุลน้ำตาลของร่างกาย การรักษาจึงต้องมีการฉีดฮอร์โมนอินซูลินเข้าไปในร่างกายให้ระดับน้ำตาลมีความสมดุล ดังนั้นผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับการฉีดอินซูลิน การรับประทานอาหารเพื่อควบคุมระดับ ซึ่งการวินิจฉัยผู้ป่วยจำเป็นต้องแยกผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ออกจากผู้ป่วยเบาหวานวินิจฉัยอายุน้อยกว่า 30 ปี และเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีสาเหตุจากภาวะอ้วน วิถีชีวิต และพันธุกรรม เพื่อการรักษาอย่างถูกวิธีและเหมาะสมกับชนิดของโรค ทั้งนี้ข้อมูลจากสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ณ 1 มี.ค. 2567 ประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ที่ลงทะเบียนโดยโรงพยาบาลในเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 จำนวน 5,143 คน [1] ซึ่งจำนวนของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 ที่ได้รับการวินิจฉัยก่อน 30 ปี มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนชุดสิทธิประโยชน์ของสิทธิ์บัตรทองในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ปัจจุบันครอบคลุม 3 เรื่อง ได้แก่ 1) ค่าบริการการสอนและประเมินศักยภาพการดูแลตนเองให้ผู้รับบริการ (Diabetes Self Management Education and Support: DSME module) 2) ค่าบริการชุดตรวจระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเอง 3) ค่าตรวจคัดกรองภาวะแทรกซ้อนประจำปี ได้แก่ HbA1c, Microalbuminuria, Lipid profile, ตรวจตาและตรวจเท้า
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงร่วมกับสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดการประชุมวิชาการเครือข่ายบริบาลและการลงทะเบียนเบาหวานชนิดที่ 1 และเบาหวานวินิจฉัยก่อนอายุ 30 ปี (T1DDAR CN) หัวข้อ Update of Type 1 Diabetes and Diabetes in the Young เพื่อนำเสนอความรู้วิชาการและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการให้ความรู้และสร้างทักษะเพื่อการดูแลโรคเบาหวานด้วยตนเอง และการช่วยเหลือสนับสนุนให้มีการดูแลตนเองผ่านระบบการดูแลแบบเครือข่าย ตลอดจนการจัดระบบสิทธิการเบิกจ่าย อุปกรณ์ ยา และสิ่งจำเป็นในการรักษาผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐาน และสามารถนำไปวินิจฉัยและดูแลผู้ป่วยได้ถูกต้อง โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ Prevention of type 1 diabetes, Insulin delivery 2024, สิทธิประโยชน์และแนวทางการเบิกจ่ายของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ในประเทศไทย, Algorithm for diagnosis type of diabetes, How to implement DSME modules successfully ฯลฯ ทั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นผู้แทนจากกรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม สปสช. และบุคลากรทางการแพทย์จากเครือข่ายโรงพยาบาลทั่วประเทศ 70 แห่ง รวมกว่า 300 คน ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กทม.
สำหรับการประชุมวิชาการดังกล่าว เป็นการประชุมที่เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย สวรส. “โครงการการลงทะเบียนผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และผู้ป่วยเบาหวานที่วินิจฉัยก่อนอายุ 30 ปี และการบริบาลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1” ซึ่งงานวิจัยได้มีการพัฒนาระบบการลงทะเบียนและการดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 และผู้ป่วยเบาหวานที่วินิจฉัยก่อนอายุ 30 ปีมาอย่างต่อเนื่อง เข้าสู่ปีที่ 3 จนปัจจุบันสามารถสร้างเครือข่ายโรงพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานฯ ได้เพิ่มขึ้น เป็นจำนวน 99 แห่งทั่วประเทศ และจากการพัฒนาระบบการดูแล รวมทั้งมีการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง พบว่า ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ที่จำเป็นต้องฉีดยาอินซูลินตลอดชีวิต เมื่อได้รับการรักษาตามรูปแบบของเครือข่าย T1DDAR CN และโปรแกรมการให้ความรู้และสร้างทักษะเพื่อการดูแลโรคเบาหวานด้วยตนเอง (DSME module) ทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมค่าน้ำตาลสะสมดีขึ้น รวมทั้งไม่มีภาวะแทรกซ้อนแบบเฉียบพลันในทุกกลุ่มอายุ และในกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไป พบว่า มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งผลลัพธ์โดยรวมมีความคุ้มค่าในบริบทของประเทศไทย
นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการทำงานร่วมกันในรูปแบบเครือข่ายของสมาคมวิชาชีพฯ มีทีมผู้รักษาที่สามารถให้บริการตามรูปแบบของ DSME module และมีการดำเนินงานเป็นระบบเครือข่าย มีระบบการลงทะเบียนข้อมูล ติดตาม ใน REDCap Program ร่วมกัน ทั้งนี้โครงการลงทะเบียนติดตามผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และเบาหวานที่ได้รับการวินิจฉัยก่อนอายุ 30 ปี เป็นการเก็บข้อมูลแบบสหสถาบันในประเทศไทยจากโรงพยาบาล 13 เขตบริการสุขภาพ รวม 57 แห่ง ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีการผลักดันรูปแบบการดูแลผู้ป่วยดังกล่าวเข้าสู่แผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป
........................
ข้อมูลจาก
[1] T1DDAR DASHBOARD. (cmu.ac.th)
เบาหวานชนิดที่1
เคยมีการตั้งสมมุติฐานบ้างมั้ยคะว่าขณะแม่ตั้งท้อง แม่กินหวานมากเกินจนเป็นให้ ตับอ่อนของเด็กเสื่อมไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ ตั้งแต่อยู่ในท้อง
นำเสนอระบบ CKAN
เคยมีการตั้งสมมุติฐานบ้างมั้ยคะว่าขณะแม่ตั้งท้อง แม่กินหวานมากเกินจนเป็นให้ ตับอ่อนของเด็กเสื่อมไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ ตั้งแต่อยู่ในท้อง
1
20
1
20
คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น
คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สวรส เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สวรส. ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้