คณะกรรมการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายร้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพ ประชุมกำหนด “ทิศทางและยุทธศาสตร์ 5 ปี เพื่อขับเคลื่อนนโยบายร้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพ” โดยมี ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรมคนที่ 2 และนายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทย เป็นประธานการประชุม นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.), นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ ร่วมประชุม เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2567 ณ โรงแรมรอยัลไดมอน จ.เพชรบุรี
ประเด็นสำคัญของการประชุม คณะกรรมการได้ร่วมกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์ 5 ปี เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายร้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพ โดยสภาเภสัชกรรมนำเสนอยุทธศาสตร์ 5 ปี ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับแนวนโยบายร้านยาของ สปสช. และบริบทสถานการณ์ทางสุขภาพที่เปลี่ยนไป ใน 4 ด้าน โดยมีเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ 1) ร้านยาเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิที่ดูแลครอบคลุมระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน 2) เพิ่มการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพของร้านยาให้ได้ 1 ตำบล 1 ร้านยา 3) สร้างเภสัชกรให้เป็นเภสัชกรประจำครอบครัวให้บริการด้านการสร้างเสริมป้องกัน ดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย โรคเรื้อรัง และดูแลระยะท้าย และ 4) ส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ตลอดจนฐานข้อมูลในการดูแลผู้ป่วยและบริหารจัดการของร้านยา เช่น e-prescription และ telepharmacy โดยในที่ประชุมมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อยุทธศาสตร์ดังกล่าวอย่างกว้างขวาง
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าวนี้ว่า ขณะนี้ในด้านหนึ่ง ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของระบบบริการด้านสุขภาพที่สำคัญ โดยหน่วยบริการปฐมภูมิ อาทิ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) คลินิกพยาบาล รวมทั้งร้านยา เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ดังนั้นในการดูแลสุขภาพด้านต่างๆ ให้ประชาชน ควรมองเป้าหมายของการพัฒนาในระดับพื้นที่ โดยต้องพิจารณาถึงกลไกการทำงานร่วมกัน ที่ทำให้หน่วยงานเหล่านี้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้ง
ไม่ทำงานทับซ้อนกัน ซึ่งแนวคิดเกี่ยวกับชุมชนในระดับของอำเภอที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาระบบสุขภาพที่ดี น่าจะเป็นศูนย์กลางที่ดีในการพัฒนา ซึ่งการพัฒนาโมเดลการบริการสุขภาพในระดับอำเภอเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และควรต้องใช้งานวิชาการไปสนับสนุน เพื่อหาข้อมูลเชิงประจักษ์และขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างมีทิศทาง
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ควรมองประเด็นเรื่องการเงินการคลัง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ เช่น กลไกการจ่ายเงิน เรื่องการยกเว้นภาษี ฯลฯ ที่ควรบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ เพื่อขับเคลื่อนทิศทางการพัฒนานโยบายร้านยาข้างหน้าต่อไป
ที่ประชุมมีการเสนอประเด็นการพัฒนาสำคัญต่างๆ อย่างหลากหลาย เช่น ควรมีเภสัชกรประจำครอบครัวที่มีการทำงานบนฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการส่งต่อข้อมูลในการดูแลรักษา ซึ่งหากมีงานวิจัยที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ชัดเจน ก็จะตอบโจทย์และขับเคลื่อนการทำงานเรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งควรมีการศึกษาวิจัยที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายรับยาที่ร้านยาในเขตกรุงเทพมหานคร ในเรื่องของการทำบทบาทส่งเสริมป้องกันให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพได้อย่างไร
นอกจากนั้น สวรส. มีการนำเสนองานวิจัย “การพัฒนาแนวทางการขยายเครือข่ายและนวัตกรรมบริการของร้านยาที่เข้าร่วมให้บริการสุขภาพปฐมภูมิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” โดยทีมวิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จากโจทย์ปัญหาสถานการณ์ที่ว่า ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการฯ ยังมีไม่มากพอต่อความครอบคลุมในการเข้าถึงของประชาชน ตลอดจนการแก้ปัญหาเรื่องการจัดการ ซึ่งงานวิจัยมุ่งตอบประเด็นของสาเหตุ
ที่ร้านยาเข้าสู่ระบบน้อย โดยได้นำเสนอรูปแบบการจัดซื้อยาเพื่อให้เกิดมาตรฐานราคาและคุณภาพยา การส่งเสริมการเข้าร่วมโครงการของร้านยาควบคู่กับการพิจารณาเกณฑ์ที่เหมาะสม ตลอดจนบทบาทของเภสัชกรและนวัตกรรมบริการ รวมถึงเครื่องมือที่จะช่วยให้เกิดการใช้ยาอย่างเหมาะสมที่อาจบรรจุไว้ในระบบบริการของร้านยาในอนาคต
ความคิดเห็นที่น่าสนใจต่องานวิจัยประเด็นหนึ่งคือ พฤติกรรมสุขภาพของประชาชนเปลี่ยนไปอย่างไร เมื่อมีการนำนโยบายรับยาที่ร้านยามาใช้ในชุมชน รวมทั้งการพัฒนาร้านยาให้เป็นสถานปฏิบัติการศูนย์สร้างเสริมสุขภาพที่มุ่งทำบทบาทให้คำแนะนำและบริการสร้างเสริมสุขภาพกับชุมชน
ทั้งนี้ ในช่วงเช้าโรงพยาบาลพระจอมเกล้า มีการให้ข้อมูลการดำเนินงานในโครงการร้านยาใกล้บ้านของโรงพยาบาลฯ โดยโรงพยาบาลมีการส่งมอบยาโดยเภสัชกรโรงพยาบาล รวมทั้งการจัดส่งผ่าน health rider และทางไปรษณีย์ รวมถึงมีการดูแลโดยเภสัชกรผ่านระบบ telepharmacy ที่การบริการเน้นความปลอดภัยของผู้ป่วย คำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายของรัฐ โดยกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการเป็นกลุ่มผู้ป่วยเรื้องรัง กลุ่มรับยาเดิม หรือมียาเหลือพอที่จะรอรับยาที่บ้านได้ โดยโรงพยาบาลมีเป้าหมายในการขยายการพัฒนาร้านยาสู่โมเดล 3 ที่คำนึงถึงมาตรฐานราคาหรือคุณภาพยา รวมทั้งมีที่ตั้งสะดวกและไม่เป็นภาระค่าใช้จ่าย
สุดท้ายในช่วงบ่าย คณะกรรมการฯ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานร้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2 ร้านที่น่าสนใจในจังหวัดเพชรบุรีได้แก่ ร้านยุพินคลินิกการพยาบาลและผดุงครรภ์, ร้านเฮือนยา ภญ.สีรุ้ง รวมทั้งคณะกรรมการฯ ได้ร่วมศึกษาการเชื่อมต่อข้อมูลตามโครงการบัตรประชาชนใบเดียว หนึ่งใน Quick Win นโยบายสาธารณสุขของรัฐบาล ณ โรงพยาบาลพระจอมเกล้า ซึ่งเป็น 1 ใน 4 จังหวัดพื้นที่นำร่องในโครงการดังกล่าว โดยคณะกรรมการฯ ได้เปิดเวทีรับข้อเสนอ ตลอดจนปัญหาต่างๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาบนฐานการใช้ความรู้จากการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ด้วย