ปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพทั้งทางตรงและทางอ้อมหรือเรียกว่าเป็นปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (social determinants of health) เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมที่บุคคลเกิด เติบโต ทำงาน ดำรงชีวิต ไปจนถึงระบบหรือโครงสร้างของสังคม เช่น รายได้, การเมือง, สังคม, วัฒนธรรม, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ ที่กำหนดเงื่อนไขในชีวิตประจำวัน ซึ่งนโยบายและการวางแผนพัฒนาระบบสุขภาพ จึงต้องคำนึงถึงปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพดังกล่าวได้อย่างครอบคลุม เพื่อสามารถเตรียมการรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้น หรือป้องกันความเสี่ยงจากผลกระทบของปัญหาที่รุนแรงให้ลดน้อยลง ตลอดจนสามารถวางแผนบริหารจัดการในปัจจุบันให้เกิดประสิทธิภาพได้มากที่สุด
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงร่วมกับทีมวิจัยจากมูลนิธิภิวัฒน์สาธารณสุขไทย ศึกษาวิจัย “ฉากทัศน์อนาคตระบบสุขภาพไทยใน 10 ปีข้างหน้า” เพื่อศึกษาสถานการณ์และแนวโน้มของปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อระบบสุขภาพของประเทศไทย (พ.ศ. 2566-2575) และศึกษาฉากทัศน์ความเป็นไปได้ของระบบสุขภาพไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า ตลอดจนการสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบายด้านระบบสุขภาพที่เหมาะสมตามบริบทของประเทศไทย และรองรับแนวโน้มระบบสุขภาพที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างภาพฉากทัศน์อนาคตระบบสุขภาพไทยใน 10 ปีข้างหน้า จากการระดมความคิดเห็นของทุกภาคส่วน ทั้งจากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อาทิ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กรุงเทพมหานคร สำนักส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ทันตแพทยสภา สภาเภสัชกรรม สภากายภาพบำบัด สภาการพยาบาล สมาคมการค้าเฮลท์เทคไทย สำนักงานสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล บริษัท AIA สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) บมจ.ธนาคารกสิกรไทย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) องค์การเภสัชกรรม สถาบันพระปกเกล้า ฯลฯ รวมจำนวน 60 คน เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2566 ณ ห้องประชุมสานใจ 1/1 ชั้น 6 อาคารสุขภาพแห่งชาติ
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวช่วงเปิดการประชุมว่า “ถ้าคุณเป็นนักกลยุทธ์ที่ดี คุณต้องมีข้อมูลในการวิเคราะห์สิ่งที่ผ่านมา ถ้าคุณเป็นนักกลยุทธ์ที่ยอดเยี่ยม คุณจะรู้ว่าคุณจะทำอะไรในสถานการณ์ข้างหน้า” การสร้างภาพฉากทัศน์ระบบสุขภาพของประเทศในช่วงเวลาข้างหน้า การใส่ intervention อะไรเข้าไป ซึ่งอาจไม่ใช่ทางเลือกเพียงทางเดียวด้วยนั้น ไม่สามารถจะได้ผลในวันนี้พรุ่งนี้ ฉะนั้นการที่เรายิ่งรู้เร็วเท่าไหร่ว่าประเทศจะเป็นอย่างไร จึงมีความจำเป็นอย่างมาก แต่ขณะที่โลกก็มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมากเช่นกัน รวมถึงเรื่องระบบสุขภาพ ซึ่งเราเคยทำการพยากรณ์ (forecasting) มาเยอะมาก ที่เราได้หลักฐานเชิงวิชาการบางอย่างมา ร่วมกับประสบการณ์และภูมิปัญญาที่สามารถนำมาช่วยวาดให้เกิดภาพที่ใกล้เคียงได้ โดยเราน่าที่จะนำข้อมูลจริงขณะนี้มาทาบดู ว่าเราใช้ข้อมูลอะไรไป มีตัวแปรอย่างไร ตัวไหนแม่นยำ และตัวไหนต้องปรับปรุง ตัวอย่างเช่นที่ผ่านมาแผนโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ ที่ทำมาทุก 3 ปี ก็ไม่สามารถรองรับเวลาเกิด Pandemic ของ COVID-19 หรือธรรมนูญสุขภาพ ฉบับที่ 3 ที่เราพยายามมองไปข้างหน้า เพื่อสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพที่มีความสลับซับซ้อนมากพอสมควร หลายเรื่องเชื่อมโยงและมีผลต่อกัน ปัจจัยต่างๆ เหล่านั้นมีความสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการวางฉากทัศน์ของอนาคตในครั้งนี้ด้วย
“นอกจากนั้นเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างมากในปัจจุบัน เราอยู่ในยุคจีเนติค ซึ่งมีผลต่อการกำหนดตัวตนเราถึง 25-30%, โรคหายากบางโรคที่เจอเพียง 1 ในแสนคน แต่เทคโนโลยีจีโนมิกส์ก็สามารถหาได้ ขณะเดียวกันเทคโนโลยีนี้ก็มีราคาสูงมาก มีเพียงคนจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งทำให้ความเป็นธรรมในสังคมยิ่งถ่างกว้างออกไปอีก ดังนั้นแม้ว่าเทคโนโลยีจะก้าวหน้าไป แต่ความเป็นธรรมของการเข้าถึงต้องเดินคู่ขนานไปด้วย และทุกวันนี้รัฐบาลเริ่มให้ความสำคัญกับหลักฐานเชิงประจักษ์มากขึ้น เพราะคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งนั่นนับเป็นโอกาส หากเรามีข้อมูลที่ดีบนหลักฐานที่ชัดเจน ผู้กำหนดนโยบายย่อมเห็นความสำคัญและน่าจะซื้อแนวคิดไปดำเนินการให้เกิดรูปธรรมได้จริง”
นพ.ศุภกิจ กล่าว
ดร.นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความสำคัญของข้อมูลจากกระบวนการในครั้งนี้ว่า ข้อมูลจากการระดมความคิดเห็นในการประชุมครั้งนี้ จะเป็นข้อมูลสำคัญที่จะถูกนำเสนอหรือนำไปใช้ประโยชน์ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ (ซูเปอร์บอร์ดสุขภาพ) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รวมทั้งการประชุมนโยบายอื่นๆ โดยเรื่องนี้มีความสำคัญในการเป็นข้อมูลนำเข้าเพื่อการจัดทำนโยบาย ซึ่งมีการนำข้อมูลยุทธศาสตร์ชาติ ข้อมูลสถานการณ์ของประเทศไทยเปรียบเทียบกับสถานการณ์โลกว่า ณ ขณะนี้เราอยู่ตรงไหนของโลก ผลสำรวจสุขภาพประชาชนไทย นโยบายการเมืองด้านสาธารณสุข ร่วมกับข้อมูลในวันนี้ “ฉากทัศน์ระบบสุขภาพไทยในอนาคตข้างหน้า” มาประกอบ เพื่อการวางแนวทางการเตรียมพร้อมรองรับสิ่งต่างๆ ที่รอบด้านมากยิ่งขึ้น
นพ.โสภณ เมฆธน อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข เสริมข้อมูลสำคัญประกอบการสร้างภาพฉากทัศน์อนาคตระบบสุขภาพด้วยข้อมูลแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลก (Mega Trend) อาทิ พลังอำนาจที่เปลี่ยนไป โลกตะวันออกจะมีอิทธิพลในการเมืองโลกมากขึ้น การเกิดสงคราม การกีดกันทางการค้า, โครงสร้างประชากร คนมีอายุยืนมากขึ้น สังคมผู้สูงอายุ เด็กเกิดน้อย, การเปลี่ยนแปลงของสังคม คนส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตแบบปัจเจกบุคคลมากขึ้น เกิดช่องว่างของแต่ละช่วงวัย มีความแตกต่างทางความคิด เชื้อชาติ วัฒนธรรม อุดมการณ์เพิ่มขึ้น, เทคโนโลยี จะเข้ามามีผลกับระบบสุขภาพ อาหารสุขภาพที่มีพื้นฐานมาจากพืช การแพทย์แม่นยำ การขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ทำให้คนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมือง การพัฒนาระบบสาธารณสุขเขตเมือง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของเมือง ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและรายได้, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โลกร้อน ภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง โดยที่ความเสี่ยงระดับโลกจัดให้เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความเสี่ยงในระยะยาว (10 ปี) ในลำดับต้นๆ รองลงมาเป็นเรื่องของการเคลื่อนย้ายประชากร แรงงานข้ามชาติ การปรับตัวต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์ ฯลฯ
ทั้งนี้กรอบเเนวคิดงานวิจัยฯ ที่จะนำไปสู่การสร้างภาพฉากทัศน์อนาคตระบบสุขภาพใน 10 ปีข้างหน้าคือ การวิเคราะห์ถึงแนวโน้มทิศทางการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ ทั้งระดับประเทศและระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพ ตามหลัก PESTEL ได้แก่ การเมือง (Politic: P) เศรษฐกิจ (Economy: E) สังคม (Society: S) เทคโนโลยี (Technology: T) สิ่งแวดล้อม (Environment: E) กฎหมาย (Law: L) โดยคำนึงถึงปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ ได้แก่ 1) ปัจจัยเชิงโครงสร้าง ซึ่งเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ตำแหน่งและสถานภาพทางเศรษฐกิจ สังคมของบุคคล 2) ปัจจัยตัวกลาง/ปัจจัยส่งผ่านสุขภาพ เช่น สภาพความเป็นอยู่ สภาพจิตใจ พฤติกรรม ระบบบริการสุขภาพ ทั้งนี้แนวโน้มการดูแลสุขภาพในอนาคต เช่น มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการประมวลผลมากขึ้น คนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมือง มีปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่น การดูแลสุขภาพเน้นการป้องกันเพื่อให้เกิดสุขภาพที่ดี ไม่เน้นเรื่องการรับบริการ/รักษาพยาบาล ผู้รับบริการมีส่วนร่วมในการรับบริการมากขึ้น ผู้ป่วยมารับบริการน้อยลง มี AI เข้ามาช่วยมากขึ้น ฯลฯ ส่วนด้านผลลัพธ์สุขภาพเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศ OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและพัฒนา) พบประเด็นที่ประเทศไทยต้องแก้ไขหรือพัฒนาเพิ่มเติม เช่น การสูบบุหรี่ของคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปยังพบอัตราที่สูง, การบริโภคผักของคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปยังมีปริมาณที่น้อย, ภาระโรคที่เกิดจากวัณโรคยังพบสูง, คนไทยอายุ 65 ปีขึ้นไปได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ยังไม่ครอบคลุม, รายจ่ายด้านสุขภาพต่อหัวประชากรไทยยังได้น้อย ฯลฯ รวมถึงในอนาคตหลายเหตุการณ์อาจไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลแบบตรงไปตรงมา หรืออาจไม่ได้มีตรรกะที่เข้าใจได้ชัดเจน ซึ่งจากการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญ พบปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนสูงและมีผลกระทบต่อระบบสุขภาพ อาทิ ความผันผวนทางเศรษฐกิจ โรคระบาดใหญ่ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและวิถีชีวิต การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ฯลฯ โดยในเวทีระดมความคิดเห็นฯ ครั้งนี้ ได้เลือก 2 เรื่องสำคัญ 1) การเกิดโรคระบาดใหญ่ 2) ความผันผวนทางเศรษฐกิจ มาเป็นประเด็นแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเห็นเพื่อร่วมกันสร้างภาพฉากทัศน์อนาคตระบบสุขภาพไทยใน 10 ปีข้างหน้า รวมถึงจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายให้กับผู้กำหนดนโยบายต่อไป
ทั้งนี้ผลจากการระดมความคิดเห็น มีข้อมูลเบื้องต้นของภาพฉากทัศน์อนาคตที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์ปัจจุบันคือ เศรษฐกิจมีความผันผวน แต่ไม่ได้เกิดโรคระบาดใหญ่ ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ ระบบสุขภาพยังอยู่ในภาวะปกติที่จัดการได้ แต่ภาคเศรษฐกิจอาจเกิดภาพ 3 ตก 1.งานตก คนตกงาน 2.จิตตก คนมีปัญหาทางด้านสุขภาพจิต 3.เงินของรัฐตก เก็บภาษีได้น้อยลง ซึ่งทั้ง 3 ตก ส่งผลให้คนทำงานที่เคยอยู่ในระบบประกันสังคมเปลี่ยนไปอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) มากขึ้นทุกช่วงวัย โดยเฉพาะผู้ป่วยด้านสุขภาพจิต ส่งผลให้ผู้รับบริการในระบบสุขภาพมากขึ้น ความยั่งยืนทางด้านการเงินการคลังของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในอีก 10 ปีข้างหน้าจึงมีความน่าเป็นห่วง และเมื่อเงินของภาครัฐน้อยลง คนที่สามารถเข้าถึงบริการได้ จะเป็นคนบางกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ทำให้นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางด้านสุขภาพมากขึ้น ส่วนในมิติต่างๆ ควรมีการปรับตัวเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา เช่น ด้านการเมืองในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจมีความผันผวน รัฐมีเงินน้อยลง การทำนโยบายประชานิยมไม่ควรเกิดขึ้นหรือมีความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น ด้านเศรษฐกิจ ควรส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นจากต่างประเทศและเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น และเมื่อเชื่อมโยงภาพเศรษฐกิจผันผวนกับมิติอื่นๆ ทำให้เห็นว่าหลักคิดพื้นฐาน “เศรษฐกิจพอเพียง” น่าจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันและทำให้ประคองเศรษฐกิจให้มีความยั่งยืนได้ สำหรับด้านระบบสุขภาพอาจต้องมีการประกันสุขภาพแบบร่วมจ่ายมากขึ้น นอกจากนี้ควรนำ big data มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการวิเคราะห์หากลุ่มเสี่ยงต่างๆ เพื่อการป้องกันก่อนเกิดเหตุ, ควรนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์และเกิดการพึ่งตนเอง โดยมีชุมชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น, ด้านสิ่งแวดล้อม ควรมีกฎหมายควบคุมสิ่งแวดล้อม มีกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เป็นต้น
ด้าน ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า การมองภาพอนาคต (Foresight) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการคาดการณ์และสร้างภาพอนาคตที่มีโอกาสเกิดขึ้นในระยะกลางและระยะยาว เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการออกแบบนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉมฉับพลัน (Disruptive Changes) สวรส. จึงสนับสนุนให้มีการศึกษาฉากทัศน์อนาคตระบบสุขภาพไทยในปี 2566 โดยวิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยที่ส่งผลต่อระบบสุขภาพในอีก 10 ปีข้างหน้าอย่างรอบด้าน ซึ่งเชื่อว่าข้อมูลเชิงประจักษ์และข้อเสนอเชิงนโยบายจากงานวิจัยดังกล่าว สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการพิจารณาวางแผนพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศและการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ด้านต่างๆ อย่างเป็นระบบและทันท่วงทีมากขึ้น
................................
ข้อมูลจาก
- โครงการวิจัยฉากทัศน์อนาคตระบบสุขภาพไทยใน 10 ปีข้างหน้า, สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข
- การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างภาพฉากทัศน์อนาคตระบบสุขภาพไทยใน 10 ปีข้างหน้า วันที่ 9 ต.ค. 2566 ณ ห้องประชุมสานใจ 1/1 ชั้น 6 อาคารสุขภาพแห่งชาติ